ขอรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องต่อร่างมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม “ตัวขยายสัญญาณรามาน” เปิดรับฟังความคิดเห็น ถึงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2560
รามานสเปกโทรสโกปี (Raman spectroscopy) เป็นเทคนิคกระเจิงแสงแบบไม่ยืดหยุ่นของแสงที่มากระตุ้นโมเลกุลของสาร เป็นเทคนิคที่นำมาใช้บ่งชี้ลักษณะเฉพาะของสารดังกล่าวได้แม่นยำ แต่ด้วยสัญญาณการกระเจิงของรามานจะมีสัญญาณน้อยมากทำให้การตรวจวัดมวลสารที่มีปริมาณน้อย ๆ โดยตรงเป็นไปได้ยาก จึงได้เกิดการพัฒนาพื้นผิวขยายสัญญาณรามาน (surface-enhanced Raman spectroscopy, SERS) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขยายสัญญาณรามานดังกล่าว ซึ่งทำให้การตรวจวัดและวิเคราะห์โมเลกุลของสารเป็นไปได้จนถึงระดับที่ตรวจวัดสารตกค้าง (trace) ประเภทต่าง ๆ ได้อย่างแม่นยำมาก การประดิษฐ์คิดค้นพื้นผิวขยายสัญญาณรามานในรูปแบบต่าง ๆ ประกอบกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเลเซอร์และอุปกรณ์ตรวจวัดทำให้เครื่องตรวจวัดด้วยเทคนิครามานมีขนาดที่เล็กลงและมีประสิทธิภาพที่สูงขึ้น จึงได้มีการนำเทคนิคนี้ไปประยุกต์ในด้านต่าง ๆ ได้แก่ ด้านการเกษตร เช่น การตรวจพิสูจน์ยาฆ่าแมลงตกค้าง ด้านนิติวิทยาศาสตร์ เช่น การตรวจพิสูจน์สารเสพติด การตรวจพิสูจน์สารระเบิด การตรวจเปรียบเทียบและพิสูจน์ชนิดหมึกปากกา ด้านความมั่นคง เช่น การตรวจสารตั้งต้นของวัตถุดิบในการทำระเบิด รวมทั้งด้านการแพทย์ เช่น การตรวจวินิจฉัยเชื้อก่อโรค และการตรวจวัดสารชีวโมเลกุลทางด้านการแพทย์ ซึ่งเป็นงานที่ต้องการความเชื่อมั่นในกระบวนการ เครื่องมือตรวจวัด อุปกรณ์ และผลลัพธ์การตรวจวัดเป็นอย่างมาก
เพื่อเป็นการประกาศเผยแพร่ร่างมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมตัวขยายสัญญาณรามาน และรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ จึงเห็นควรให้ผู้ที่เกี่ยวข้องพิจารณาในรายละเอียดของร่างมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมดังกล่าวที่ได้จัดทำขึ้น ก่อนนำร่างมาตรฐานฯ เสนอคณะกรรมการวิชาการด้านมาตรฐานชิปขยายสัญญาณรามานพิจารณาให้ได้ข้อยุติต่อไป หากท่านมีความประสงค์ที่จะรับทราบหรือให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับมาตรฐานดังกล่าว สามารถดูรายละเอียดได้ที่
ดูวิดีโอความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับตัวขยายสัญญาณรามาน : OnSpec ได้ที่ https://youtu.be/6TRABWl7Jq0
วันที่เผยแพร่ 31 ตุลาคม 2560 15:00