นักวิจัยเนคเทคได้รับการคัดเลือกเป็น 1 ใน 4 ตัวแทนนักวิทยาศาสตร์ไทยรุ่นใหม่ เข้าร่วม HOPE Meeting ครั้งที่ 14 ณ เมืองสึคุบะ ประเทศญี่ปุ่น

Facebook
Twitter

ดร.รุ่งโรจน์ จินตเมธาสวัสดิ์ นักวิจัยทีมวิจัยเทคโนโลยีเทระเฮิรตซ์ (TRT) กลุ่มวิจัยอุปกรณ์สเปกโทรสโกปีและเซนเซอร์ (SSDRG) เนคเทค สวทช. ได้รับการคัดเลือกจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และองค์การส่งเสริมวิชาการแห่งประเทศญี่ปุ่น (Japan Society for the Promotion of Science: JSPS) ให้เป็น 1 ใน 4 ตัวแทนนักวิทยาศาสตร์ไทยรุ่นใหม่ เข้าร่วมงานประชุมวิชาการ HOPE Meeting ครั้งที่ 14 ณ เมืองสึคุบะ ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 27กุมภาพันธ์ 2566 ถึงวันที่ 3 มีนาคม 2566 โดยงานประชุมนี้จัดขึ้นโดยองค์การส่งเสริมวิชาการแห่งญี่ปุ่น มีจุดประสงค์หลักเพื่อให้นักวิจัยรางวัลโนเบลและนักวิจัยรุ่นใหม่จากทั่วโลกได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ แนวคิด และประสบการณ์ในการทำวิจัยร่วมกัน

ภายในงานประชุม ผู้เข้าร่วมฯ ได้รับฟังบรรยายจากนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลสาขาต่างๆ ทั้งหมด 8 ท่าน และได้ร่วมกิจกรรมสนทนากลุ่มกับนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลพร้อมกับนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่จากหลากหลายประเทศ โดยนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่จะเป็นนักศึกษาปริญญาเอกหรือนักวิจัยหลังปริญญาเอก ที่ผู้เข้าร่วมมีโอกาสทำความรู้จักและสนทนาด้วยผ่านกิจกรรมต่างๆ ได้แก่ การนำเสนอผลงานวิจัยแบบ Flash Talk 1 นาที การนำเสนอผลงานวิจัยแบบโปสเตอร์ (Poster Presentation) และการนำเสนอผลงานแบบกลุ่ม (Group Presentation) ที่เกี่ยวกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ส่วนกิจกรรม Workshop ต่างๆ ที่เกี่ยวกับการเรียนรู้วัฒนธรรมญี่ปุ่น รวมถึงทัศนศึกษานอกสถานที่ซึ่งเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ได้ทำความรู้จักกัน

นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมฯ ยังได้มีโอกาสเยี่ยมชมศูนย์วิจัยเครื่องเร่งอนุภาค High Energy Accelerator Research Organization (KEK) และรับฟังข้อมูลจากศูนย์วิจัย Advanced Industrial Science and Technology (AIST) เกี่ยวกับพันธกิจ การขอใช้เครื่องมือวิจัย และการขอทุนสนับสนุนความร่วมมือวิจัยในอนาคต

กิจกรรมดังกล่าวถือเป็นประสบการณ์อันมีค่าที่ผู้เข้าร่วมประชุมทุกท่านจะได้เกิดองค์ความรู้ แนวคิด มุมมอง และเครือข่ายนักวิทยาศาสตร์จากการเข้าร่วมประชุม มีช่องทางการในสร้างเครือข่ายความร่วมมือวิจัยกับนักวิทยาศาสตร์จากประเทศต่างๆ เพื่อพัฒนาวงการวิทยาศาสตร์ทั้งในระดับประเทศและระดับโลก รวมทั้งมีแรงบันดาลใจในการถ่ายทอดประสบการณ์การเข้าร่วมประชุม และสร้างความหวัง (HOPE) ให้กับคนรุ่นใหม่หรือผู้ที่สนใจ ในการตระหนักถึงบทบาทความสำคัญของวิทยาศาสตร์ต่อเศรษฐกิจและสังคมต่อไปในอนาคต