- บทความ | นัทธ์หทัย ทองนะ และ วลัยลักษณ์ คงพระจันทร์
- ภาพประกอบ | ศศิวิภา หาสุข และ ปวีณา ครุฑธาพันธ์
กลับมาอีกครั้ง แบบปังกว่าเดิม ! กับการแข่งขัน AI for All THAIs HACKATHON 2020 ในรูปแบบออนไลน์ ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์แบบ New Normal โดยผู้เข้าแข่งขันกว่า 50 ชีวิตจากทั่วประเทศออนไลน์สู่สนามแข่งขันประชันไอเดีย สร้างสรรค์ผลงานการต่อยอด API ของ AI for THAI ชิงรางวัลรวมมูลค่า 2 แสนบาท ภายใต้แนวคิด Driving Thailand into AI Nation ในระหว่างวันที่ 26-28 มิถุนายน 2563
เดิมการแข่งขันดังกล่าวกำหนดจัดขึ้นต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ให้การแข่งขันฯจำเป็นต้องเลื่อนออกไปด้วยคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้เข้าแข่งขันทุกคน อย่างไรก็ตามแม้สถานการณ์ปัจจุบันจะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น แต่ทีมผู้จัดไม่นิ่งนอนใจ ขอปรับรูปแบบการแข่งขันสู่มิติใหม่ แบบ New Normal สู่รูปแบบออนไลน์ของ AI for All THAIs HACKATHON 2020 ในครั้งนี้
- ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการเนคเทค กล่าวว่า “เมื่อประมาณปลายปีที่ผ่านมา เดือนกันยายน 2562 เนคเทค – สวทช. มีโอกาสเปิดบริการสาธารณะขนาดใหญ่ ชื่อว่า “AI for Thai” จากประสบการณ์ในการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่ยาวกว่า 20 ปีโดยนักวิจัยเนคเทค – สวทช.พร้อมตอบโจทย์ทางธุรกิจและภาคการศึกษา
นับตั้งแต่วันเปิดตัวจนถึงปัจจุบัน AI for Thai ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี โดยตัวเลขการใช้งานกว่า 5 ล้านครั้งต่อเดือน โดยเรามีแผนที่จะสนับสนุนให้ปัญญาประดิษฐ์เติบโตขึ้นในประเทศไทย ซึ่งหนึ่งในหมุดหมายที่สำคัญ คืองาน “AI for All THAIs HACKATHON 2020” ในวันนี้ โดยมีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์โดยคนไทยให้เกิดประโยชน์จริง อย่างที่ทราบกันดีกว่า Service บน AI for Thai มีมากมายสามารถนำไปรังสรรค์เป็นระบบประยุกต์ได้หลากหลาย เชื่อว่าน้อง ๆ ที่มีโอกาสเข้ามาร่วมการแข่งขันในครั้งนี้ จะมีไอเดียและความคิดสร้างสรรค์ที่จะนำ AI for Thai หรือ Service อื่น ๆ มารังสรรค์เป็นระบบประยุกต์ที่เป็นประโยชน์และสร้างสรรค์ได้ และจุดประสงค์ที่สำคัญอีกข้อหนึ่ง คือ การสร้างกลุ่มนักพัฒนาทางด้านปัญญาประดิษฐ์ในประเทศไทยให้เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยการแข่งขันในลักษณะ Hackathon จะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการพัฒนานักปัญญาประดิษฐ์ในประเทศไทย
- สุดท้ายนี้ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทางผู้จัดงานและผู้เข้าแข่งขันจะประสบความสำเร็จตามเป้าประสงค์ที่วางเอาไว้ในการเพิ่มนักพัฒนา รวมถึงการสร้างและสนับสนุนให้เกิดการใช้ปัญญาประดิษฐ์ในประเทศไทยในหลากหลายรูปแบบ เพื่อให้ประเทศไทยมีโอกาสก้าวเข้าสู่การพัฒนาโปรแกรมระดับสูง ดร.ชัย กล่าวทิ้งท้าย
โจทย์การแข่งขันสุดท้าทาย ภายใต้ระยะเวลา 38 ชั่วโมง
การแข่งขัน AI for All THAIs HACKATHON 2020 ในครั้งนี้มีผู้สนใจสมัครเข้าร่วมมากกว่า 150 คน ผ่านกระบวนการคัดเลือกโดยคณะกรรมการสู่ 52 คน ใน 21 ทีมทั่วประเทศ จากหลากหลายสาขาวิชา ทั้งครู อาจารย์ นิสิต นักศึกษา โปรแกรมเมอร์ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการเงิน และนักพัฒนาโปรแกรมอิสระ โดยผู้เข้าแข่งขันทุกคนจะทราบโจทย์การแข่งขันพร้อมกันอันน่าตื่นเต้นพร้อมกัน . . .
- ดร.เทพชัย ทรัพย์นิธิ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยปัญญาประดิษฐ์ (AINRG) เนคเทค-สวทช. กล่าวว่า
“ปัจจุบันมีการนำ API ของ AI for Thai ไปใช้งานมากกว่าหนึ่งล้านสองแสนครั้ง และหวังว่าในวันนี้ผู้เข้าแข่งขันทุกท่านจะได้ใช้ประโยชน์จาก AI for Thai และสร้าง API ใหม่ ๆ เพื่อนำมาวางไว้บน AI for Thai สู่การต่อยอดใช้งานต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด”
สำหรับการโจทย์แข่งขันครั้งนี้ ด้วยสถานการณ์ COVID-19 ที่ทำเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ทั่วโลก รวมถึงการเลื่อนการแข่งขันจากต้นปีเพื่อความปลอดภัยทำให้เราได้มาเจอกันในวันนี้ นำมาสู่โจทย์ของ AI for All THAIs HACKATHON 2020 คือ AI and Post COVID-19 ชีวิตหลัง COVID-19 จะเป็นอย่างไร”
โดยกติกาในการแข่งขัน AI for All THAIs HACKATHON 2020 ผู้เข้าแข่งขันจะต้องออนไลน์ผ่าน Zoom ตลอดระยะเวลา 38 ชั่วโมง และใช้ API ของ AI for Thai ในผลงานโดยสามารถประยุกต์ใช้แพลตฟอร์มอื่น ๆ ได้อย่างไม่จำกัด ทั้งนี้ทีมผู้จัดได้เตรียมช่วงเวลาให้คำปรึกษาโดยนักวิจัย เนคเทค- สวทช. สำหรับผู้เข้าแข่งขันแต่ละทีมด้วย
- นอกจากนี้ คุณศรินทร์ วัชรบุศราคำ หัวหน้าทีมวิจัยการประมวลผลและเข้าใจภาพ (IPU) กลุ่มวิจัยปัญญาประดิษฐ์ (AINRG) เนคเทค – สวทช. ได้แนะนำเครื่องมือที่สำคัญสำหรับการแข่งขันครั้งนี้
ไม่ว่าจะเป็นฐานข้อมูล Open D (Open Data Service Platform) แหล่งรวมชุดข้อมูลแบบเปิด (open dataset) โดยเนคเทค -สวทช. ที่สามารถแปลงเป็น API (Application Programming Interface) ชนิด RESTFul API โดยอัตโนมัติในหลากหลายหมวดหมู่ เช่น กฎหมาย การศึกษา คมนาคม ทรัพยากรธรรมชาติ วัฒนธรรม การท่องเที่ยว เป็นต้น หรือ ฐานข้อมูลเกี่ยวกับภาษา เช่น Kaggle – Datasets, blognone ไปจนถึงการประมวลผลและเทรนด์ข้อมูลจาก API ของ AI for Thai บน Google ผ่าน COLAB
และที่ขาดไม่ได้ คือ การแนะนำ API บน AI for Thai ที่ผู้เข้าแข่งขันจะต้องประยุกต์ใช้กับผลงาน โดยนักวิจัยเนคเทค – สวทช. ได้สั่งสมองค์ความรู้และประสบการณ์ด้านปัญหาประดิษฐ์สู่แพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์สัญชาติไทยที่เข้าใจความเป็นไทยได้ดีกว่าใคร ไม่ว่าจะเป็นภาษาและวัฒนธรรม ครอบคลุมทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ ภาษา (Language) รูปภาพ (Vision) และการสนทนา (Conversation)
เผยผลผู้ชนะ ! AI for All THAIs HACKATHON 2020
ตลอดระยะเวลา 38 ชั่วโมงของการแข่งขันที่เข้มข้นและท้าทาย สู่การนำเสนอผลงานสุดสร้างสรรค์ผ่านสายตาของคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 7 ท่าน ได้แก่
- ศ.ดร.ธนารักษ์ ธีระมั่นคง
จากสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร และสมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย - ผศ.ดร. สรณะ นุชอนงค์
จากสถาบันวิทย์สิริเมธี และสถาบันวิจัยปัญญาประดิษฐ์ ประเทศไทย - ดร.ชาญวิทย์ บุญช่วย
จากบริษัท SYNPES ประเทศไทย และ Bangkok AI - ดร.ทัดพงศ์ พงศ์ถาวรกมล
จากกสิกร บิซิเนสเทคโนโลยี กรุ๊ป - ดร.อลิสา คงทน
จากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ - ดร.เทพชัย ทรัพย์นิธิ
จากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ - ดร.อโณชา รักชาติเจริญ
จากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ
รวมถึงกองเชียร์ทั่วประเทศจากการถ่ายทอดสดบน Facebook Fanpage NECTEC โดยได้ประกาศผลผู้ชนะเสร็จสิ้นไปแล้วเมื่อวันที่ 28 มิถุนายนที่ผ่านมา ดังนี้
รางวัลชนะเลิศ | ทีม 16 Valiente
ชื่อผลงาน | เครื่องมือการวิเคราะห์การประชุมออนไลน์
มือขวา แอปพลิเคชันการวิเคราะห์บทสนทนาการประชุมออนไลน์ด้วยเสียง เพื่อความสะดวกในการสืบค้นและถามตอบข้อมูลประวัติการประชุม ไม่ว่าจะเป็น 1) สรุปใจความจากบทสนทนา โดยสรุปใจความของข้อมูลและประเด็นที่สำคัญที่เกิดขึ้นในการประชุม 2) วิเคราะห์วันนัดหมาย โดยสกัดข้อมูลวันที่และเหตุการณ์สำคัญที่มีการนัดหมายระหว่างการประชุม 3) ค้นหาคำจากเสียงพูด โดยค้นหาและแสดงผลข้อมูลเสียงต้นฉบับเพื่อใช้ในการสืบค้นและอ้างอิงจากการประชุม และ 4)จำแนกประเภทบทสนทนาที่สำคัญในการประชุม เพื่อช่วยในการสรุปข้อมูลเพิ่มเติมให้ดียิ่งขึ้น
โดยได้นำ API ใน AI for Thai ไปประยุกต์ใช้งานได้แก่ การประมวลผลภาษาไทย ( Basic NLP) การวิเคราะห์ความเห็น (Sentiment Analysis) การแปลงเสียงพูดเป็นข้อความ (Speech to text) ทั้งนี้ทีมยังได้นำ API คือ Word Segmentation และ Word Similarity ใน AI for Thai มาพัฒนาเพิ่มเติมสู่ การสรุปความ (Text Summarization) อีกด้วย
- รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 | ทีม 10 Lorem Dimsum
- ชื่อผลงาน TelePet
TelePet | Telemedicine for Pet Lovers เป็น Telemedicine สำหรับกลุ่มคนรักสัตว์เลี้ยง โดยใช้ AI Virtual Assistant ในการช่วยจดวิเคราะห์และสรุปประเด็นในทุก ๆ การรักษาระยะไกล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้อย่างรวดเร็ว โดยสัตวแพทย์สามารถเข้าทำการรักษาได้มากกว่า 1 ท่าน TelePet ประยุกต์ใช้ API จาก AI for Thai ได้แก่ แปลงเสียงเป็นข้อความ (Speech to Text) หรือ Partii ในการวิเคราะห์ รวมถึงปรับใช้ ThaiMoji เพื่อช่วยบอกอารมณ์ข้อความที่ถอดได้อย่างน่าสนใจ
- รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 | ทีม 14 T2C
- ชื่อผลงาน | URAI: สถาปัตยกรรมการถ่ายทอดเสียงภาษาไทยกลางและถิ่นแบบ Real-Time โดยอาศัย AI For Thai
ผลงานนี้ริเริ่มขึ้นเพื่อที่จะแก้ปัญหาการสื่อสาร โดยผู้สื่อข่าวจากส่วนกลางสามารถเขียนข่าวเป็นภาษาไทยกลางได้โดยตรง หลังจากนั้นสถาปัตยกรรม URAI จะทำการแปลงเนื้อข่าวดังกล่าวเป็นภาษาไทยถิ่นโดยอัตโนมัติและทำการออกอากาศแบบ Real-time โดยอาศัยการช่วยเหลือของระบบ AI For Thai, ระบบ Deep Learning TTS ที่พัฒนาขึ้นมาเฉพาะ และระบบการออกอากาศสดที่สามารถใช้งานระบบ Augmented Reality เพื่อเพิ่มความน่าสนใจและเข้าใจง่ายของการรายงานข่าวสารยิ่งขึ้น ประโยชน์ที่ได้รับจากผลงานนี้นั้นนอกจากจะมีประโยชน์โดยตรงกับทั้งการสื่อสารข่าวในสถานการณ์ Post-Covid แล้วยังจะเป็นต้นแบบในการต่อยอดระบบ AI For Thai เข้าไปที่สายงานการรายงานข่าว และสายงาน Augmented Reality/Virtual Reality อีกด้วย