เนคเทค สวทช. ส่งเทคโนโลยีสนับสนุนภารกิจสภากาชาดไทยและภาคีเครือข่าย ให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 แก่ผู้หนีภัยการสู้รบและกลุ่มชาติพันธุ์ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน
สภากาชาดไทยร่วมกับภาคีเครือข่ายให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เชิงรุก สำหรับผู้หนีภัยการสู้รบที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน ช่วยลดความรุนแรงของการเจ็บป่วย และเสียชีวิต สร้างภูมิคุ้มกันหมู่ของคนในประเทศ ณ พื้นที่พักพิงชั่วคราวผู้หนีภัยการสู้รบบ้านถ้ำหิน อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี
วันที่ 25 ตุลาคม 2564 เวลา 10.30 น. ณ ที่ทำการศูนย์พักพิงชั่วคราวบ้านถ้ำหิน อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี นายอภิชาติ ชินวรรโณ ผู้ช่วยเลขาธิการสภากาชาดไทย ฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ ในฐานะผู้แทนเลขาธิการสภากาชาดไทยได้เป็นประธานในการเปิดงานฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เชิงรุก สำหรับผู้หนีภัยการสู้รบที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน โดยมีนายรณภพ เหลืองไพโรจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรีได้กล่าวต้อนรับคณะผู้บริหารจากสภากาชาดไทยและผู้แทนสานักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UNHCR) ผู้แทนสหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ (IFRC) ผู้แทนคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้มีส่วนร่วมกับสภากาชาดไทยในการดำเนินงานตามโครงการให้บริการฉีดวัคซีนครั้งนี้ด้วย
ขณะเดียวกัน นายกฤษฎา บุญราช ผู้ช่วยเลขาธิการสภากาชาดไทย ได้กล่าวถึงความร่วมมือในการปฏิบัติงานของสภากาชาดไทย ซึ่งการให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เชิงรุก เป็นการดำเนินงานตามหลักมนุษยธรรม ช่วยเหลือบรรเทาความทุกข์ยากแก่เพื่อนมนุษย์ที่ยากไร้ เดือดร้อน และไร้โอกาส ให้ได้รับความช่วยเหลืออย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งการได้รับวัคซีนฯ ครอบคลุมทุกคนอย่างรวดเร็ว จะช่วยลดความรุนแรงของการเจ็บป่วยและเสียชีวิตได้อย่างมาก รวมทั้งเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ของคนในประเทศ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วน ต้องระดมความร่วมมือกันให้คนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ทั้งคนไทย ประชากรข้ามชาติ หรือกลุ่มชนชาติพันธุ์กลุ่มต่างๆที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางต่างๆ ซึ่งมีความเสี่ยงที่เจ็บป่วยรุนแรงหรือเสียชีวิตหากติดเชื้อโควิด-19 และมีความยากลำบากในการเข้าถึงบริการ ให้ได้รับการฉีดวัคซีนฯ ได้อย่างรวดเร็วและครอบคลุมให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะการให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 (ซิโนฟาร์ม) ซึ่งสภากาชาดไทยได้มอบหมายสำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ นำไปฉีดให้แก่กลุ่มเปราะบาง ทั้งคนไทย และประชากรข้ามชาติ โดยไม่เลือกเชื้อชาติ ชนชั้น วรรณะ ศาสนา เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ลดความรุนแรงในการเจ็บป่วยและเสียชีวิต ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสภากาชาดไทย หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และองค์กรด้านมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ดำเนินการตั้งแต่เดือนกันยายน 2564 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน โดยให้บริการฉีดวัคซีนฯ ไปแล้ว จำนวน 18,211 โดส
สำหรับการปฏิบัติงานฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เชิงรุก ให้แก่ผู้หนีภัยจากการสู้รบที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน ณ ศูนย์พักพิงชั่วคราวฯ บ้านถ้ำหิน อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ได้กำหนดวันปฏิบัติงาน ฉีดวัคซีนฯ เข็มที่ 1 คือ วันที่ 25–26 ตุลาคม 2564 โดยมีผู้รับบริการฉีดวัคซีนฯ จำนวน 1,295 คน และเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างสภากาชาดไทย กระทรวงมหาดไทย จังหวัดราชบุรี โรงพยาบาลสวนผึ้ง IRC UNHCR โดยการสนับสนุนจาก IFRC ICRC ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) (NT) และบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จากัด (มหาชน) (AIS)
โดยกำหนดการปฏิบัติงานฉีดวัคซีนฯ เข็มที่ 2 ในเดือนพฤศจิกายน 2564 ซึ่งการปฏิบัติงานครั้งนี้ ได้มีการนำระบบบริการฉีดวัคซีนฯ ที่มีการบันทึกข้อมูลของผู้ฉีดวัคซีนฯ ด้วยระบบเทคโนโลยีแบบ Face Verification และ Iris recognition ที่ได้รับการพัฒนาโดยเนคเทค และ iRespond พร้อมเชื่อมโยงข้อมูลกับระบบหมอพร้อมของกระทรวงสาธารณสุข (Moph IC) เพื่อลงทะเบียนฉีดวัคซีนให้กับผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทยและไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎร์ ซึ่งใช้วิธีกำหนดรหัสประจำตัวบุคคลด้วยการขึ้นต้นด้วยตัวอักษร 1 ตัว ตามด้วยหมายเลข 13 หลักเป็นการชั่วคราวให้กับผู้รับวัคซีนฯ ทั้งนี้ ในโอกาสต่อไป เมื่อสภากาชาดไทยสามารถจัดหาวัคซีนหรือได้รับบริจาควัคซีนจากองค์กรต่างๆได้มากขึ้นก็จะขยายการฉีดวัคซีนไปยังประชากรกลุ่มต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ทั่วประเทศไทยต่อไป
การดำเนินงานครั้งนี้นอกจากสภากาชาดไทยจะได้รับความอนุเคราะห์อย่างดียิ่งจาก หน่วยงานข้างต้นแล้ว สภากาชาดไทยยังได้รับความร่วมมือและความเสียสละจากทีมงาน อสม. และอาสาสมัครภาคประชาสังคมทุกท่านซึ่งมีส่วนร่วม และขับเคลื่อนให้การปฏิบัติงาน มีความพร้อมในการให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เชิงรุก แก่ผู้หนีภัยจากการสู้รบฯ ราบรื่นด้วยดีทุกประการ ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ในการปฏิบัติงานครั้งนี้ คือการมุ่งหวังในการป้องกัน ควบคุมการแพร่ระบาด และลดความรุนแรงจากการเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตจากโควิด-19 แล้ว สิ่งที่ยิ่งใหญ่ คือ การยื่นมือเข้าช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่ตกทุกข์ได้ยาก โดยไม่เลือกเชื้อชาติ ชนชั้น วรรณะ ศาสนา เป็นความเห็นอกเห็นใจ และเอื้ออาทรต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
นายกฤษฎา บุญราช ผู้ช่วยเลขาธิการ สภากาชาดไทย ยังได้กล่าวในรายงานความร่วมมือตามโครงการให้บริการฉีดวัคซีนในตอนท้ายว่า สภากาชาดไทยหวังว่าการปฏิบัติงานให้ความช่วยเหลือแก่ผู้หนีภัยจากการสู้รบในครั้งนี้ จะเป็นการจุดประกายความร่วมมือในการทางานด้านมนุษยธรรมระหว่างหน่วยงานทุกภาคส่วน ทั้งองค์กรภายในประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศต่อไปในอนาคต ดังพระราชดำรัสของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย ซึ่งพระราชทานไว้ว่า “งานของสภากาชาดนั้น นอกจากจะเป็นการช่วยเหลือผู้ที่สมควรจะได้รับการสงเคราะห์ ซึ่งเป็นคนในประเทศแล้วยังเกี่ยวกับการสงเคราะห์บุคคลที่กำลังตกทุกข์ได้ยากทั่วๆ ไป เป็นงานที่กระทำเพื่อมนุษยธรรมอย่างแท้จริง ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของมนุษย์ทุกๆ คนที่จะทำงานช่วยเหลือเพื่อนร่วมโลกด้วยกัน”
ในการนี้ มีผู้บริหารสภากาชาดไทย และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมงานดังกล่าว พร้อมตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจ แพทย์ พยาบาล อาสาสมัคร และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานต่อไป