- บทความ | ธนวิชญ์ ทิพย์ทอง
ถ่ายภาพ | สิมิลัน สถาวร
จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 แล้ว! กับกิจกรรมรวมพลคน KidBright 2021 ซึ่งครั้งนี้จัดขึ้นในธีม Data Science with KidBright ภายในงานนอกจากจะมีไฮไลต์สำคัญเป็นการเปิดตัว Open Source KidBright AI Platform และ Open Data เป็นการเปิดตัว UtuNoi PLAYGROUND เว็บแอปพลิเคชันที่ส่งเสริมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ข้อมูล บนพื้นฐานของข้อมูลอุตุนิยมวิทยาแล้ว ทุกท่านยังได้ร่วมกันส่งแรงใจเชียร์การแข่งขัน KidBright AI Bot Tournament ด้วยภาษาถิ่นอีกด้วย
กิจรรมในครั้งนี้พิเศษกว่าครั้งที่ผ่านมา ด้วยสถานการณ์แพร่ระบาดของCOVID-19 จึงจำเป็นต้องจำกัดจำนวนการเข้าร่วมของผู้เข้าร่วมกิจกรรม และปรับสู่รูปแบบออนไลน์ อย่างไรก็ตามบรรยากาศภายในงานยังคงความคึกคัก และสนุกสนานอยู่เช่นเดิม ด้วยกองเชียร์สุดน่ารักจากทุกโรงเรียนที่เข้าแข่งขัน ได้ร่วมส่งเสียงเชียร์และให้กำลังใจผ่านระบบ Zoom การแข่งขันครั้งนี้มีผู้สมัครเข้าร่วมการแข่งขันทั้งหมด 95 ทีมจากทั่วประเทศ คัดเหลือ 40 ทีม เพื่อพัฒนาโมเดลและส่งผลงานเข้ามาให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทางด้าน AI ตัดสิน จนคัดเหลือ 8 ทีมสุดท้าย เป็นตัวแทนภูมิภาค มาร่วมแข่งขันในวันนี้
ผู้เข้าแข่งขันทั้ง 8 ทีมสุดท้ายจาก 4 ภาคทั่วประเทศไทย แข่งขันด้วยการบังคับรถที่ติดตั้งระบบ AI ไว้ภายใน ไม่มีคันบังคับใด ๆ ใช้ได้เพียงเสียงสั่งการเท่านั้น แต่การสั่งการครั้งนี้เป็นการทดสอบศักยภาพของระบบ AI อีกเช่นกัน ไม่ใช่เพียงแค่เป็นภาษากลางแต่เป็นภาษาถิ่นของแต่ละภูมิภาคในไทย เพื่อชิงเงินรางวัลกว่า 300,000 บาท เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี
การแข่งขัน KidBright AI Bot Tournament ด้วยภาษาถิ่น จะน่าสนุกและน่าตื่นเต้นอย่างไร เรามีภาพบรรยากาศมาฝากครับ
การแข่งขันในรอบ Online โดยคณะกรรมการผู้ชำนาญการคัดเหลือ 10 ทีมในรอบที่ 1 และเหลือ 8 ทีมสุดท้าย ในรอบที่ 2 เป็นตัวแทนภาคละ 2 ทีม มาเข้าแข่งขันในงานฯ นี้ ประกอบด้วย
- ทีมภาคเหนือ ได้แก่ โรงเรียนบ้านแซวพิทยาคม จังหวัดเชียงราย และโรงเรียนเขาทองพิทยาคม จังหวัดนครสวรรค์
- ทีมภาคกลาง ได้แก่ โรงเรียนธัญรัตน์ จังหวัดปทุมธานี และโรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ 2 จังหวัดฉะเชิงเทรา
- ทีมภาคใต้ ได้แก่ โรงเรียนแสงทองวิทยา จังหวัดสงขลา และโรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช
- ทีมภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้แก่ โรงเรียนเกษตรสมบูรณ์วิทยาคม จังหวัดชัยภูมิ และโรงเรียนเพ็ญพิทยาคม จังหวัดอุดรธานี
เมื่อเสียงสัญญาณประกาศเข้าประจำที่ …
ทุกทีมต่างขยันขันแข็งในการเตรียมตัวเริ่มการแข่งขัน… ทุกทีมต่างมีสมาธิประชันกันด้วยภาษาถิ่นของตัวเอง เพื่อควบคุมให้ AI Bot ของทีมทำตามคำสั่งเสียง ซึ่งภายในบรรยากาศงานเต็มไปด้วย ความน่ารักของภาษาถิ่นที่มีความหลากหลาย เช่น
- ทีมจากภาคเหนืออู้กำเมืองเจ้า เมื่อเฮาเลี้ยวซ้ายกะขวาก็จะอู้ว่า “เลิ้วซ้าย” และ “เลิ้วขวา”
- ทีมจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรืออีสานบ้านเฮากันนี่แหละ ชาวอีสานจะควบคุม AI bot ให้ไปทางขวา จะสั่งว่า “ฮั้วะ” หากควบคุมให้ไปทางซ้าย จะสั่งว่า “ฮั้วะซ้าย” แต่ที่น่าสนใจยิ่งกว่า คือ คำสั่ง “ย่างหน่า” ที่หมายถึงไปข้างหน้า ทุกครั้งที่สั่งการคำสั่งนี้ AI bot จะเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างช้า ๆ
- ภาคใต้ ชาวภาคใต้จะมีลักษณะคำสั่งเสียงที่ กระชับ ชัดเจน ทำให้บรรยากาศภายในงานสนุกสนาน ครึกครื้นอย่างมาก
การแข่งขันดำเนินไปอย่างดุเดือด ทั้งผู้เข้าแข่งขัน และคณะกรรมการต่างใจจดใจจ่อกับการแข่งขันที่เข้มข้น เมื่อ AI Bot ของแต่ละทีมบ้างก็หยุดชะงัก บ้างก็ประมวลคำสั่งไม่ได้ บ้างก็ทำเกินกว่าคำสั่งที่ได้รับจนพุ่งชนสิ่งกีดขว้าง บ้างก็ไม่สามารถออกตัวได้ตั้งแต่จุดเริ่มต้น ผู้ชมในการแข่งขันก็มีอารมณ์ร่วมอยากจะออกเสียงเชียร์ แต่ต้องรักษาความสงบไว้เพื่อสมาธิของผู้เข้าแข่งขัน
ถึงแม้ในการแข่งขันต้องรักษาความเงียบเพื่อให้ AI Bot ทำงานตามคำสั่งภาษาถิ่นได้อย่างราบรื่น แต่ก็ไม่ได้ทำให้กำลังใจของผู้เข้าแข่งขันน้อยลงไปเลย ทั้งกำลังใจจากกองเชียร์ กว่า 245 โรงเรียนที่ติดตามการแข่งขันผ่านระบบ Zoom ได้จัดโชว์สุดพิเศษราวกับรอต้อนรับชัยชนะอย่างยิ่งใหญ่ ทั้งกำลังใจที่ผ่านกล่องข้อความจากทุกช่องทางการถ่ายทอดสดการแข่งขัน
สัญญาณธงขาวโบกสะบัด เมื่อสิ้นสุดการแข่งขัน
จบลงเป็นที่เรียบร้อย สำหรับการแข่งขัน KidBright AI Bot Tournament ด้วยภาษาถิ่น เป็นการแข่งขันที่สูสีเป็นอย่างมาก และขอแสดงความยินดีกับผู้ชนะเลิศในครั้งนี้คือ ตัวแทนจากทีมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โรงเรียนเกษตรสมบูรณ์ จังหวัดชัยภูมิ ได้รับเงินรางวัล 150,000 บาท ไปครอบครอง
ลำดับต่อมารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ตัวแทนจากทีมภาคใต้ โรงเรียนแสงทองวิทยา จังหวัดสงขลา คว้ารางวัล 100,000 บาท
สำหรับรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ได้แก่ ตัวแทนจากทีมภาคกลาง โรงเรียนธัญรัตน์ จังหวัดปทุมธานี คว้าเงินรางวัล 50,000 บาท
และรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 3 ได้แก่ ตัวแทนจากทีมภาคเหนือ โรงเรียนบ้านแซวพิทยาคม จังหวัดเชียงราย
การแข่งขันในครั้งนี้ทำให้เห็นถึงศักยภาพของเด็กไทยในแขนงต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสามารถทางด้านเทคโนโลยีและอิเล็กทรอนิกส์ ทักษะในการโค้ดดิ้งโปรแกรม รวมไปถึงการแก้ไขเฉพาะหน้า และ น้ำใจนักกีฬา เนคเทค-สวทช.หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการเรียนรู้ด้านปัญญาประดิษฐ์ผ่านการแข่งขันที่สนุกสนานในครั้งนี้จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ในระดับลึกมากขึ้นและสามารถนำประสบการณ์ที่ได้รับจากสนามการแข่งขันนี้ไปพัฒนานวัตกรรมที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์และสร้างสรรค์ผลงานสู่อนาคต
แล้วพบกันใหม่สำหรับมหกรรมรวมพลคน KidBright ในปีต่อ ๆ ไป และ 2-4 เมษายนนี้ เตรียมพบกับกิจกรรมสุดท้าทาย “การแข่งขัน IoT Hackathon 2021 Gen R” ที่มือวางอันดับหนึ่งจากแต่ละสถาบันจะมาประชันฝีมือกันอย่างเข้มข้น!!!