“เครื่องตรวจตาทางไกล” ทางเลือกความปลอดภัย เครื่องมือแพทย์ยุคโควิด-19

Facebook
Twitter

สัมภาษณ์ | ดร. รังสฤษฏ์ วณิชย์จิรัฐติกาล นักวิจัย
ทีมวิจัยเทคโนโลยีระบบวัดและควบคุมระยะไกล (IST) เนคเทค สวทช.

บทความ | ธันย์ชนก ใจดี  วลัยลักษณ์ คงพระจันทร์ 
วิดีโอ | อิสริยาพร วรทิศ  ศศิวิภา หาสุข

ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เราได้เห็นเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการอำนวยความสะดวกให้กับบุคคลากรทางการแพทย์อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ปัญญาประดิษฐ์ที่ช่วยบ่งชี้เชื้อโควิด-19  หุ่นยนต์ส่งอาหารและวัดอุณหภูมิผู้ป่วย  การใช้ Telemedicine เพื่อปรึกษาแพทย์เบื้องต้น ลดการเดินทางมายังโรงพยาบาล หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิด  ลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อของทั้งแพทย์และประชาชน

“เครื่องตรวจตาทางไกล” อีกหนึ่งผลงานวิจัยของทีมวิจัยเทคโนโลยีระบบวัดและควบคุมระยะไกล (IST)และ ทีมวิจัยสมองกลอัจฉริยะและความจริงเสมือน (SMR) เนคเทค สวทช. ที่ได้พัฒนาอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่สามารถบังคับควบคุมการทำงานจากระยะไกล ตอบโจทย์การรักษาพยาบาล สนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ให้ปลอดภัยยิ่งขึ้นในสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 

เพื่อให้ประชาชนห่างไกลได้เข้าถึงการรักษา: จุดเริ่มต้นเครื่องตรวจตาระยะไกล

เครื่องตรวจตาทางไกล (Eye Tele-Analyzer) คือ เครื่องตรวจตาที่สามารถควบคุมการทำงานจากระยะไกลผ่านระบบอินเทอร์เน็ต โดยเป้าหมายหลักการวิจัยและพัฒนา ไม่ใช่การสร้างเครื่องขึ้นมาทดแทนกล้องจักษุจุลทรรศน์ แต่พัฒนาขึ้นเพื่อช่วยส่งเสริมให้ประชาชนในเขตที่ขาดแคลนจักษุแพทย์นั้นมีโอกาสเขาถึงการรักษาดวงตาได้มากขึ้น

ดร. รังสฤษฏ์ วณิชย์จิรัฐติกาล ทีมวิจัยเทคโนโลยีระบบวัดและควบคุมระยะไกล (IST) เนคเทค สวทช. เล่าว่า “เครื่องตรวจตาทางไกล เริ่มขึ้นเมื่อปี 2548 ทีมวิจัยเทคโนโลยีระบบวัดและควบคุมระยะไกล (IST) และ ทีมวิจัยสมองกลอัจฉริยะและความจริงเสมือน (SMR)ได้ร่วมมือกับโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ หรือ วัดไร่ขิง ซึ่งจุดมุ่งหมายในขณะนั้น คือ การพัฒนาเครื่องตรวจตาทางไกลเพื่อใช้ในการสกรีนผู้ป่วยที่อยู่ในโรงพยาบาลห่างไกลและไม่มีจักษุแพทย์ประจำอยู่เบื้องต้นก่อนที่จะเดินทางมาตรวจกับจักษุแพทย์จริงที่โรงพยาบาลประจำจังหวัด” 

ถึงแม้จุดมุ่งหมายเริ่มต้นของการพัฒนาเครื่องตรวจตาทางไกล จะไม่ได้เกี่ยวข้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ด้วยความสามารถในการควบคุมระยะไกล ทำให้ผลงานวิจัยและพัฒนาดังกล่าวได้เข้ามามีบทบาทในการอำนวยความสะดวกแก่บุคลากรทางการแพทย์ในสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 อีกครั้ง

เครื่องตรวจตาระยะไกล ทางเลือกความปลอดภัยเครื่องมือแพทย์ยุคโควิด-19

จากจุดเริ่มต้นของเครื่องตรวจตาทางไกล เมื่อปี 2548 ทีมวิจัยและพัฒนาได้ทำการปรับปรุงและแก้ไขให้ตัวเครื่องสามารถนำไปขยายผลได้ในวงกว้าง จากเดิมที่ต้องใช้กล้องจักษุจุลทรรศน์เก่ามาปรับปรุง สู่การพัฒนาต้นแบบเครื่องตรวจตาทางไกลแบบใหม่ โดยเป็นอุปกรณ์ที่สามารถผลิตได้เองไม่ต้องใช้เครื่องสำเร็จมาปรับปรุงอย่างที่ผ่านมา จนมาสู่ “เครื่องตรวจตาทางไกลด้วยแถบลำแสงแคบกึ่งอัตโนมัติ (Semi-Autonomous Slit-Lamp Microscope for Eye Tele-Analyzer) ในปีพ.ศ.2560 

โดยเครื่องตรวจตาทางไกลด้วยแถบลำแสงแคบกึ่งอัตโนมัติ อาศัยแหล่งกำเนิดแถบลำแสงแคบจาก Slit Lamp หรือ กล้องจุลทรรศน์ที่มีกำลังขยายสูง ทำให้จักษุแพทย์สามารถมองเห็นองค์ประกอบภายในดวงตาได้อย่างชัดเจน 

ดร.รังสฤษฏ์ อธิบายว่า “แถบลำแสงแคบเป็นแหล่งกำเนิดแสงชนิดหนึ่งที่ทางจักษุแพทย์ใช้อยู่แล้วในการตรวจตาผู้ป่วย ซึ่งลำแสงแคบจะใช้ตรวจโครงสร้างของดวงตา โครงสร้างของกระจกตาหรือว่าม่านตาได้ โดยฟังก์ชันการทำงานของเครื่องตรวจตาทางไกลจะสอดคล้องกับกล้องจักษุจุลทรรศน์” 

เครื่องตรวจตาทางไกลฯ ประกอบด้วยแหล่งกำเนิดแสง 3 แบบ ดังนี้ 

  1. แสงสีขาวนวล (Ambient Light) ใช้ดูลักษณะทั่วไปของดวงตาส่วนหน้า  
  2. แถบลำแสงแคบ (Slit-Lamp) เป็นลำแสงรูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส ลักษณะแบน ส่องไปที่ดวงตาเพื่อทำให้มองเห็นลักษณะของดวงตา เปรียบเสมือนการแสดงผลข้อมูล 3 มิติของดวงตา 
  3. แสงสีฟ้า (Blue Light) จะใช้ร่วมกับการย้อมสีดวงตาเพื่อดูว่าส่วนใดของดวงตามีการอักเสบ 

โดยแหล่งกำเนิดแสงทั้ง 3 จะใช้ในการตรวจโรคส่วนหน้าของดวงตา เช่น โรคต้อเนื้อ โรคต้อกระจก การอักเสบของกระจกตา การอักเสบของถุงน้ำตา เป็นต้น 

ด้วยจุดมุ่งหมายในการพัฒนาเพื่อประชาชน ในการคัดกรองโรคเบื้องต้น ไม่ใช่การทดแทนกล้องจักษุจุลทรรศน์ จึงทำให้เครื่องตรวจตาทางไกลฯ ได้ลดคุณสมบัติบางอย่างที่กล้องจักษุจุลทรรศน์มี และเพิ่มคุณสมบัติส่วนอื่นที่กล้องจักษุจุลทรรศน์ขาดไป เช่น การพัฒนาเครื่องต้นแบบให้มีขนาดเล็ก เคลื่อนย้ายได้สะดวก มีระบบประมวลผลภาพโดยอัตโนมัติ โดยมีความละเอียดและกำลังขยายของภาพที่น้อยกว่ากล้องจักษุจุลทรรศน์โดยทั่วไป จึงทำให้ไม่สามารถตรวจโรคบางชนิดได้ เช่น การอักเสบภายในดวงตา เป็นเซลล์ที่ปรากฏภายในดวงตา มีลักษณะคล้ายฝุ่นเล็กๆ เป็นต้น

โดยเครื่องที่พัฒนาขึ้นจะต้องไม่ทำให้การประเมินโรคในเบื้องต้นผิดพลาดและเพียงพอที่จักษุแพทย์จะใช้ในการตัดสินใจว่าควรแจ้งให้ผู้รับการตรวจเดินทางเข้ามารับการวินิจฉัยด้วยกล้องจักษุจุลทรรศน์โดยตรงในลำดับถัดไปหรือไม่อย่างไร

และฟังก์ชันที่เป็นไฮไลต์สอดรับกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คือ การควบคุมกล้องจากระยะไกล “แพทย์สามารถควบคุมตัวกล้องผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้ใน 3 แกนหลัก คือ ขึ้น-ลง ซ้าย-ขวา และเข้า-ออก เพื่อปรับความชัดและตำแหน่งของภาพได้ นอกจากนี้ยังสามารถบังคับมุมที่ทำให้ลำแสงแคบตกกระทบกับตัวดวงตาได้อีกด้วย” ดร.รังสฤษฏ์ กล่าวเสริม 

อย่างไรก็ตาม เครื่องตรวจตาทางไกลดังกล่าวไม่ได้รับการขยายผลอย่างกว้างขวางด้วยข้อจำกัดในเรื่องระยะเวลาในการตรวจที่มากขึ้น เมื่อเทียบกับกล้องจักษุจุลทรรศน์ ดร.รังสฤษฏ์ เล่าว่า “จากผลการศึกษาวิจัยปรากฏว่าเวลาที่แพทย์ใช้เครื่องตรวจตาทางไกลจะใช้เวลาในการตรวจมากขึ้นประมาณ 2 เท่า เดิมถ้าใช้กล้องจักษุจุลทรรศน์จะใช้เวลาประมาณเฉลี่ย 2.8 นาที แต่เวลาใช้กล้องตรวจตาทางไกลใช้ประมาณ เวลาประมาณ 4.9 นาที” 

สำหรับการใช้งานเครื่องตรวจตาทางไกลในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้น ระยะเวลาการตรวจที่เพิ่มขึ้น จากความไม่สะดวกในการควบคุมทางไกลด้วยคีย์บอร์ด หรือ จอยสติ๊ก เมื่อเทียบกับการปรับกล้องจักษุจุลทรรศน์โดยใช้มือ หรือ ความหน่วงที่อาจเกิดขึ้นได้จากสัญญาณอินเทอร์เน็ต นั้นอาจเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ เมื่อเทียบกับข้อดีในเรื่องการรักษาระยะห่างระหว่างแพทย์และผู้ป่วย ลดโอกาสในการติดเชื้อโควิด-19 

“ปัจจุบัน เราก็ได้นำตัวเครื่องไปติดตั้งที่โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ วัดไร่ขิง จังหวัดนครปฐม หวังว่าทางโรงพยาบาลจะนำไปใช้เพื่อที่จะลดอัตราเสี่ยงความเสี่ยงของจักษุแพทย์ จะได้ไม่ต้องไปสัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรง จะทำให้ลดความเสี่ยงต่อการติดโรคโควิด-19 สำหรับจักษุแพทย์” ดร.รังสฤษฏ์ กล่าวทิ้งท้าย