“Data Sharing” ที่ใคร ๆ ก็อยากได้ แต่กลับ “พูดง่าย ทำยาก” เผย 3 ปัจจัยขับเคลื่อนการแบ่งปันข้อมูลให้เกิดขึ้นจริงในประเทศ

Facebook
Twitter

สาระจากเสวนา “มองอนาคต Data Sharing ในประเทศไทย” ในงานแถลงข่าวการจัดงาน NECTEC-ACE 2023

จากการเผชิญความท้าทายเรื่องข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการกำหนดกรอบทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ผ่านการจัดทำแผนและนโยบาย การมองภาพสถานการณ์ปัจจุบัน ฉายภาพฉากทัศน์ในอนาคต วิเคราะห์ช่องว่างการพัฒนาจนนำไปสู่การจัดทำแผนนโยบายต่าง ๆ
ดร.ปฏิมา จงเจริญธนาวัฒน์ นักวิเคราะห์นโยบายและแผน ชำนาญการพิเศษ กองศึกษาและวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เล่าว่า “Data Sharing เป็นเรื่องที่สำคัญมากในการวางแผนเพื่อพัฒนาประเทศ” จากบทบาทการทำงานของสภาพัฒน์ฯ ทุกกระบวนการจำเป็นต้องใช้ข้อมูลจำนวนมากในหลากมิติ โดยต้องเผชิญกับความท้าทายตั้งแต่เริ่มต้นติดต่อขอข้อมูลผ่านจดหมายซึ่งล้าช้าและหากหน่วยงานเจ้าของข้อมูลเปลี่ยนผู้ดูแลระยะเวลาในขั้นตอนนี้จะยิ่งเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องข้อมูลที่เก็บไว้คนละฐาน รวมถึงความไม่เพียงพอของข้อมูลเชิงสังคม (Lack of Data) ที่ต้องนำมาใช้วางแผน หรือ คาดการณ์อนาคตได้
ถึงแม้ว่า Data Sharing จะเป็นสิ่งที่ทุกคนเห็นด้วยว่าสำคัญและต้องเกิดขึ้นในประเทศ แต่เมื่อลงมือทำจริงเป็นเรื่องที่ยากมาก นอกเหนือจากความท้าทายเรื่องข้อมูลแล้ว ยังมีเรื่องความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน ความกังวลต่าง ๆ ของเจ้าของข้อมูลในการแบ่งปันข้อมูล ไม่ว่าจะเป็น การนำข้อมูลไปใช้ผิดประเภท การรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคล กระบวนการตรวจสอบที่เพิ่มมากขึ้น หรือแม้กระทั่งการถูกลดบทบาทในการเป็นเจ้าของข้อมูล ที่อาจส่งผลต่อการจัดสรรทรัพยากรหรืองบประมาณ อย่างไรก็ตาม ดร.ปฏิมา ได้ฉายภาพ 3 ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ Data Sharing เกิดขึ้นในประเทศ ได้แก่
1) การสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) ของการแบ่งปันข้อมูล เช่น การกำหนดธรรมมาภิบาลของข้อมูลให้ให้ชัดเจน กำหนดสิทธิหน้าที่ในการเข้าถึงข้อมูล รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานทางด้านข้อมูลที่จำเป็นพร้อมที่จะเป็นสปริงบอร์ดให้ Data Sharing ของประเทศก้าวต่อไปได้
2) การกำหนดโครงสร้างแรงจูงใจในการแบ่งปันข้อมูลให้ชัดเจน เพื่อให้ทุกหน่วยงานเห็นว่า การแบ่งปันข้อมูลไม่ได้เป็นการถูกลดทอนบทบาทหรือว่าสูญเสียทรัพยากรใด ๆ ไป แต่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน
3) การแบ่งปันข้อมูลระหว่างภาครัฐและเอกชน ยกตัวอย่าง นโยบายแก้ปัญหาความยากจนและทุกช่วงวัยที่ผ่านมา สภาพัฒน์ฯ ใช้ข้อมูลภาครัฐเป็นหลัก หากมีข้อมูลจากภาคเอกชนเข้ามา อาจทำให้เห็นกลุ่มเป้าหมายการพัฒนาในมิติใหม่ ๆ เพื่อกำหนดการสวัสดิการให้ตรงกลุ่มเป้าหมายมากยิ่งขึ้น

– “ความเชื่อมโยง” กลไกสำคัญนำข้อมูลพัฒนาประเทศ

ถึงแม้สภาพัฒน์ฯ จะเป็นหน่วยงานในการวางแผนและกำหนดทิศทางในการพัฒนาประเทศ แต่ทราบดีว่า การวางแผนเพียงอย่างเดียวไม่ใช่ปัจจัยความแห่งความสำเร็จ (Key to Success) ของการพัฒนาประเทศ แต่จำเป็นต้องมีการขับเคลื่อนแผนนั้น ๆ อย่างเป็นรูปธรรมอีกด้วย
อย่างไรก็ตามปัญหาสำคัญของการไปสู่ความสำคัญดังกล่าว คือ ขาดความเชื่อมโยงในการขับเคลื่อน การทำงาน ในลักษณะที่ต่างคนก็ต่างทำหน้าที่ในบทบาทของตน ภาพของการพัฒนาจึงเกิดขึ้นเป็นส่วน ๆ ไม่เชื่อมโยงกันทั้งประเทศ
“ในระยะต่อจากนี้ไป เราเลยตั้งใจว่าเราอยากทำหน้าที่เป็น “ช่างเชื่อม” คือ เชื่อมโยงการดำเนินงานของหลาย ๆ หน่วยงานเข้าด้วยกัน” ดร.ปฏิมา กล่าว
บทบาทแรกของช่างเชื่อมในมุมมองของสภาพัฒน์ฯ คือ การเชื่อมโยงฐานข้อมูล เพื่อให้ทั้งประเทศมองเห็นปัญหาเดียวกัน มองเห็นอนาคตเดียวกันจากข้อมูลที่มีด้วยกัน โดยริเริ่มผ่าน 2 โครงการใหญ่ ได้แก่
1) TPMAP คือ ระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (Thai People Map and Analytics Platform) ซึ่งไม่ได้โฟกัสเฉพาะมิติทางเศรษฐกิจ ปัญหาความยากจนซึ่งเป็นเรื่องของรายได้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่มุ่งพัฒนาคนทุกช่วงวัย ไม่ว่าจะเป็น มิติด้านของการศึกษามิติการเข้าถึงบริการภาครัฐ มิติทางสุขภาพ ซึ่งอาจนำไปสู่ความเสี่ยงในการตกเป็นผู้มีความขัดสนทางรายได้ในอนาคต โดยบูรณาการฐานข้อมูลภาครัฐที่เกี่ยวกับการแก้ปัญหาความจนและพัฒนาคนทั้งหมด เพื่อระบุกลุ่มเป้าหมาย ให้ทุกหน่วยงานที่มีบทบาทและภารกิจเกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาดังกล่าว ได้มองเห็นกลุ่มเป้าหมายเดียวกัน สามารถที่จะระดมทรัพยากรไปสู่ปัญหาเดียวกันได้
 
ในระยะต่อสภาพัฒน์ฯ และ เนคเทค สวทช. มีแผนในการพัฒนาระบบโดยนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาช่วยให้ข้อมูลมาตรการที่เหมาะสม และสอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ สามารถตอบสนองปัญหาได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงการผลักดันให้ภาคเอกชนและภาคประชาชนที่มีส่วนร่วมในการแก้ยากจน พัฒนาคนทุกช่วงวัยได้เข้ามาใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลเดียวกัน

2) eMENSCR ระบบติดตามและประเมินผลแห่งชาติ ระบบสารสนเทศที่ใช้ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐผ่านโครงการ/การดำเนินงานต่าง ๆ ในการขับเคลื่อนการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ โดยเชื่อมโยงโครงการทั้งหมดที่ได้รับงบประมาณจากภาครัฐว่าแต่ละโครงการถูกเอาไปใช้เพื่อบรรลุเป้าหมายในใดบ้าง กลุ่มใดที่ได้ประโยชน์ เป็นศูนย์รวมที่ประเทศจะได้เห็นภาพโครงการ แผนงาน การใช้จ่ายงบประมาณและความก้าวหน้าโครงการอยู่ที่ระบบนี้ที่เดียว