ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค สวทช.) เปิดให้บริการ “รับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์” มาตั้งแต่ พ.ศ. 2541 ซึ่ง ณ เวลานั้นประเทศไทยยังไม่มีมาตรฐานที่เหมาะสมและทันสมัย สำหรับผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์ ทำให้ผู้ประกอบการไทยไม่สามารถขอรับการรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ของตน จากหน่วยรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ของไทยได้ ประกอบกับการขอรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์จากหน่วยรับรองผลิตภัณฑ์ของต่างประเทศ ก็ใช้ระยะเวลานาน และมีต้นทุนค่าใช้จ่ายมาก ไม่นับรวมถึงปัญหาที่ว่าหน่วยรับรองผลิตภัณฑ์ของต่างประเทศ ก็ไม่ได้มีมาตรการใดๆ ในการควบคุมคุณภาพสินค้าในตลาดไทย เพื่อให้มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์ที่ให้การรับรองไปจะมีคุณภาพที่ดี เป็นไปตามผลิตภัณฑ์ต้นแบบอย่างสม่ำเสมอ ทิ้งให้เป็นภาระของผู้บริโภคไทยที่ต้องรับความเสี่ยงต่อการได้รับสินค้าที่มีคุณภาพไม่เป็นไปตามที่ควรจะเป็น
เนคเทค จึงได้เข้ามาทำหน้าที่ให้การตรวจสอบรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ คอมพิวเตอร์ เพื่อแก้ไขปัญหาทั้งสองส่วนดังกล่าวข้างต้น โดยการคัดเลือกมาตรฐานที่เห็นว่าเหมาะสมมาปรับปรุงให้เหมาะสม เพื่อใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการตัดสินคุณภาพผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์ เพื่อให้การรับรอง และกำหนดให้ต้องมีการตรวจสอบระบบควบคุมคุณภาพการผลิต ณ. สถานประกอบการ ก่อนตัดสินให้การรับรอง และให้สิทธิแสดงเครื่องหมายรับรองเนคเทค (NECTEC Mark) บนตัวผลิตภัณฑ์ รวมถึงจัดให้มีการตรวจติดตามผลการให้การรับรองเป็นระยะๆ ตลอดมาด้วย
เครื่องหมายรับรองเนคเทค (NECTEC Mark)
ต่อมาเมื่อประเทศไทย โดย สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้กำหนดมาตรฐานพื้นฐานที่สำคัญขึ้นใช้งานในประเทศแล้ว อาทิ มาตรฐานด้านความปลอดภัย (มอก.1561) และมาตรฐานด้านความเข้ากันได้ทางแม่เหล็กไฟฟ้า (มอก.1956) เป็นต้น เนคเทคก็ได้ปรับปรุงเกณฑ์การรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์มาใช้ มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ของสมอ. แทนหลักเกณฑ์เดิม และต่อมาได้มีการทำบันทึกความร่วมมือด้านการมาตรฐานกับสมอ. เพื่อร่วมกันพัฒนาด้านการมาตรฐานของประเทศในสาขาไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ให้แข็งแรง เพียงพอ ทันสมัยและเหมาะสมกับการใช้งานในประเทศ มากยิ่งขึ้น
การเริ่มดำเนินการในฐานะหน่วยรับรองผลิตภัณฑ์ ของเนคเทค นับจากเริ่มต้น จนถึงปัจจุบัน ได้ดำเนินกิจกรรมการให้การรับรองทั้งหมดตามข้อกำหนดของมาตรฐาน มอก. 5065 (ISO/IEC Guide 65) ซึ่งเป็นมาตรฐานการบริหารจัดการและการดำเนินงานสำหรับหน่วยงานที่ให้บริการรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ รวมถึงได้มีการยื่นขอรับการรับรองความสามารถในการดำเนินกิจกรรมดังกล่าว จากสำนักงานคณะกรรมการแห่งชาติ ว่าด้วยการรับรองระบบงาน ทั้งนี้เพื่อให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจต่อเครื่องหมายการรับรองเนคเทค ที่ผู้ผลิตได้รับไป
ความสำคัญของหน่วยรับรอง
หน่วยรับรองผลิตภัณฑ์ (Product Certification Body) เป็นหน่วยงานพื้นฐานที่มีหน้าที่สำคัญมากหน่วยหนึ่งในระบบการค้าของโลก ในฐานะที่เป็นคนกลางระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบสินค้า/บริการ ว่าสอดคล้องเป็นไปตามเกณฑ์ มาตรฐานที่ตกลงกันไว้หรือไม่ ทั้งนี้การตรวจสอบและการให้การรับรองคุณภาพสินค้า/บริการของ หน่วยรับรองผลิตภัณฑ์จะเป็นการให้การรับรอง ทุกชิ้นที่ผลิตและแสดงเครื่องหมายการรับรอง รวมถึงหน่วยรับรองต้องจัดให้มีกิจกรรมการสุ่มตรวจคุณภาพสินค้า/บริการ หลังให้การรับรองด้วย เพื่อให้แน่ใจว่า ระบบการควบคุมคุณภาพสินค้าของผู้ผลิต ยังคงรักษาระดับไว้ได้ตลอดระยะเวลาที่ให้การรับรอง
อย่างไรก็ตาม ขอบข่ายการให้บริการนั้นจะขึ้นอยู่กับระดับและสาขาความชำนาญของหน่วยรับรอง และขอบเขตความรับผิดชอบนั้นจะขึ้นอยู่กับกฎหมายเกี่ยวกับความรับผิดที่เกี่ยวข้อง ซึ่งปกติหน่วยรับรองจะมีขอบเขตความรับผิดชอบแยกเป็นรายประเทศๆ ไป (และเป็นเหตุผลที่มา ว่า หน่วยรับรอง/เครื่องหมายรับรองจาก ตปท. ไม่มีขอบเขตความรับผิดชอบต่อคุณภาพสินค้า ที่จำหน่วยในประเทศไทย เนื่องจากไม่ได้ยอมรับที่จะผูกพัน รับผิดชอบตามกฎหมายไทย)
เป้าหมาย/แนวทางการดำเนินงาน
- พัฒนามาตรฐานและระบบงานของหน่วยรับรองผลิตภัณฑ์ ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล อันจะเป็นการช่วยลดต้นทุนแก่ผู้ประกอบการในประเทศ ในการตรวจสอบ รับรองคุณภาพสินค้า/บริการของตน รวมถึงขยายขอบข่ายการให้บริการให้ครอบคลุมความต้องการของผู้ประกอบการ และผู้ใช้ในประเทศ
- สนับสนุนการถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้ซื้อและผู้ประกอบการไทย เพื่อสร้างความเข้าใจและความตระหนักที่ถูกต้องอันจะช่วยลดความเสี่ยงของผู้ซื้อ และยกระดับความสามารถให้กับผู้ประกอบการไทย ในการเลือกสินค้า/บริการที่มีคุณภาพดี เหมาะสมกับการใช้งานในประเทศ และได้รับการตรวจสอบรับรองจากหน่วยงานที่มีขอบเขตความรับผิดชอบอย่างเหมาะสม
ขอบข่ายที่ให้บริการปัจจุบัน
- บริการรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์
- บริภัณฑ์คอมพิวเตอร์ และส่วนประกอบเชิงหน้าที่
- บริภัณฑ์โสตทัศน์ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
- บริภัณฑ์ส่องสว่าง
- ดาตาเซนเตอร์
- เครื่องมือทางอุตสาหกรรมและวิทยาศาสตร์
- ระบบเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์
- เครื่องมือแพทย์ทางไฟฟ้า
- เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน
- อุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
- บริการตรวจสอบคุณภาพสินค้า
- บริการเปรียบเทียบมาตรฐาน
- ให้คำปรึกษาจัดทำระบบงาน มอก.-ISO/IEC
ผู้สนใจสามารถ ตรวจสอบรายชื่อบริษัท/ผู้ประกอบการ ที่ได้รับการรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ จากเนคเทค และมีสิทธิ์แสดงเครื่องหมายเนคเทค บนตัวสินค้าได้จาก ทะเบียนการรับรอง ในเว็บไซต์ของ สถาบันประเมินและรับรองเทคโนโลยีดิจิทัล
ติดต่อ
สถาบันประเมินและรับรองเทคโนโลยีดิจิทัล (DTEC)
ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ
112 อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ถนนพหลโยธิน
ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง
จังหวัดปทุมธานี 12120
โทรศัพท์ 02-564-6900 ต่อ 2080…4
อีเมล: dtec[at]nectec.or.th
เว็บไซต์: https://www.nectec.or.th/dtec