11 พฤษภาคม 2566 : ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค สวทช.) นำโดย ดร.ชัย วุฒิวิวัตน์ชัย ผู้อำนวยการ พร้อมด้วย ดร.ศรัณย์ สัมฤทธิ์เดชขจร ดร.สุทธิพงศ์ ธัชยพงษ์ หัวหน้าทีมวิจัยการวิเคราะห์ยุทธศาสตร์ด้วยปัญญาประดิษฐ์ (SAI) ดร.กุสุมาภรณ์ สมพงษ์ รักษาการผู้อำนวยการฝ่ายความร่วมมือระหว่างประเทศและประชาสัมพันธ์ (ICP) และดร.สรวงอุษา พูลเกษ นักวิเคราะห์อาวุโส งานความร่วมมือระหว่างประเทศ(ICOS) เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการ AI for Social Good: Strengthening Capabilities and Governance Frameworks in Asia and the Pacific Country Workshop ณ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กรุงเทพ
กิจกรรม Country Workshop ในประเทศไทยครั้งนี้ จัดโดย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับ คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (United Nations Economic and Social Commission for Asia and the Pacific: UNESCAP) สมาคมมหาวิทยาลัยภาคพื้นแปซิฟิก (Association of Pacific Rim Universities: APRU) กูเกิล (Google.org) มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (Australian National University: ANU) และพันธมิตรภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ผู้เข้าร่วมการประชุม ประกอบด้วยนักวิชาการ นักวิจัย และผู้กำหนดนโยบาย ที่มาร่วมกันอภิปราย แลกเปลี่ยนความเห็น เพื่อหาแนวทางเชื่อมโยงผลการวิจัยไปสู่การสร้างนโยบายและนำไปปฏิบัติจริง โดยดร.กาญจนา วานิชกร นักยุทธศาสตร์ระดับสูง สอวช. กล่าวเปิดงาน
เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มีส่วนสำคัญในการช่วยแก้ปัญหาและขับเคลื่อนประเทศไทยในด้านต่างๆ ที่ผ่านมาประเทศไทยมีการจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (National AI Committee) รวมถึงมีแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (Thailand National AI Strategy and Action Plan) การประชุมครั้งนี้ถือเป็นโอกาสที่จะเกิดแนวทางการพัฒนาด้านนโยบายและการยกระดับการใช้ปัญญาประดิษฐ์ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ทั้งนี้ทีมวิจัยได้ทำการศึกษาประเด็นที่เกี่ยวข้องกับปัญญาประดิษฐ์ใน 2 โครงการ ได้แก่
1) ปัญญาประดิษฐ์สำหรับการแพทย์และสุขภาพ (Medicine and Healthcare) และ
2) ปัญญาประดิษฐ์ในการขจัดความยากจน (Poverty Alleviation)
โดยทีมวิจัยได้นำเสนอผลการวิจัยจากทั้ง 2 โครงการ พร้อมระบุประเด็นสำคัญที่จะสามารถทำงานร่วมกับพันธมิตรในภาครัฐได้ จากนั้นเป็นกิจกรรมแบ่งกลุ่มย่อย เพื่ออภิปราย แลกเปลี่ยนแนวคิด ความเห็นระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลัก ได้แก่ สอวช. สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ผู้แทนภาคเอกชน และเครือข่ายพันธมิตรภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก เพื่อปรับปรุงงานวิจัยให้สมบูรณ์ รวมถึงหารือแนวทางการนำผลการวิจัยไปต่อยอดและแปลงเป็นนโยบายของรัฐบาลต่อไป