เนคเทค สวทช. นำเสนอ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติ ในเวที eGovernment Forum 2022

Facebook
Twitter

บทความ : ศิริพร ปานสวัสดิ์

เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2565 ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ร่วมแสดงปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “On the Path of National AI Strategy” ในงานสัมมนาวิชาการด้านดิจิทัลเทคโนโลยี eGovernment Forum 2022 โดย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) สมาคมผู้ใช้ดิจิทัลไทย (DUGA) และหน่วยงานพันธมิตร ได้จัดขึ้นเพื่อนำเสนอถึงการนำเทคโนโลยีดิจิทัลใช้สนับสนุนการปฏิบัติงาน ยกระดับประสิทธิภาพบริการภาครัฐให้สามารถอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนได้ถูกต้อง รวดเร็ว แม่นยำมากยิ่งขึ้น รวมถึงการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐที่พร้อมขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงไปสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล ด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาประเทศอย่างแท้จริง

(ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติ เพื่อการพัฒนาประเทศ ระยะ 6 ปี (พ.ศ.2565 - 2570)

ในปาฐกาถาพิเศษหัวข้อดังกล่าว ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการเนคเทค สวทช. ได้นำเสนอ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติ เพื่อการพัฒนาประเทศ ระยะ 6 ปี (พ.ศ.2565 – 2570) ภายใต้การขับเคลื่อนร่วมกันระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) ร่วมด้วยหน่วยงานพันธมิตร อาทิ สมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AiAT) สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ที่ได้เริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2562 เพื่อเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ และเป็นแนวทางการดำเนินงานส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ของประเทศไทยให้บรรลุผลและเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล ที่จะช่วยพัฒนาส่งเสริมเศรษฐกิจ ยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ ตลอดจนมุ่งสู่ประเทศไทย 4.0 ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ รวมถึงการพัฒนาทักษะของบุคลากรภายในประเทศ โดยในปัจจุบันแผนนี้อยู่ระหว่างยื่นเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ

ความจำเป็นในการพัฒนาแผนปฏิบัติการ AI ประเทศไทย

ปัจจัยที่สำคัญในมิติต่างๆ ที่จำเป็นต้องเร่งผลักดันแผนปฏิบัติการ AI ของประเทศ เนื่องจากจะเป็นส่วนสำคัญทั้งในมิติ
  • ด้านเศรษฐิกิจ สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าและบริการในการเติมเต็มอุตสาหกรรม S-Curve ของรัฐบาล เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ สุขภาพการแพทย์
  • ด้านแรงงาน การจ้างงานและตลาดแรงงาน การพัฒนาบุคลากรแรงงานสมัยใหม่
  • การปรับตัวต่อ Covid-19 วิถีการใช้ชีวิตแบบ New Normal ที่เป็นตัวเร่งของการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และ AI
  • ด้านจริยธรรมและสังคม ความเป็นส่วนตัว และจิตวิทยาสังคม
  • ด้านวิสัยทัศน์ของประเทศ ที่ยังขาดแผนการดำเนินงาน หรือแนวทางที่ชัดเจนชัดเจนของประเทศ

สาระสำคัญของแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติ

ภายใต้ 5 ยุทธศาสตร์ 14 แผนงาน เพื่อให้ประเทศไทยเกิดระบบนิเวศที่ครบถ้วนในการพัฒนาและใช้เทคโนโลยี AI รวมถึงการเชื่อมโยงแบบบูรณาการ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น และนำไปสู่การยกระดับเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชนภายในปี พ.ศ. 2570 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ
  • สร้างคน และเทคโนโลยี Reskill Upskill Newskill ด้าน AI สําหรับครู อาจารย์ นักเรียน นักศึกษา Cross skills เสริมทักษะ AI กับสายงานอื่นๆ สร้างอาชีพใหม่ที่ใช้ความรู้และ ทักษะด้านดิจิทัล และAI
  • สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการให้มีมูลค่าสูงขึ้น ขับเคลื่อนวาระสําคัญของรัฐบาล ส่งเสริมให้เกิด Tech Start ups / SME / Digital Business
  • สร้างผลกระทบการสังคม และสิ่งแวดล้อม ประชาชนเข้าใจถึงผลกระทบและทํางานร่วมกับ AI ได้เข้าถึงบริการภาครัฐอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ การศึกษาและสุขภาพการแพทย์

จุดเน้นการพัฒนาเทคโนโลยี AI ใน 10 กลุ่มเป้าหมาย

  1. การใช้งาน และบริการภาครัฐ Government administration, Government services
  2. การเงินและการค้า Credit scoring, CRM
  3. โลจิสติกส์และการขนส่ง Intelligent transportation, Transport map
  4. ความมั่นคง และปลอดภัย Public surveillance platform, Crime response system, Cyber security
  5. ท่องเที่ยว และเศรษฐกิจสรา้งสรรค์ Smart guidance and planning, Tourism service quality, Smart tourism area
  6. การศึกษา Smart education, Geography of educational opportunities
  7. เกษตร และอาหาร Digital farm, Food quality
  8. การแพทย์และสุขภาวะ AI in self-care, Chronic disease, Medical assistant
  9. พลังงานและสิ่งแวดล้อม Energy management, Environmental geospatial analytics
  10. อุตสาหกรรมการผลิต Smart manufacturing, Industry assessment and testbed

จาก Core Technology สู่ AI Service Platform

AI for Thai บริการเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์สัญชาติไทย https://aiforthai.in.th ที่เนคเทค สวทช. ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร เปิดให้บริการ AI Service Platform แบบสาธารณะ แก่นักพัฒนาและผู้สนใจทั่วไป สามารถใช้งานบริการปัญญาประดิษฐ์สัญชาติไทย ในรูปแบบ APIs จะเป็นตัวตอบโจทย์ที่ช่วยภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเทคโนโลยี AI ในบริบทของประเทศไทยได้เร็วขึ้น และภาคธุรกิจ หรือผู้พัฒนายังสามารถนำบริการมาวางแลกเปลี่ยนเพื่อทดสอบการใช้งานได้ฟรี เกิดเป็นตลาดในการใช้งาน AI ได้จริงภายในประเทศ

ปัจจุบันมีทั้งหมด 36 APIs ให้บริการทั้งด้านข้อความ (20) การวิเคราะห์ภาพ (13) คำศัพท์ เสียงและ Chat Bot (3) มีเครือข่ายนักพัฒนา จำนวนกว่า 5,458 คน โดยได้รับการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน จาก บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด, บริษัท อินเทอร์เน็ตประเทศไทย จำกัด (มหาชน), บริการระบบคลาวด์กลางภาครัฐหรือ Government Data Center and Cloud service (GDCC)

ขอขอบคุณ : คณะผู้จัดงานสัมมนา eGovernment Forum 2022