การเชื่อมต่อ IoT จำนวนมากในเครือข่ายเซลลูล่าร์ 5G (Massive IoT in 5G)

Facebook
Twitter
massive-iot-5g
บทความ | ดร.กมล เขมะรังษี
นักวิจัย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค-สวทช.)
ภาพประกอบ | กรรวี แก้วมูล

มาตรฐาน 5G NR (New Radio) หรือ ที่เรียกว่ามาตรฐานการสื่อสารวิทยุไร้สายรุ่นใหม่สำหรับเครือข่ายเซลลูล่าร์รุ่นที่ 5 ฉบับสมบูรณ์คาดว่าจะออกมาใช้งานในไตรมาส 3 ของปี 2563 หนึ่งในบริการ 5G ที่จะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้คือ Massive Machine-Type Communication (mMTC) หรือ Massive IoT เนื่องจากเครือข่ายเซลลูล่าร์ถือได้ว่าเป็นเครือข่ายสื่อสารโทรคมนาคมหนึ่งที่มีพื้นที่ให้บริการครอบคลุมเกือบทุกหนทุกแห่งในปัจจุบันและสามารถสื่อสารได้ระยะทางไกล ซึ่งได้เปรียบเทคโนโลยีสื่อสารไร้สายสำหรับ IoT แบบอื่น ๆ เช่น LoRa (Long Range) Technology ซึ่งเป็นที่สนใจในปีที่ผ่านมา เมื่อทาง กสทช. ได้เปิดคลื่นวิทยุช่วง 920-925 MHz ให้สามารถใช้ได้กับเทคโนโลยี IoT ในลักษณะที่ไม่ต้องเสียค่าใช้คลื่นความถี่

สำหรับ Massive IoT หรือ eMTC ผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคมมีวิสัยทัศน์ร่วมกันว่าเครือข่ายเซลลูล่าร์ 5G จะเป็นโครงสร้างสำหรับการเชื่อมต่อแบบครบวงจรสำหรับทุกๆ สิ่งที่อยู่รอบๆ ตัวคน หรือเรียกว่าเป็นโลกที่เชื่อมต่อกันอย่างสมบูรณ์แบบ ไม่ว่าจะเป็น แท็บเล็ต โทรศัพท์มือถือ เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน และอุปกรณ์ Internet of Things อื่น ๆ ซึ่งจำนวนอุปกรณ์ที่คาดการณ์ทั่วโลก อยู่ในระดับล้านล้านอุปกรณ์ (Trillions Things) ซึ่งจะมีปริมาณข้อมูลรวมกันมหาศาล และส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในแต่ละประเทศที่มีการนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้เป็นอย่างมาก สำหรับผู้ใช้เทคโนโลยีไร้สายก็จะได้รับประสบการณ์ใหม่ ๆ กับบริการของอุปกรณ์อัจฉริยะรอบตัวมากขึ้น ซึ่งคาดว่าจะสามารถตอบโจทย์ เมืองอัจฉริยะ (Smart Cities) สาธารณูปโภคอัจฉริยะ (Smart Utilities) การเฝ้าระวังสิ่งแวดล้อม (Environmental Monitoring) อาคารอัจฉริยะ (Smart Building) การค้าปลีกแบบดิจิทัล (Digital Retail) การติดตามตำแหน่งของสิ่งของ (Asset Tracking) และอีกหลาย ๆ การประยุกต์ใช้ที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับผู้ใช้งาน เมื่อเครือข่าย 5G มีการติดตั้งใช้งานจริง

โดยเทคโนโลยี Massive IoT มีการวิวัฒนาการมาจากมาตรฐานเดิมคือ LTE IoT (ซึ่งประกอบไปด้วยเทคโนโลยีซึ่งเสริมกันคือ enhanced machine type communication (eMTC) ซึ่งรองรับอัตราการส่งข้อมูลสูงสุดที่ 1 เมกกะบิตต่อวินาที และ narrowband IoT (NB-IoT)) ที่รองรับข้อมูลในระดับ 10 กิโลบิตต่อวินาทีหรือมากกว่า ไปสู่สิ่งที่เรียกว่า 5G Massive IoT หรือการเชื่อมต่ออุปกรณ์ IoT จำนวนมากซึ่งมีความหนาแน่นต่อพื้นที่มาก ๆ ผ่านเครือข่าย 5G โดยคุณสมบัติของอุปกรณ์ 5G Massive IoT จะเน้นที่อุปกรณ์ที่ไม่ค่อยมีความซับซ้อน แต่มีความสามารถในการประหยัดพลังงานที่มากขึ้นเพื่อให้สามารถใช้แบตเตอรรี่ได้มากกว่า 10 ปี มีการสื่อสารไม่บ่อย มีระยะการสื่อสารที่ไกลขึ้น มีการประยุกต์ใช้การเชื่อมต่อแบบ Multi-hop mesh สามารถมีจำนวนอุปกรณ์ต่อพื้นที่ที่หนาแน่นมากขึ้นระดับที่มากกว่า 1 ล้านอุปกรณ์ต่อตารางกิโลเมตร มากกว่า 4G ถึง 10 เท่า สามารถส่งข้อมูลขึ้นโครงข่าย 5G ได้สะดวกขึ้น ด้วยการใช้สัญญาณไร้สายที่มีประสิทธิภาพและใช้แบนด์วิดท์ที่แคบลง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม 5G Massive IoT อาจจะไม่ได้เป็นคำตอบสุดท้ายสำหรับสร้าง IoT หรือแม้แต่ Internet of Everything เนื่องจากการประยุกต์ใช้ IoT บางอย่างอาจจะไม่จำเป็นต้องการระบบสื่อสารระยะไกล ระบบสื่อสารระยะใกล้ ๆ เช่น Wi-Fi หรือ Bluetooth อาจจะยังคงมีบทบาทอยู่ในอนาคตเพื่อเสริมซึ่งกันและกัน

วันที่เผยแพร่ 8 ตุลาคม 2562 16:44