15 มีนาคม 2565 ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค สวทช.) ให้การต้อนรับอาจารย์และนักศึกษาสาขาวิชาธุรกิจวิศวกรรม ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล ในภาคเช้า 160 คน และ ภาคบ่าย 180 คน เยี่ยมชมและศึกษาดูงานในรูปแบบ Online เพื่อเรียนรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ ๆ โดยมีทีมนักวิจัยร่วมต้อนรับและนำเสนองานวิจัย ดังนี้
AI for thai แพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์สัญชาติไทย และ การประมวลผลและเข้าใจภาพ
โดย คุณศรินทร์ วัชรบุศราคำ นักวิจัย กลุ่มวิจัยปัญญาประดิษฐ์
AI for Thai เป็นแพลตฟอร์มให้บริการ AI สัญชาติไทย มุ่งวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และ Machine Learning เพื่อเน้นตอบโจทย์ผู้ใช้งาน ทั้งในภาคอุตสาหกรรมและการบริการต่างๆ ในประเทศไทย เช่นภาคธุรกิจกลุ่มค้าปลีก ใช้ Chatbot โต้ตอบเพื่อตอบคำถาม ให้บริการแก่ลูกค้าแทนพนักงาน, กลุ่มโลจิสติกส์ ใช้ระบบรู้จำใบหน้า (Face Recognition) เพื่อตรวจจับใบหน้าของพนักงานขับรถว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุหรือไม่, ด้านการแพทย์ก็เริ่มใช้ AI มาวิเคราะห์แนวโน้มความเสี่ยงของโรคส่วนบุคคล, ด้านการท่องเที่ยว สามารถใช้ AI แปลภาษาและสามารถวิเคราะห์รูปอาหารและสถานที่ท่องเที่ยวจากภาพถ่าย ให้บริการ API ด้านปัญญาประดิษฐ์ครอบคลุม 3 ด้าน ได้แก่ เทคโนโลยีการประมวลผลภาพ การสนทนา และข้อความ แบ่งออกเป็น ด้านข้อความ 20 บริการ ด้านภาพ 13 บริการ ด้านเสียงและแชตบอท 3 บริการ รวมทั้งสิ้น 36 บริการ การประมวลผลและเข้าใจภาพ หรือ Image Processing and Understanding (IPU) พัฒนาเทคโนโลยีด้านการประมวลผลภาพโดยมีเทคโนโลยีหลัก คือ เทคโนโลยีการประมวลผลภาพ (Image Processing) โดยเน้นวิจัยภาพถ่ายและภาพวิดีโอซึ่งมีความหลากหลายของอุปกรณ์ และนำเทคนิคสมัยใหม่มาประยุกต์ในงานวิจัย และ เทคโนโลยีการประมวลคอมพิวเตอร์กราฟฟิก (Computer Graphics) เช่น การสร้างภาพจาก 3D Model Analysis และนำเทคนิค 2D มาประยุกต์ใช้ให้สามารถแสดงเป็นภาพ 3D
WiMaRC นวัตกรรมเพื่อการเกษตรยุคใหม่
โดย ดร.โอภาส ตรีทวีศักดิ์ นักวิจัย ทีมวิจัยเทคโนโลยีเกษตรดิจิทัล
ระบบบูรณาการข้อมูลสำหรับเพิ่มมูลค่าทางการเกษตร ที่บูรณาการข้อมูลจากที่สำคัญสำหรับการจัดการแปลงเพาะปลูกจากเซนเซอร์และกล้องของอุปกรณ์ WiMaRC เช่น ข้อมูลอากาศ วิธีการและขั้นตอนการปลูก การให้น้ำ โรคและแมลง การให้ปุ๋ย ข้อมูลเหล่านี้สามารถส่งต่อสร้างสูตรการบริหารจัดการแปลงเพาะปลูกที่เหมาะสม ปฏิทินการปลูกดิจิทัล หรือสนับสนุนการวิเคราะห์ร่วมกับปัญญาประดิษฐ์ในบริบทอื่นๆได้ รวมถึงอุปกรณ์ไวมาก และ การตรวจวัดดูและเบื้องต้น ทั้งเซนเซอร์ บอร์ด กล้อง เซิฟเวอร์ การเปลี่ยนเซนเซอร์ ไปจนถึงการดูแลถังวัดปริมาณน้ำฝน
เทคโนโลยีเทระเฮิรตซ์และการนำไปประยุกต์ใช้งาน
โดย ดร.รุ่งโรจน์ จินตเมธาสวัสดิ์ นักวิจัย ทีมวิจัยเทคโนโลยีเทระเฮิรตซ์
คลื่นเทระเฮิรตซ์ คือย่านคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าช่วงสุดท้ายที่นักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยกำลังศึกษาและพัฒนาเพื่อนำมาประยุกต์ใช้งานทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และอุตสาหกรรม โดยคลื่นเทระเฮิรตซ์มีความยาวคลื่นอยู่ระหว่างคลื่นไมโครเวฟและคลื่นอินฟาเรด หรือมีความยาวคลื่นอยู่ในช่วง 30 ไมโครเมตร ถึง 3 มิลลิเมตร และมีคุณลักษณะเด่นเฉพาะตัวของคลื่นความถี่ในย่านนี้คือมีความปลอดภัยต่อสิ่งมีชีวิต (Non-ionizing) เนื่องจากมีพลังงานต่ำเมื่อเทียบกับคลื่นรังสีเอกซ์ (X-ray) สามารถทะลุทะลวงผ่านวัสดุส่วนมากที่เป็นฉนวนไฟฟ้า (Dielectric Materials) เช่น กระดาษ พลาสติก ผ้า และไม้ รวมถึงมีความสามารถใช้ในการตรวจจับและระบุชนิดของสารเคมีที่น่าสนใจ อาทิ กรดอะมิโน ยาปฏิชีวนะหรือแม้กระทั้งสารตั้งต้นวัตถุระเบิด ทำให้มีงานวิจัยและพัฒนานำคลื่นความถี่ในย่านนี้มาประยุกต์ใช้งานอย่างแพร่หลาย เทคโนโลยีเทระเฮิรตซ์ในด้านอุตสาหกรรม ได้แก่ ด้านเกษตรและอาหาร, ด้านการแพทย์, ด้านรักษาความปลอดภัย, ด้านการควบคุมการผลิต (QC) และการตรวจสอบแบบไม่ทำลาย (Non-Destructive Testing: NDT)
CPS and Industry 4.0 Preparation
โดย ดร.กุลชาติ มีทรัพย์หลาก หัวหน้าทีมวิจัย ระบบไซเบอร์-กายภาพ
CPS ได้รับความนิยมแพร่หลายในปัจจุบันเนื่องจากเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องทั้งหลายเช่น Internet of Things (IoT), ระบบฝังตัว (Embedded Systems), ระบบควบคุม (Control Systems), การประมวลผลด้วยเครือข่ายคลาวด์ (Cloud Computing) และ การวิเคราะห์ขั้นสูง (Data Analytics) มีความก้าวหน้าและพร้อมใช้มากขึ้น ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนให้เรานำข้อมูลจากสรรพสิ่งมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่าที่สุดในยุคของ Industry 4.0 พื้นฐานสำคัญในการยกระดับเทคโนโลยี CPS เป็นระบบที่จำเป็นสำหรับ Applications และ Services ที่หลากหลาย เช่น ในภาคอุตสาหกรรม การเกษตร การจราจร การแพทย์ พลังงาน เป็นต้น สำหรับตัวอย่างในภาคการผลิตในยุคของ Industry 4.0 นั้น เครื่องจักรจะมีอุปกรณ์เซนเซอร์และอุปกรณ์ควบคุมที่สามารถส่งข้อมูลทุกอย่างในโลกกายภาพเพื่อให้โลกไซเบอร์ได้บริหารจัดการระบบ ช่วยตัดสินใจ หรือควบคุมได้ดีที่สุด ส่งผลให้กระบวนการผลิตมีประสิทธิภาพมากขึ้น เร็วขึ้น สามารถลดต้นทุนหรือของเสียที่เกิดจากการผลิต เพิ่มคุณภาพโดยลดความผิดพลาด และป้องกันความเสียหายหรือยืดอายุการใช้งานของอุปกรณ์เครื่องจักร
การบรรยายในครั้งนี้อาจารย์และนักศึกษาได้ร่วมแลกเปลี่ยนความรู้กับวิทยากรรวมถึงคำแนะนำเทคนิคต่าง ๆ การเตรียมความพร้อมสำหรับนักศึกษาที่สนใจฝึกงานกับเนคเทค