- บทความโดย : วัชราภรณ์ สนทนา
มีข่าวดีว่าต่อจากนี้เราจะสามารถติดตามคนหรือสิ่งของว่าอยู่ตำแหน่งใดในอาคารได้แบบเรียลไทม์ แถมยังนำทางให้เราไปยังสถานที่ต่างๆ ในอาคารได้ไม่ต่างจากเทคโนโลยี GPS (Global positioning System) เมื่อ ดร.กมล เขมะรังษี นักวิจัยจากห้องปฏิบัติการวิจัยระบบระบุตำแหน่งและบ่งชี้อัตโนมัติ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้พัฒนา เทคโนโลยี “อยู่ไหน 3 มิติ” หรือ ระบบระบุตำแหน่งภายในอาคารด้วยเทคโนโลยีบลูทูธพลังงานต่ำ ที่ให้บริการข้อมูลตำแหน่ง หรือข้อมูลเส้นทางการเคลื่อนที่ ของคนหรือวัตถุสิ่งของภายในอาคารแบบออนไลน์
ดร.กมล กล่าวว่า ทุกวันนี้เทคโนโลยี GPS หรือ ระบบบอกพิกัดผ่านทางดาวเทียมสามารถใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ทั้งเป็นระบบติดตามและนำทาง แต่ยังมีข้อจำกัดไม่สามารถใช้ภายในอาคารได้ เนื่องด้วยสัญญาณดาวเทียมไม่สามารถทะลุผ่านเข้าไปในอาคาร ทีมวิจัยจึงมีแนวคิดพัฒนาแพลตฟอร์มอยู่ไหน 3 มิติ หรือระบบระบุตำแหน่งภายในอาคารที่ทำงานเสมือนกับว่าเราติดตั้งระบบจีพีเอสอยู่ในอาคารนั่นเอง ซึ่งการมีระบบจีพีเอสในอาคารจะช่วยให้ทำงานหลายอย่างได้สะดวกมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการนำทาง การหาสิ่งของ การติดตามข้อมูลรูปแบบการเคลื่อนที่ของคนและสิ่งของ นับเป็นประโยชน์ในการนำไปปรับปรุง ทำให้กระบวนการทำงานขององค์กรต่างๆ มีประสิทธิภาพได้มากยิ่งขึ้น
“อยู่ไหน 3 มิติ” คือ…
ดร.กมล อธิบายว่า “เทคโนโลยีอยู่ไหน 3 มิติ เป็นเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับ Internet of Things ตัวระบบประกอบด้วย ส่วนแรกคือ ป้ายระบุตำแหน่ง เป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ส่งสัญญาณไร้สายที่เรียกว่า Tag ใช้เทคโนโลยีสมองกลฝังตัวขนาดเล็ก สามารถพกพาหรือติดไปกับอุปกรณ์สิ่งของได้ ส่วนที่สองคือ เครื่องอ่านหรือรับสัญญาณไร้สาย เป็นอุปกรณ์ที่ทีมวิจัยได้พัฒนาขึ้นเพื่ออ่านสัญญาณที่ส่งมาจากป้ายระบุตำแหน่ง ด้วยเทคโนโลยีมาตรฐานบลูทูธพลังงานต่ำ (Bluetooth Low Energy) และมาตรฐานไวไฟ (Wi-Fi) ที่สื่อสารได้ในระยะที่ไกลกว่า RFID สามารถระบุตำแหน่งติดตามสิ่งของและคนได้ต่อเนื่องตลอดเวลา มีความแม่นยำสูง ประหยัดพลังงาน และต้นทุนต่ำ”
หลักการทำงาน
“สำหรับหลักการทำงานของแพลตฟอร์มอยู่ไหน 3 มิติ คือ ตัวป้ายระบุตำแหน่งจะส่งสัญญาณมาที่เครื่องอ่าน จากนั้นข้อมูลจะถูกส่งขึ้นไปบนอินเทอร์เน็ต ซึ่งเครื่องอ่านภายในอาคารทุกตัวมีการเชื่อมต่อกับเครือข่าย Internet ทำให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของ Internet of Things และใช้ Cloud Computing Platform ประมวลผลระบุตำแหน่งการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นภายในอาคาร ซึ่งข้อมูลตำแหน่งที่ได้จะถูกส่งกลับมาแสดงผลบนระบบของสมาร์ตโฟนหรือว่าระบบคอมพิวเตอร์ต่างๆ โดยข้อมูลตำแหน่งเหล่านี้ยังสามารถบันทึกย้อนหลังเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไปได้อีกด้วย” ดร.กมล กล่าวเสริม
การประยุกต์ใช้ “อยู่ไหน 3 มิติ”
เทคโนโลยีอยู่ไหน 3 มิติ สามารถนำไปประยุกต์ใช้งานในอุตสาหกรรมต่างๆ ได้อย่างหลากหลาย เช่น ธุรกิจค้าปลีก งานแสดงสินค้าขนาดใหญ่ โกดังเก็บสินค้า หุ่นยนต์ในโรงงาน การเกษตร การแพทย์ โรงเรียน เป็นต้น โดยข้อมูลตำแหน่งและข้อมูลบ่งชี้ที่ได้สามารถใช้ติดตามเพื่อระบุตำแหน่งคนหรือสิ่งของ รักษาความปลอดภัย เป็นระบบนำทาง รวมถึงใช้เก็บข้อมูลสำรวจพฤติกรรมและความต้องการของลูกค้าได้
ดร.กมล กล่าวว่า ตัวอย่างการประยุกต์ใช้ อยู่ไหน 3 มิติ เป็นระบบติดตามภายในอาคาร เช่น การติดตามตำแหน่งของเครื่องมือแพทย์ราคาสูงที่มีการเคลื่อนย้ายไปมาเพื่อใช้ร่วมกันในหลายแผนกในโรงพยาบาล ซึ่งเคยมีผลงานวิจัยระบุว่าพยาบาลมักต้องเสียเวลาตามหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้ร่วมกันอยู่บ่อยครั้ง ดังนั้นอยู่ไหน 3 มิติ จะเป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยค้นหาตำแหน่งเครื่องมือแพทย์ได้ทันทีแบบออนไลน์ ช่วยลดเวลา ลดภาระของเจ้าหน้าที่การแพทย์ในการค้นหาสิ่งของ ทำให้บริการคนไข้ได้เร็วขึ้น อีกทั้งยังสามารถใช้ข้อมูลตำแหน่งของเครื่องมือในอดีตมาวิเคราะห์การใช้งานที่แผนกต่างๆ เพื่อบริหารจัดการเครื่องมือราคาสูงให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
“ส่วนการใช้งานด้านระบบความปลอดภัย เช่น ในโรงเรียน เราสามารถนำเทคโนโลยีอยู่ไหน 3 มิติ ติดตามบุคคลที่เข้ามาภายในโรงเรียน หรือใช้ติดตามดูแลเด็กๆ อนุบาลว่าอยู่ในบริเวณไหนของโรงเรียนบ้าง บางครั้งคุณครูอาจจะหาเด็กไม่เจอก็ใช้อยู่ไหน 3 มิติ ในการติดตามตำแหน่งได้ ที่สำคัญคือถ้าเด็กเดินหายออกไปจากโรงเรียน ระบบยังสามารถแจ้งเตือนคุณครูได้อีกด้วย และในยุคที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเช่นนี้ เรายังสามารถออกแบบตัวส่งสัญญาณไปติดไว้กับสิ่งของที่ติดตัวผู้สูงอายุ เช่น สร้อยพระ เพื่อติดตามผู้สูงอายุที่อาจจะมีอาการหลงๆ ลืมๆ เมื่อผู้สูงอายุเดินออกนอกบ้าน ระบบจะแจ้งเตือนไปยังผู้ที่ดูแลได้เช่นเดียวกัน
นอกจากนี้แพลตฟอร์มอยู่ไหน 3 มิติ ยังใช้เป็นระบบนำทางในห้างสรรพสินค้า งานแสดงสินค้า หรือพื้นที่จัดแสดงงานขนาดใหญ่ โดยผู้จัดงานสามารถใช้แอปพลิเคชันบนสมาร์ตโฟนประกอบกับระบบระบุตำแหน่งภายในอาคาร เพื่อนำทางนักธุรกิจหรือลูกค้าไปยังบูทที่ต้องการได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ไม่ต้องเสียเวลาในการเดินหา ทำให้มีเวลาเลือกสินค้าหรือเจรจาธุรกิจได้มากขึ้น ส่วนในธุรกิจค้าปลีกก็ยังสามารถใช้อยู่ไหน 3 มิติ เป็นเครื่องมือสำรวจข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภคได้ ด้วยการใช้ระบบระบุตำแหน่งติดตามเส้นทางการเดิน การเลือกซื้อสินค้าในแผนกต่างๆ สำหรับเป็นข้อมูลใช้วางแผนการตลาดได้เหมาะสมยิ่งขึ้น” ดร.กมล กล่าว
บทความที่เกี่ยวข้อง
วันที่เผยแพร่ 28 กุมภาพันธ์ 2561 16:52