ทีมเยาวชนไทยคว้ารางวัลใหญ่จาก Intel ISEF 2019 -เนคเทค สวทช. และ หน่วยงานพันธมิตร ร่วมต้อนรับ

Facebook
Twitter
Intel ISEF 2019

เนคเทค สวทช. และ หน่วยงานพันธมิตร ร่วมแสดงความยินดี ต้อนรับทีมเยาวชนไทย คว้ารางวัลใหญ่แกรนด์อวอร์ด และรางวัลพิเศษ จากการแข่งขันโครงการวิทยาศาสตร์สำหรับเยาวชนระดับโลก Intel International Science and Engineering Fair ครั้งที่ 70 (Intel ISEF 2019)

วันจันทร์ที่ 20 พฤษภาคม 2562 สนามบินสุวรรณภูมิ คณะผู้บริหารสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) นางกุลประภา นาวานุเคราะห์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นายเจษฎา จงสุขวรากุล รักษาการผู้อำนวยการฝ่ายความร่วมมือระหว่างประเทศ และประชาสัมพันธ์ (เนคเทค) นายสุวรงค์ วงษ์ศิริ รองผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ร่วมแสดงความยินดีและให้การต้อนรับ ทีมเยาวชนไทย 41 ท่าน คณะอาจารย์ พร้อมด้วย ดร.กัลยา อุดมวิทิต รองผู้อำนวยการเนคเทค ดร.อ้อมใจ ไทรเมฆ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสวทช. และรศ.ดร.ทิพาพร ลิมปเสนีย์ อุปนายกสมาคมฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และกิจกรรมต่างประเทศ สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เดินทางกลับจากการแข่งขันประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ Intel International Science and Engineering Fair ครั้งที่ 70 (Intel ISEF 2019) พร้อม 5 รางวัลใหญ่ แกรนด์อวอร์ด (Grand Awards) ในสาขาเคมี ซอฟต์แวร์ พืช และพลังงานกายภาพ และรางวัลพิเศษอีก 3 รางวัล เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2562 ณ เมืองฟีนิกส์ มลรัฐแอริโซนา ประเทศสหรัฐอเมริกา

5 รางวัลใหญ่ แกรนด์อวอร์ด (Grand Awards) ในสาขาเคมี ซอฟต์แวร์ พืช และพลังงานกายภาพ ประกอบด้วย

Intel ISEF
1. “กังหันลมบบไฮบริดสำหรับผลิต กระแสไฟฟ้าและเทคนิคการเพิ่มประสิทธิภาพด้วยวงแหวนแม่เหล็กถาวร” ได้รับรางวัลที่ 3 ในสาขาพลังงานกายภาพ พร้อมทุนการศึกษา 1,000 เหรียญสหรัฐฯ
พัฒนาโดย นายรังสิมันต์ กุลเพชรจิระ นายวรวิช ศรีคำภา นายจิตรภณ ขจรภิรมย์ อาจารย์ที่ปรึกษา นายจรูญ เถื่อนกูล โรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม จังหวัดพิษณุโลก
Intel ISEF
2. โครงงาน “เบ้ากุดจี่เทียมสำหรับเพาะปลูกเมล็ดพันธุ์พืช” ได้รับรางวัลที่ 3 ในสาขาวิทยาศาสตร์พืช พร้อมทุนการศึกษา 1,000 เหรียญสหรัฐฯ
พัฒนาโดย นายธีรกานต์ วรรณกาญจน์ นางสาวสุทธิดา เอี่ยมสอาด อาจารย์ที่ปรึกษา นายนิรันดร์ เหลืองสวรรค์ โรงเรียนพนมสารคาม “พนมอดุลวิทยา” จังหวัดฉะเชิงเทรา
Intel ISEF
3. โครงงาน “การพัฒนานวัตกรรมชุดทดสอบเซนเซอร์เชิงสีเพื่อตรวจวัดปริมาณคลอรามีนในสระว่ายน้ำโดยตรง: แนวคิดใหม่ในการอนุรักษ์ ทรัพยากรน้ำ” ได้รับรางวัลที่ 4 ในสาขาเคมี พร้อมทุนการศึกษา 500 เหรียญสหรัฐฯ
พัฒนาโดย นางสาวอธิชา สันติลินนท์ นายณัฐประวีร์ ปัถยาวิชญ์ และนายณภัทร สัจจมงคล อาจารย์ที่ปรึกษา นายเกียรติภูมิ รอดพันธ์ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นตัวแทนเยาวชนไทยจากการแข่งขันโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ ครั้งที่ 21 (Young Scientist Competition 2019: YSC 2019) จากเวที มหกรรมประกวดเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 18 (The Eighteenth Thailand IT Contest Festival: IT 2019) จัดโดย เนคเทคและหน่วยงานพันธมิตร เมื่อเดือนมีนาคม 2562

คลอรามีนคือสารที่สามารถพบได้ทั่วไปในสระว่ายน้ำ โดยเกิดขึ้นจากคลอรีนทำปฏิกิริยากับสารประเภทเอมีน คลอรามีนเป็นสารที่ทำให้เกิดกลิ่นในสระว่ายน้ำ ก่อให้เกิดอาการระคายเคืองต่อผิวและดวงตา และจากการศึกษา in vitro ยังสามารถก่อให้เกิดการกลายพันธุ์ได้ ซึ่งวิธีทั่วไปในการวัดปริมาณคลอรามีนในน้ำ วัดจากการหาปริมาณคลอรีนทั้งหมดลบด้วยปริมาณคลอรีนอิสระ ซึ่งอาจทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนและต้องสูญเสียทรัพยากรน้ำในบางกรณีที่ไม่จำเป็น ดังนั้นโครงการนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะพัฒนาชุดทดสอบที่สามารถตรวจวัดคลอรามีนโดยตรง ซึ่งชุดทดสอบจะมีสองส่วนคือสารในขวดทดสอบที่จะทำปฏิกิริยาพอดีกับปริมาณคลอรามีนที่กำหนด และสารที่หยดภายหลังเพื่อทำปฏิกิริยากับคลอรามีนส่วนที่เหลือเกิดจากเกณฑ์กำหนด โดยเริ่มต้นแบบการพัฒนาชุดทดสอบจากการใช้อนุภาคนาโนโซเดียมไอโอไดด์ในเกลียวอะไมโลสและเบนซิลแอลกอฮอล์ แต่เนื่องจากเบนซิลแอลกอฮอล์ละลายน้ำได้เล็กน้อย จึงปรับปรุงการทดลองโดยใช้โซเดียวไอโดไดด์โหลดไคโตซาน-อัลจิเนตนาโนแคปซูลและโซเดียมซาลิซิเลต อย่างไรก็ตามการทดสอบคลอรามีนต้องทำที่ pH เป็นเบส และอัลจิเนตจับตัวกันได้ไม่ดีที่ pH สูงๆ จึงได้มีการพัฒนาสู่ชุดทดสอบที่ทดสอบด้วยสารละลายโซเดียมซาลิซีเลตรีเอเจนต์ แล้วจึงสารละลายโซเดียมไอโอไดด์กับแป้งตามลงไป ถ้าในน้ำทดสอบมีคลอรามีนเกินเกณฑ์ที่กำหนดสารจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงิน แต่ถ้าปริมาณคลอรามีนน้อยกว่าเกณฑ์กำหนดจะยังคงเป็นใสไม่มีสี ซึ่งได้ผลการทดสอบที่มีประสิทธิภาพในการตรวจวัดปริมาณคลอรามีนโดยตรง ผลงานวิจัยโดยสรุป ชุดทดสอบนี้จึงมีประสบความสำเร็จในการใช้วัดปริมาณคลอรามีนโดยตรง ได้ถึงระดับ 3ppm ซึ่งเป็นเกณฑ์มาตรฐานของสระว่ายน้ำส่วนใหญ่ และยังสามารถปรับระดับเกณฑ์การวัดคลอรามีนได้ตามความต้องการของผู้ใช้งาน จึงสามารถใช้ได้จริงกับสระว่ายน้ำในทุกๆ แห่ง

intel ISEF
4. โครงงาน “การประมวลผลปริมาณเนื้อข้าวโพดหวาน ด้วยวิธีการ Image Processing” ได้รับรางวัลที่ 4 ในสาขาซอฟตแวร์ระบบ พร้อมทุนการศึกษา 500 เหรียญสหรัฐฯ
พัฒนาโดย นางสาวณีรนุช สุดเจริญ นางสาวชนิกานต์ พรหมแพทย์ นางสาวพรชนัญญ์ มั่งมีธนพิบูลย์ อาจารย์ที่ปรึกษา นายศักดิ์นรินทร์ จันทร์นาค โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี
Intel ISEF
5. โครงงาน “การพัฒนาไฮโดรเจลสำหรับกำจัดหอย ที่เป็นศัตรูพืชในทางการเกษตรจากยางไม้ ในท้องถิ่น” ได้รับรางวัลที่ 4 ในสาขาวิทยาศาสตร์พืช พร้อมทุนการศึกษา 500 เหรียญสหรัฐฯ
พัฒนาโดย นางสาวนัทธมน ศรีพรม นางสาวรมิตา เชื้อเมืองพาน นางสาวพันธ์อนงค์ ชื่นโชคชัย อาจารย์ที่ปรึกษา นายสุธิพงษ์ ใจแก้ว โรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์ จังหวัดเชียงราย

รางวัลพิเศษ 3 รางวัลจากงาน Intel ISEF ประกอบด้วย

Intel ISEF
1.โครงงาน “การพัฒนาสารเคลือบเมล็ดพันธุ์อุ้มน้ำ จากยางไม้ในท้องถิ่นเพื่อเพิ่มอัตราการรอดตาย ของข้าวไร่ในสภาวะขาดน้ำเนื่องจากฝนทิ้งช่วง” ได้รับรางวัล Special Award อันดับที่ 2 จาก USAID องค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (United States Agency for International Development-USAID) พร้อมทุนการศึกษา 3,000 เหรียญสหรัฐฯ
พัฒนาโดย น.ส.น้ำผึ้ง ปัญญา นายเจษฎา สิทธิขันแก้ว นายพิรชัช คชนิล และอาจารย์ที่ปรึกษา นายเกียรติศักดิ์ อินราษฎร โรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์ จังหวัดเชียงราย
2. โครงงาน “เบ้ากุดจี่เทียมสำหรับเพาะปลูกเมล็ดพันธุ์พืช” ได้รับรางวัลที่ 2 ในสาขาชีวภาพจากสมาคมวิจัยทางวิทยาศาสตร์ Sigma Xi พร้อมทุนการศึกษา 1,000 เหรียญสหรัฐฯ
พัฒนาโดย นายธีรกานต์ วรรณกาญจน์ นส.สุทธิดา เอี่ยมสอาด และ อาจารย์ที่ปรึกษา นายนิรันดร์ เหลืองสวรรค์ โรงเรียนพนมสารคาม “พนมอดุลวิทยา” จังหวัดฉะเชิงเทรา
Intel ISEF
3. โครงงาน “การสังเคราะห์อนุภาคนาโนของเหล็กบน คาร์บอนจากน้ำมันหมูเหลือใช้เพื่อเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาในเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าจากน้ำทะเล” ได้รับรางวัลเกียรติบัตรชมเชย จากสมาคมเคมีแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา
พัฒนาโดย นายปุถุชน วงศ์วรกุล นายชวิศ แก้วนุรัชดาสร นางสาวภัทรนันท์ บุญชิต อาจารย์ที่ปรึกษา นายภาณุพงศ์ ภูทะวัง โรงเรียนกำเนิดวิทย์ จังหวัดระยอง

สำหรับ งาน Intel International Science and Engineering Fair ครั้งที่ 70 (Intel ISEF 2019) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 12 – 17 พฤษภาคม 2562 ณ เมืองฟินิกส์ มลรัฐแอริโซนา ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นการประกวดผลงานทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ระดับมัธยมศึกษาที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีผู้เข้าร่วมแข่งขันจากทั่วโลกกว่า 80 ประเทศ ผู้เข้าร่วมแข่งขันมากถึง 1,886 คน โดยประเทศไทยได้ส่งผลงานเยาวชนไทยเข้าร่วมถึง 17 โครงงาน โดยการสนับสนุนของหลายหน่วยงาน ได้แก่ สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) มูลนิธิอินเทล ธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นต้น ซึ่งในปีนี้ได้สร้างชื่อและประสบความสำเร็จคว้ารางวัลกลับมาฝากคนไทยมากถึง 8 รางวัล

Intel ISEF