บทความ | ปวีณา ครุฑธาพันธ์ และศุภรา พันธุ์ติยะ
Digital Transformation เป็นการปรับเปลี่ยนกระบวนการแบบดั้งเดิมให้ไปสู่ความเป็นดิจิทัล หากยังไม่ปรับตัว อาจจะไปไม่รอด สิ่งสำคัญที่จะช่วยทำให้เกิดการ Transform ก็คือ การสร้างนวัตกรรม หรือ Innovation หรือการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เป็นเครื่องมือในการปรับกลยุทธ์ รวมถึงการสื่อสารให้เกิดประสิทธิภาพ และเข้าถึงกลุ่มคนเป้าหมายได้ชัดเจนและเกิดประโยชน์สำหรับการนำไปใช้
ในยุคนี้ที่ใคร ๆ ก็ต้องการสร้างนวัตกรรมเป็นของตนเอง การสร้างดิจิทัลทรานฟอร์เมชั่น ในรูปแบบแพลตฟอร์มเริ่มมีความชัดเจน และเริ่มใช้เป็นเครื่องมือหลักในการแข่งขันยุคเศรษฐกิจดิจิทัล มีการทำนวัตกรรมให้ล้ำสมัย และมีการนำข้อมูลที่ผ่านการสะสมข้อมูลให้มีขนาดใหญ่มากขึ้นมีความหลากหลายถึงขึ้นเรียกว่า Big Data แล้วนำมาวิเคราะห์ มีระบบเชื่อมต่อเป็น Open API ไปสู่แนวคิดเกิดเป็นระบบนิเวศ (Ecosystem) พัฒนาให้ระบบนำไปสู่การสร้างเศรษฐกิจดิจิทัล Data & Analytics การนำชุดข้อมูลมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เป็นกระบวนการที่เกิดการ transform อย่างหนึ่ง จาก Data ไปสู่ Big Data โดยใช้ Innovation และจะทำให้เกิดธุรกิจการสร้างรายได้จาก Data ข้อมูลจึงเปรียบเสมือนสินทรัพย์ที่มีค่า ใครรู้จักใช้จะได้ประโยชน์
NECTEC กับ Big Data Analytics
การทำ Big Data Analytics ให้ได้ประสิทธิภาพจำเป็นต้องมีแพลตฟอร์มประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนประเทศตามยุทธศาสตร์ (Strategic Big Data Platform) ทีมนักวิจัยเนคเทคจึงมุ่งเน้นการพัฒนาแพลตฟอร์มประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนประเทศตามยุทธศาสตร์ในด้านต่างๆ ใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในระดับประเทศที่สนับสนุนการดำเนินการด้าน Big Data Analytics ของหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน การดำเนินงานในระยะแรกจะมุ่งเน้นที่การวิเคราะห์ข้อมูลประชากร การรวบรวมฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องในระดับประเทศมาผ่านการเชื่อมโยงข้อมูลขนาดใหญ่จากหลายภาคส่วน และจะขยายผลไปยังข้อมูลในด้านอื่นๆ ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติโดยใช้ข้อมูลเป็นตัวขับเคลื่อน แบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่
1. ระบบสนับสนุนการตัดสินใจเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนประเทศตามยุทธศาสตร์
เป็นระบบวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Analytics) ด้านความยากจน การพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต และข้อมูลอื่นๆ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ร่วมกับ เนคเทค ในการดำเนินการพัฒนาระบบ Big Data Analytics ของภาครัฐ ในประเด็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ทั้งในด้านการเพิ่มรายได้ ลดภาระค่าครองชีพ และเพิ่มโอกาสด้านอาชีพ
TPMAP :Thai People Map and Analytics Platform
TPMAP เป็นระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า สามารถใช้ระบุปัญหาความยากจน 5 มิติ ได้แก่ การศึกษา สุขภาพ รายได้ ความเป็นอยู่ และการเข้าถึงบริการรัฐ ลงลึกตั้งแต่ระดับประเทศ ถึงระดับรายบุคคล ทำให้การแก้ปัญหาตรงกับกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น สามารถออกแบบนโยบายในการแก้ปัญหาให้ตรงกับความต้องการหรือสภาพปัญหาได้
TPMAP ช่วยในการวางแผนและปฏิบัติการแก้ไขปัญหาความยากจน รวมทั้งการมีระบบติดตาม/ตรวจสอบการใช้ข้อมูล ซึ่งภาครัฐได้ให้ความสำคัญโดยมีพิธีลงนามในบันทึกความร่วมมือด้านการบูรณาการข้อมูลภาครัฐระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมโยงฐานข้อมูลสวัสดิการต่าง ๆ ของรัฐให้เป็นฐานเดียวสามารถเข้าถึงข้อมูลและนำข้อมูลมาประเมินผลและสามารถช่วยเหลือประชาชนมีรายได้น้อยให้ได้รับการบริการขั้นพื้นฐาน
ปัจจุบันได้นำเสนอระบบให้แก่ ส่วนราชการ เช่น จังหวัดเชียงใหม่ สมุทรสงคราม ปทุมธานี มุกดาหาร นครพนม เพื่อติดต่อขอใช้ข้อมูล TPMAP ไปใช้ประโยชน์ ตัวอย่างเช่น จังหวัดสมุทรสงครามใช้ข้อมูล TPMAP เชิงลึกลงพื้นที่จริง กำลังแก้ปัญหาความยากจน และจังหวัดปทุมธานีนำข้อมูล TPMAP ไปใช้ชี้เป้าครัวเรือนที่ยากจน ของบประมาณโครงการแก้จน สำหรับประชาชนทั่วไปที่สนใจ สามารถเข้าถึงได้ผ่าน https://www.tpmap.in.th/
eMENSCR : ระบบติดตามและประเมินผลแห่งชาติ
ระบบรายงานการติดตามและประเมินผลของ ยุทธศาสตร์ชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ และแผนระดับต่างๆ ของประเทศ เป็นช่องทางให้หน่วยงานภาครัฐทุกภาคส่วน ใช้ในการรายงานโครงการและผลการดำเนินงานเป็นช่องทางให้ คณะกรรมการ ต่างๆ เช่น คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ใช้ติดตามและตรวจสอบผลการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ข้อมูลจากระบบใช้เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายให้มีทิศทางที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ
ข้อมูลปัจจุบัน มีหน่วยงานภาครัฐเข้ามาใช้ระบบ eMENSCR: ได้แก่ หน่วยงานภาครัฐ (ระดับกองทั่วประเทศ) สามารถเข้าถึงผ่าน https://emenscr.nesdb.go.th ตั้งแต่ มิ.ย. 2561 หน่วยงานภาครัฐเข้ามากรอกโครงการแล้ว 10,640 โครงการ จาก 1,631 หน่วยงาน คกก.ยุทธศาสตร์ชาติ และคกก.ปฏิรูปประเทศ กว่า 200 คนสามารถติดตามการดำเนินงานเบื้องต้นผ่านระบบ สศช.ใช้ข้อมูลสรุปจากระบบ eMENSCR ในการรายงานคณะรัฐมนตรี และคณะกรรมการชุดต่างๆ
ปี 2562 ระบบ eMENSCR มีข้อมูลความก้าวหน้าตามแผนยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ จากหน่วยงานทั่วประเทศ ทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค รัฐวิสาหกิจ องค์กรมหาชน มหาวิทยาลัย องค์กรอิสระ หน่วยงานรัฐสามารถกรอกความคืบหน้าของโครงการของหน่วยงานภาครัฐและระบบ Back office / Government Big Data เพื่อวางแผนยุทธศาสตร์ประเทศและดูแลคนไทยบนพื้นฐานของข้อมูล
2. แพลตฟอร์มประมวลผลข้อมูล
ประกอบด้วย แพลตฟอร์มให้บริการข้อมูลเปิด (Open Data Service Platform) ทำหน้าที่ให้บริการข้อมูลเปิดในแบบ Data API การเชื่อมโยงข้อมูลเปิด และการวิเคราะห์และนำเสนอข้อมูลเปิดในแบบแผนภาพสรุป (Data Visualization)
Open Data Service Platform ( Open-D )
คือ แพลตฟอร์มให้บริการข้อมูลเปิดในแบบที่เครื่องคอมพิวเตอร์สามารถประมวลผลได้ (Machine-readable Data) ที่เปิดให้นำไปใช้ประโยชน์ได้โดยไม่คิดมูลค่า ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการนำไปพัฒนาต่อยอดเพื่อสร้างนวัตกรรมได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด
มีวัตถุประสงค์ให้ประเทศมีแหล่งรวมชุดข้อมูลแบบเปิดที่เป็นประโยชน์ต่อการนำไปใช้ประโยชน์โดยนักพัฒนาโปรแกรม และนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลเปิดอีกแหล่งหนึ่งซึ่งช่วยจุดประกายความคิดของนักเรียน นักศึกษา นักพัฒนา นำข้อมูลไปต่อยอดใช้ประโยชน์ Open-D เน้นในเรื่องคุณภาพของข้อมูล และการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ง่ายของข้อมูล เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเปิดเผยข้อมูล และการใช้ประโยชน์จากข้อมูลเปิดในรูปแบบ Data API และ Data Visualization
Open-D มีจุดเด่นคือชุดข้อมูลที่เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์นี้ จะถูกแปลงเป็น API โดยมีตัวอย่างการนำไปใช้ประโยชน์ อาทิ กิจกรรม e-Culture Open Data Hackathon 2018 เป็นกิจกรรมที่เนคเทคจัดขึ้นโดยการสนับสนุนจาก กสิกร บิซิเนส – เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) เป็นกิจกรรมประกวดการสร้างนวัตกรรมจากข้อมูลเปิดในสาขาวัฒนธรรม โดยมีรายการวัตถุทางวัตนธรรมมากกว่า 400,000 รายการที่เตรียมไว้ให้กับผู้เข้าแข่งขันในแบบของชุดข้อมูลเปิดที่ให้บริการผ่าน Data API ของระบบ Open-D ผลที่ได้จากกิจกรรม แอปพลิเคชันตัวอย่างมากกว่า 20 ผลงาน ที่สร้างจากข้อมูลเปิดทางวัฒนธรรม เพื่อใช้ประโยชน์ในด้านการศึกษา การท่องเที่ยว การอนุรักษ์ทางวัฒนธรรม ทั้งนี้ Open-D เปิดให้บริการในแบบนำร่อง (Beta) ที่เว็บไซต์ https://opend.openservice.in.th/ สำหรับผู้ที่สนใจเปิดเผยข้อมูลผ่านเว็บไซต์ Open-D (Beta) สามารถสมัครใช้บริการผ่านเว็บไซต์ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
การขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจด้วยการวิจัยและพัฒนาแพลตฟอร์มข้อมูล เช่น TPMAP, eMENSCR, Open-D ซึ่งเป็นผลงานวิจัยและพัฒนาของเนคเทค ล้วนเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยสนับสนุนกระบวนการ Digital Transformation สนับสนุนการตัดสินใจที่จะช่วยพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ และตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ของประเทศ ซึ่งเป็นฐานรากสำหรับนวัตกรรมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต พร้อมสำหรับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน และนักพัฒนานำไปใช้ประโยชน์ต่อไป