4 ขั้นตอนการเลือกซื้อหลอดไฟ LED

Facebook
Twitter

ปัจจุบันหลอดไฟ LED กลายเป็นหนึ่งในอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ได้รับความนิยมสำหรับผู้บริโภคเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นแหล่งกำเนิดแสงที่มีประสิทธิภาพสูง อายุการใช้งานยาวนานกว่าหลอดไฟชนิดอื่นๆ และแสงไฟที่ไม่เป็นอันตราย ด้วยเหตุนี้ทำให้มีผู้เข้ามาประกอบกิจการด้านหลอดไฟ LED เป็นจำนวนมาก ซึ่งส่งผลให้ผู้ใช้งานมีตัวเลือกในการเลือกซื้อหลอดไฟ LED มากขึ้นเช่นเดียวกัน หากเราเลือกซื้อหลอดไฟ LED ที่ไม่ได้คุณภาพ อาจนำมาซึ่งอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของเราได้

วันนี้ เนคเทคจึงได้รวบรวมเทคนิคที่จะช่วยให้การเลือกซื้อหลอดไฟ LED ของทุกคนเป็นเรื่องที่ง่ายยิ่งขึ้น

Cinque Terre
 [Download PDF]

4 ขั้นตอนการเลือกซื้อหลอดไฟ LED ที่ปลอดภัย

1. ทำได้ง่ายๆ โดยการสำรวจจุดใช้งานภายในบ้าน ว่าต้องการแสงสว่างมากน้อยเพียงใด เพื่อเลือกประเภทของหลอดไฟ ให้เหมาะสมกับการใช้งาน ประเภทหลอดไฟนั้น แบ่งตามทิศทางของแสงได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ แบบมีทิศทาง และแบบไม่มีทิศทาง (กระจายแสงรอบรอบตัว) เมื่อได้ประเภทหลอดที่ต้องการแล้วอย่าลืมตรวจสอบขั้วหลอดไฟที่ติดตั้งอยู่ด้วยว่าเป็นขั้วลักษณะใด เนื่องจากหลอดไฟแต่ละรุ่น/ประเภท มีขั้วหลอดที่ต่างกัน

ประเภทหลอดไฟที่นิยมในประเทศไทย ได้แก่

  • หลอดรูปทรงถ้วย (MR)
ecec_led
  • หลอดรูปทรงพาร์ (PAR) หรือทรงดอกเห็ด
ecec_led
  • หลอด Bulb หรือ หลอดทรงลูกแพร์
ecec_led
  • หลอดรูปทรงท่อตรง (TUBE) หลอดไฟชนิดนี้รูปร่างเหมือนกับหลอดฟลูออเรสเซนต์ มีขนาดตามเส้นผ่านศูนย์กลาง ได้แก่ หลอด T5 (⌀ 5 หุน) และหลอด T8 (⌀ 8 หุน)
ecec_led
ประเภทขั้วหลอด LED
  • ขั้วเข็มเสียบชนิด GU5.3 และ GU10
  • ขั้วเกลียวขนาด E14 และ E27
  • ขั้วเกลียวขนาด E14 และ E27
  • ขั้วแบบเขี้ยว ชนิด G5 และ G13
ecec_led

2. ตรวจสอบเบื้องต้นว่าหลอดไฟที่ต้องการนั้นสามารถเปิดติดในทันทีได้เลยหรือไม่ โดยทางร้านจำหน่ายมักจะมีจุดบริการทดสอบหลอดไฟ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าหลอดไฟที่ซื้อไปสามารถใช้งานได้ตามปกติ และจากนั้นเลือกโทนสีของแสง โดยที่นิยมคือ แบบ Warm White หรือสีโทนอุ่น สีโทนเหลือง ส้ม ให้แสงนวลตา มักใช้ในห้องนอน, โต๊ะอ่านหนังสือ และโต๊ะอาหาร เป็นต้น และแบบ Daylight หรือโทนเย็น ให้แสงสว่างตา มักใช้ในสถานที่ทำงาน, โรงพยาบาล และโต๊ะเสริมสวย เป็นต้น

3. คุณสมบัติอื่นๆ ที่ควรพิจารณา เพื่อประกอบการตัดสินใจ เช่น กําลังไฟฟ้าที่ใช้ประสิทธิภาพของหลอด อายุการใช้งาน และการคงความสว่าง ความคงทนของหลอด ความคงเส้นคงวาของสี และปัญหาสีผิดเพี้ยนเมื่อใช้เป็นเวลานาน

4. บนผลิตภัณฑ์มีเครื่องหมายรับรองคุณภาพ เช่น ฉลากประหยัดไฟ เบอร์ 5, เครื่องหมาย มอก. (มอก.1955) รวมถึง มีเครื่องหมายรับรองเนคเทค (NECTEC Mark) ที่ผ่านการทดสอบ 5 ด้านครอบคลุมมาตรฐาน มอก. และมีส่วนเพิ่มเติมจากมาตรฐาน มอก. เพื่อยกระดับความปลอดภัย และประสิทธิภาพการใช้งานให้มากขึ้น ดังนี้

  • ด้านความปลอดภัย
  • ด้านความเข้ากันได้ทางแม่เหล็กไฟฟ้า
  • ด้านความทนทาน
  • ด้านสมรรถนะการใช้พลังงาน
  • ด้านสมรรถนะการทำงาน

ถึงแม้หลอดไฟ LED จะสร้างความสะดวกสบายให้กับชีวิตของเรา แต่เรื่องของความปลอดภัยก็มีความจำเป็นเช่นกัน ดังนั้นทุกครั้งที่ตัดสินใจซื้อหลอดไฟ LED จะต้องซื้อหลอดไฟที่เข้ากับการใช้งานของผู้ใช้และผ่านการรับรองคุณภาพ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าหลอดไฟของเรามีมาตรฐาน สามารถใช้งานได้นาน มีความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน

ด้วยความห่วงใย จาก งานรับรองคุณภาพบริภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ 

ภาพและบทความ โดย สุรสิทธิ์ เหลาภา, กรรวี แก้วมูล