Alternate Wet&Dry ระบบตรวจวัดในนาข้าวแบบเปียกสลับแห้ง

Facebook
Twitter

เครื่องมือช่วยในการบริหารจัดการการปล่อยน้ำเข้าและออกจากแปลงนา

การปลูกข้าวเปียกสลับแห้ง   เป็นการทำนาโดยควบคุมระดับน้ำในแปลงนาให้มีช่วงน้ำขัง สลับกับช่วงน้ำแห้ง สลับกันไป ในช่วงเวลาที่เหมาะสม เพื่อใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพและเพียงพอต่อความต้องการของข้าว การที่มีช่วงน้ำแห้ง ทำให้รากของต้นข้าวดูดซับอากาศและอาหารได้ดีขึ้น กระตุ้นให้รากและลำต้นของต้นข้าวแข็งแรงขึ้น สามารถดูดซับสารอาหารได้ดีขึ้น ทำให้ใช้ปุ๋ยลดลง ต้นข้าวที่แข็งแรงทนต่อการระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืช ทำให้ใช้สารเคมีเพื่อป้องกันและกำจัดศัตรูพืชลดลง ต้นข้าวที่แข็งแรงจะแตกกอได้มากขึ้น รวงข้าวสมบูรณ์ ผลผลิตที่ได้รับก็เพิ่มขึ้น

การปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้งนี้ เหมาะกับการปลูกข้าวในเขตชลประทาน ในบางพื้นที่ จะใช้ปริมาณน้ำในการปลูกน้อยกว่าวิธีปลูกข้าวนาน้ำขังแบบเดิมมากกว่า 50% โดยจะใช้ท่อดูน้ำ ซึ่งทำจากท่อ PVC ความสูง 25 cm ติดตั้งในแปลงนา โดยให้ปากท่ออยู่เหนือผิวดิน 5 ซม. (ดังรูป) เมื่อถึงช่วงต้องการขังน้ำ เกษตรกรจะสูบน้ำเข้าแปลงนาให้สูงจากผิวดินประมาณ 5 ซม ท่วมปากท่อ หรืออาจจะมากกว่านั้น และจะปล่อยให้น้ำแห้งจนต่ำกว่าผิวดิน 15 ซม. หลังจากนั้นจึงสูบน้ำเข้าไปแปลงสลับกันไปการปลูกข้าวในลักษณะนี้ ช่วยลดการปล่อยก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นหนึ่งในก๊าซเรือนกระจก ที่เกิดจากการย่อยสลายอินทรียวัตถุแบบไร้อากาศเมื่อปลูกข้าวแบบขังน้ำเป็นเวลานาน

การทำงานของ Alternate Wet&Dry

  • Alternate Wet&Dry เป็นระบบช่วยในการบริหารจัดการการปล่อยน้ำเข้า และออกจากแปลงนา ประกอบไปด้วยสถานีวัดอากาศ และสถานีตรวจวัด โดยใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์
  • ตรวจวัดสภาพแวดล้อมในแปลงนา โดยวัดระดับน้ำในแปลงนา ความชื้นดิน อุณหภูมิดิน และสภาพอากาศ ได้แก่ ปริมาณน้ำฝน, อุณหภูมิ/ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ ความเข้มแสงอาทิตย์ความเร็วและทิศทางลม นอกจากนี้ยังช่วยประเมินสภาพอากาศได้
  • ระบบจะส่งข้อมูลตรวจวัดไปเก็บไว้ในเซิร์ฟเวอร์ฐานข้อมูลผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต 

ปัจจุบันระบบนี้ได้ติดตั้งทดสอบที่ สถาบันวิทยาศาสตร์ข้าวแห่งชาติ จ.สุพรรณบุรี และประเทศบรูไน 

จุดเด่นของเทคโนโลยี

  • ช่วยเก็บข้อมูลสภาพแวดล้อมในแปลงปลูก
  • ช่วยคำนวณการใช้น้ำของแปลงปลูกข้าว จากความสูงของระดับน้ำในแปลงนา
  • ช่วยคำนวณการปล่อยก๊าซมีเทนของแปลงปลูกข้าว จากการควบคุมระดับน้ำในแปลงนา

กลุ่มเป้าหมาย

  • กลุ่มชาวนาที่เน้นการปลูกข้าวที่เน้นการลดคาร์บอนเครดิต
  • กลุ่มผู้พัฒนาเทคโนโลยีด้านการเกษตร

ผู้วิจัยและพัฒนา

ทีมวิจัยเทคโนโลยีเกษตรดิจิทัล (DAT)
ด้านวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบและเครือข่ายอัจฉริยะ (ITSN)
ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายพัฒนาเครือข่ายเชิงกลยุทธ์และประเมินผล (SPE)
ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ
112 อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ถ.พหลโยธิน
ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี 12120
เบอร์โทรศัพท์:: 0 2564 6900
E-mail: business[at]nectec.or.th