สาระจากการบรรยายพิเศษในหัวข้อ “พลังข้อมูล เพื่อประเทศไทย เพื่อคนไทย: Data for Thai, Data for all” ภายในงาน NECTEC-ACE 2023 โดย ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการเนคเทค สวทช.
สิ่งที่สำคัญที่สุุด และ ยากที่สุด ในการนำข้อมูลมาใช้งาน คือ “ความร่วมมือ” ปัจจุบันมีหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่พยายามเชื่องโยงการทำงาน เชื่อมโยงให้เกิดการเปิดเผยข้อมูลภายในประเทศ ด้านเนคเทค สวทช. ในฐานะหน่วยงานวิจัยและพัฒนาได้ร่วมเติมเต็มในส่วนของความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมและเทคโนโลยี เป็นเครื่องมือที่มุ่งขับเคลื่อนให้เกิด Data Sharing ในสังคมไทย
— The Begining of Journey
Open-D – Data Platform Technology for Open Data หรือ แพลตฟอร์มสาธารณะด้านข้อมูลเปิด ที่เนคเทค สวทช. ได้รับโอกาสจากสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล หรือ DGA ในการพัฒนา Backend ของเว็บไซต์ data.go.th ในการเปิดเผยข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ
ตั้งแต่ปี 2021 เป็นต้นมา เนคเทคต้องขับเคลื่อน Open-D ให้เป็นประโยชน์ต่อภาคส่วนต่าง ๆ อย่างจริงจังและยั่งยืน จึงเปิดเป็น Open source หรือ แพลตฟอร์มสาธารณะทั้งหมด โดยมีเป้าหมายให้ทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน สามารถจัดทำบัญชีข้อมูลของหน่วยงานและให้บริการข้อมูลเปิดที่เป็นไปตามมาตรฐานระบบบัญชีข้อมูลภาครัฐ และสามารถเชื่อมโยงข้อมูลไปยัง Data.go.th ได้ ปัจจุบันมีข้อมูลมากกว่า 10,000 ชุดข้อมูล มีผู้ใช้งานมากกว่า 4 ล้านครั้ง มากกว่า 200 หน่วยงาน
นอกจากนี้ยังมีอีกหลายหน่วยงานที่ให้โอกาสเนคเทค สวทช. ได้พัฒนา Data Platform โดยอาศัยแพลตฟอร์ม Open-D เช่น สำนักงานสถิติแห่งชาติในการขับเคลื่อนการทำ Metadata มากกว่า 8,000 ชุดข้อมูล , กรุงเทพมหานครซึ่งมีวิสัยทัศน์ในการเปิดเผยข้อมูลขนาดใหญ่ของของจังหวัด มีชุดข้อมูลมากกว่า 1,000 ชุด ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Open-d > https://nectec.or.th/opend/
— เปิดตัว 2 Big Data ด้านการพัฒนาเยาวชน และพัฒนาคนทั้งประเทศ
การที่เนคเทค สวทช. มี Data Platform อยู่ในหน่วยงาน และการแชร์ข้อมูลออกไปยังหน่วยงานที่เป็นหน่วยงานพันธมิตรนั้น ยังไม่เพียงพอสำหรับการสร้างประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล เนคเทค สวทช. จึงพยายามส่งต่อ Big Data เหล่านี้ สร้างระบบนิเวศข้อมูล ให้เกิดประโยชน์กับประเทศอย่างยั่งยืน ยกตัวอย่าง 2 งานวิจัยสำคัญ ได้แก่
1) Thai School Lunch ระบบแนะนำสำรับอาหารกลางวันสำหรับโรงเรียนแบบอัตโนมัติ ดิจิทัลแพลตฟอร์มที่ใช้เทคโนโลยี Big Data Analytics กับ AI ในวิเคราะห์ ประมวลผลสารอาหาร และแสดงผลเป็นเมนูมื้อกลางวันได้อย่างรวดเร็ว เมนูอาหารในระบบที่มีมากกว่า 1,000 ชนิด หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องทางภาคสาธารณสุข ภาคการศึกษา ผู้ปกครอง ภาคธุรกิจ สามารถวางแผนคำนวณปริมาณของวัตถุดิบในการจัดซื้อแต่ละครั้ง ทำให้สามารถประมาณค่าใช้จ่ายได้ล่วงหน้า และสรุปค่าใช้จ่ายจริงตามราคาวัตถุดิบในแต่ละท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยในการวางแผนจัดการงบประมาณ และจัดทำรายงานประเมินคุณภาพอาหารกลางวันของแต่ละโรงเรียนได้อย่างสะดวก ถูกต้อง และรวดเร็ว ปัจจุบันมีข้อมูลจากโรงเรียนกว่าห้าหมื่นจากแปดหมื่นโรงเรียนทั่วประเทศ สามารถเข้าดูข้อมูลได้ที่ https://thaischoollunch.in.th/tsldashboard.html
2) TPMAP ระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (Thai People Map and Analytics Platform) ฐานข้อมูลประชากร 48 ล้านคน อาศัยข้อมูลจากหลายแหล่งมายืนยันซึ่งกันและกัน เช่น ใช้ข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) จากกรมการพัฒนาชุมชน และข้อมูลผู้ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐจากกระทรวงการคลัง ข้อมูลการขึ้นทะเบียนเกษตรกร ข้อมูลเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ผู้พิการ ข้อมูลนักเรียนจากกระทรวงศึกษาธิการ เป็นต้น เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคนใช้วางแผนดูแลประชาชนในระดับครัวเรือน ลดการแก้ไขปัญหาซ้ำซ้อน ลดงบประมาณในการจัดการเรื่องของการพัฒนาคนในพื้นที่ ใช้ในการวางแผนนโยบายยุทธศาสตร์ในการจัดการพัฒนาคนใน 5 ด้าน ไม่ว่าจะเป็น ด้านสุขภาพ ด้านความเป็นอยู่ ด้านการศึกษา ด้านรายได้ ด้านการเข้าถึงบริการรัฐ
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เล็งเห็นความสำคัญของฐานข้อมูลชุดนี้ จึงเปิดตัว TPMAP เป็น Open Data โดยจัดการเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลเรียบร้อยแล้ว เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนยุทธศาสตร์การวางแผนกิจกรรมของกระทรวงต่าง ๆ และภาคธุรกิจสามารถนำไปเป็น Reference ได้ในหลายมิติ https://www.tpmap.in.th/open-data
— Open Data Initiative | เป้าหมายถัดไปของเนคเทคในเรื่องการเปิดเผยข้อมูล
ความสำคัญของ Data Sharing ไม่ใช่เฉพาะเรื่อง “การสร้างความโปร่งใสในสังคม” แต่เป็นเรื่องของ “การสร้างมูลค่าทางธุรกิจ” เช่นเดียวกัน เนคเทค สวทช. พยายามสร้างสมดุลนั้น โดยร่วมเติมเต็มด้านวิศวกรรม เป็นเครื่องมือ มุ่งขับเคลื่อนให้เกิดการเปิดเผยข้อมูล ในหลายบริบทสำคัญของประเทศ ไม่ว่าจะเป็น
1) ข้อมูลด้านการแพทย์ การเปิดเผยข้อมูลทางการแพทย์ (Medical Data Sharing) ที่มีการจัดการข้อมูลส่วนบุคคล ความปลอดภัยของข้อมูลเรียบร้อยแล้ว การเปิดเผยข้อมูลทางการแพทย์จะนำไปสู่การพัฒนา AI ด้านการแพทย์ เพื่อช่วยวิจัยโรค ช่วยวางแผนการรักษาได้
.
2) ข้อมูลด้านการเกษตร เนคเทค สวทช. พัฒนา Agri-Map ฐานข้อมูลการเกษตรขนาดใหญ่ของประเทศ โดยบูรณาการข้อมูลพื้นฐานด้านการเกษตร จากทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำหรับใช้เป็นเครื่องมือบริหารจัดการการเกษตรไทย อย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคลุมทุกพื้นที่
.
ปัจจุบันเนคเทค สวทช. พยายามขับเคลื่อนให้มีการนำข้อมูลจาก Agri-Map ไปใช้งานสร้างเป็นนวัตกรรม แอปพลิเคชันต่าง ๆ ได้โดยง่ายในรูปแบบ API ผ่านแพลตฟอร์ม THAGRI หรือแพลตฟอร์ม ความร่วมมือข้อมูลเกษตรประเทศไทย (Thailand Agricultural Data Collaboration Platform) https://www.thagri.in.th/
.
3) ข้อมูลด้านภาษา ที่ถูกเทรนด์โดย Supercomputer ให้กลายเป็น Large language model (LLM) คือ องค์ประกอบสำคัญที่อยู่เบื้องหลังแอปพลิเคชันอย่าง ChatGPT หากเราต้องการสร้างแอปพลิเคชันอย่าง ChatGPT ที่ใช้ในบริบทเฉพาะทางเช่น ด้านการท่องเที่ยว ด้านการแพทย์ ด้านกฏหมาย จำเป็นต้องเริ่มต้นจาก Large language model (LLM) นี้