เนคเทค สวทช. ร่วมขับเคลื่อนการใช้ระบบ e-Document แก่หน่วยงานราชการ เดินหน้าสู่รัฐบาลดิจิทัล

Facebook
Twitter

บทความ | ศิริพร ปานสวัสดิ์

7 หน่วยงานพันธมิตรภาครัฐ ร่วมขับเคลื่อนการใช้ระบบ e-Document แก่หน่วยงานราชการไทย
ให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ พร้อมเดินหน้าสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลเต็มรูปแบบ

เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2565 ณ โรงแรม เดอะสุโกศล กรุงเทพ สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “อีกก้าวสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลด้วยระบบ e-Document” ร่วมด้วยพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ ระหว่าง 7 หน่วยงานภาครัฐเพื่อการขับเคลื่อนการใช้ระบu e-Document แก่หน่วยงานราชการ และการเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ แนะนำตัวอย่างการใช้งานจากหน่วยงานนำร่อง เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการใช้ระบบ e-Document ในหน่วยงานภาครัฐ มุ่งผลักดันให้ภาครัฐของประเทศไทยก้าวสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลได้อย่างรวดเร็ว เกิดความโปร่งใสในการปฏิบัติราชการ อันจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติอย่างแท้จริง โดยมีนายวิษณุ เครืองาม (รองนายกรัฐมนตรี) เป็นประธาน พร้อมแสดงปาฐกถาพิเศษ ภายในงานมีผู้บริหาร ผู้แทนจากหน่วยงานส่วนราชการเข้าร่วมงานกว่า 280 คน

นายวิษณุ เครืองาม (รองนายกรัฐมนตรี) กล่าวถึงการขับเคลื่อนการใช้ระบu e-Document แก่หน่วยงานราชการ ถือเป็นการดำเนินงานที่สอดคล้องกับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ และ (ร่าง) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 – 2570) ที่กำหนดให้มีการนำดิจิทัลเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารประเทศ ให้บริการประชาชน และการพัฒนาระบบราชการให้ได้ผลเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้อุปสรรคที่ยิ่งใหญ่ของระบบ e-Document ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของรัฐบาลดิจิทัล คือ กรอบความคิด (Mindset) ของผู้ปฏิบัติราชการที่ต้องมีใจกว้าง เตรียมพร้อมที่จะรับความเปลี่ยนแปลง เพราะเรื่องการปฏิรูปคือความเปลี่ยนแปลงจากสิ่งที่เราเคยชิน เคยทำมาเป็นเวลานานมาสู่สิ่งใหม่ และไม่ใช่แค่เพียงเปลี่ยนแปลงได้เฉพาะบางหน่วยงานเท่านั้น จึงถึงเวลาแล้วที่ทุกหน่วยงานภาครัฐจะลุกขึ้นมาทำพร้อมกันทั้งประเทศ เพื่อทำให้ระบบสนับสนุนต่าง ๆ สามารถเดินหน้าไปได้ ด้วยการตระหนักถึงในคุณประโยชน์ของระบบ e-Document หรือระบบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ที่มีข้อดี อาทิ ลดการใช้ทรัพยากร การใช้กระดาษ หมึกพิมพ์ ที่จะช่วยประหยัดงบประมาณ, ลดปัญหาการทำงานที่ล่าช้า หรือผิดพลาด, การเข้าถึงเอกสาร การตรวจสอบ ค้นหา เรียกหาเอกสาร เชื่อมโยงข้อมูลทำได้ง่าย, ความปลอดภัย การรักษาความลับของเอกสาร ลดความเสี่ยงการชำรุด สูญหายของเอกสาร สร้างความมั่นคงในการรักษาเอกสาร ที่จัดเก็บไว้อย่างเป็นระบบ และยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารของหน่วยงาน ทำได้ได้ทุกที่ทุกเวลา สามารถจัดทำ จัดส่ง ลงนามเอกสารเหล่านั้นได้อย่างสะดวก การทำงานภายในหน่วยงาน การติดต่อระหว่างหน่วยงาน และการให้บริการแก่ประชาชนก็จะดำเนินต่อไปด้วยความเรียบร้อยสมบูรณ์แบบ

ดังนั้น เพื่อให้การประสานความร่วมมือของหน่วยงานนำร่องที่จะมีส่วนสำคัญในการดำเนินงานเสริมศักยภาพของหน่วยงานภาครัฐไปสู่การพัฒนารัฐบาลดิจิทัล จึงได้จัดพิธีลงนามในบันทึกความร่วมมือ “การขับเคลื่อนการใช้ระบu e-Document แก่หน่วยงานราชการ”  ระหว่าง 7 หน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (สพร.) สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ โดย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (ศอ.พว.) เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปฏิบัติราชการภาครัฐด้วยระบบ e-Document มาใช้ในหน่วยงานราชการอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน และกรมบัญชีกลาง ร่วมให้ความชัดเจนเพื่อยืนยัน สร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงานให้ทำงานผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์มากยิ่งขึ้น เช่น การตรวจสอบจัดซื้อจัดจ้าง การเงินการคลัง การบริหารพัสดุ รวมไปถึงการตรวจสอบงบประมาณ ซึ่งนอกจากจะเป็นไปตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องแล้ว ยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพแก่ทั้งหน่วยงานตรวจสอบและหน่วยงานรับการตรวจสอบได้อีกด้วย

ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการ เนคเทค สวทช. ได้กล่าวในพิธีลงนามความร่วมมือฯ ว่า เนคเทค สวทช. พร้อมเป็นที่ปรึกษา สนับสนุนการใช้งานระบบ e-Document แก่หน่วยราชการ ในฐานะหน่วยงานนำร่องทดลองทำงานด้านการบริหารงานด้วยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ มายาวนานกว่า 10 ปี ซึ่งทำให้การพัฒนาระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ (e-Document) ระบบบริหารการประชุม (e-Meeting) และระบบอื่นๆ ถูกนำไปต่อยอดขยายผลสู่การให้บริการในรูปแบบบริษัท Start up ที่มีชื่อว่า บริษัท ดีโซลูชั่น ภายใต้บริษัท อินเทอร์เน็ตประเทศไทย จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่ปี 2561 เพื่อให้ทุกหน่วยงานภาครัฐสามารถใช้บริการเหล่านี้ได้อย่างทั่วถึง มีคุณภาพ ตอบโจทย์การใช้งาน ในราคาที่ย่อมเยาว์ เพราะมาจากหน่วยงานภาครัฐด้วยกัน และเป็นเทคโนโลยีของคนไทย ทั้งนี้ การริเริ่มผลักดันรัฐบาลดิจิทัลด้วยการขับเคลื่อนใช้งานระบบ e-Document ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่จะเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการแก่ประชาชน และหากมองไปถึงระบบอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นจากการใช้เอกสารอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Document ที่เนคเทคกำลังพัฒนาส่วนประกอบต่าง ๆ เพื่อเดินหน้าต่อไปในอนาคต เช่น Open-D ซอฟต์แวร์แบบเปิดที่เข้ามาช่วยสนับสนุนการจัดการคลังข้อมูลขนาดใหญ่ของภาครัฐ  (Big Data) ให้จัดเก็บอย่างเป็นระบบ เป็นไปตามนโยบายธรรมาภิบาลข้อมูล (Data Governance) และสอดคล้องกับ PDPA รวมถึงการเตรียมแพลตฟอร์ม AI for Thai ที่ได้รับการสนับสนุนจาก GDCC กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่จะเป็นพื้นฐานให้บริการ AI ในการจัดการเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ได้อีกมากมาย เช่น การจัดการข้อความภาษาไทย การแปลงข้อความเป็นเสียงพูด แปลงเสียงพูดเป็นข้อความ บริการ Chat Bot เป็นต้น

และภายในงานดังกล่าว คุณรัชนิกร คำทิพย์ ผู้อำนวยการ บริษัท ดีโซลูชั่น ดอท คอม จำกัด (D-Solution) และคุณภาสวร เหล่าวาณิชวัฒนา รองผู้อำนวยการฯ ทีมผู้พัฒนาระบบจากเนคเทค สวทช. ในนามบริษัท Start up ที่ในปัจจุบันมีหน่วยงานภาครัฐใช้บริการระบบเทคโนโลยีสารสนเทศในการบริหารมากกว่า 40 หน่วยงาน ได้ร่วมแนะนำระบบสารบรรณดิจิทัล ที่เรียกว่า dSARABAN ซึ่งเป็นระบบให้บริการส่งหนังสือ จัดเก็บเอกสาร เพื่อส่งต่อ สั่งการ และลงนามในเอกสาร/ หนังสือราชการ ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยให้บริการในรูปแบบซอฟต์แวร์ใช้งาน (Software as a Service) รองรับตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยงานสารบรรณ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2564 บน Cloud Service ตั้งอยู่บนศูนย์ข้อมูลที่อยู่ในประเทศไทย หรือสามารถนำไปติดตั้งที่ Cloud Service ของหน่วยงานได้  

  • เหมาะสำหรับหน่วยงานทั้งขนาดเล็ก และขนาดใหญ่ ใช้งานแบบรวมศูนย์และการใช้งานร่วมกับหน่วยงานสาขาย่อยต่างจังหวัดหรือสาขาภาค เพื่อใช้ระบบเดียวกัน รองรับการใช้งานได้มากกว่า 200,000 Transactions ต่อวัน
  • เจ้าหน้าที่สารบรรณสามารถทำงานได้ทุกที่ ทุกเวลา ทุกอุปกรณ์ไม่ว่าจะบนคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์เคลื่อนที่ เช่นเดียวกับผู้บริหารที่สามารถลงนามเอกสารได้ทุกที่ ทุกเวลา  ทุกอุปกรณ์ ทั้งผ่าน Certificate Authority (CA) และการอนุมัติแบบอิเล็กทรอนิกส์
  • สามารถทำร่าง ทาน ตรวจ อนุมัติ แบบ e-Form โดยอัพโหลดเอกสาร ส่งตรวจ เสนอลงนาม และออกเลขเอกสารตามแบบฟอร์มระเบียบราชการของหน่วยงาน เสมือนการทำงานบนกระดาษ พร้อมเห็นผลลัพธ์แบบเรียลไทม์ และยังค้นหาเอกสารที่ดำเนินการแล้วผ่านระบบได้
  • มีตะกร้างานสำหรับผู้บริหารในการลงนามเอกสาร และการแจ้งเตือนทั้ง Email และ Line เมื่อมีงานมารออนุมัติ
  • ให้บริการแบบ Software as a Service ที่มีการดูแลพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทันสมัย มีความปลอดภัย พร้อมทีมงานผู้เชี่ยวชาญคอยให้บริการแก้ไขปัญหา ให้คำปรึกษา แนะนำตลอดการใช้งาน

ชมคลิปสาธิตการใช้งานระบบสารบรรณดิจิทัล (dSARABAN) ได้ที่ https://youtu.be/7OxqGkYWLUA