- เนคเทค-สวทช. โดย ดร.พนิตา พงษ์ไพบูลย์ รองผู้อำนวยการ และคุณสรายุทธ แก้วกุลปรีชา รองผู้ว่าฯ เปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการ “การถ่ายทอดเทคโนโลยีระบบเกษตรอัจฉริยะ” พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ และเกษตรกรจำนวน 80 คน เข้าร่วมอบรมฯ ณ โรงแรมซันไรส์ ลากูน โฮเทล แอนด์ กอล์ฟ จ.ฉะเชิงเทรา วันที่ 6 มีนาคม 2563
ดร.พนิตา พงษ์ไพบูลย์ รองผอ.-เนคเทค กล่าวว่า ในนามศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มีความยินดีที่ได้มีการบูรณาการงานวิจัยร่วมกับจังหวัดฉะเชิงเทรา สำนักงานสภาเกษตรจังหวัดฉะเชิงเทรา ภายใต้โครงการพัฒนาสินค้าเกษตรปลอดภัยสูงจังหวัดฉะเชิงเทรา กิจกรรมส่งเสริมเทคโนโลยีระบบน้ำอัจฉริยะในการผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัย โดย นำเทคโนโลยีนวัตกรรมเซนเซอร์ ช่วยในการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมในการเพาะปลูกพืช โดยจะช่วยเกษตรกรให้สามารถควบคุมสภาวะแวดล้อมในการเพาะปลูกจนกระทั่งเก็บเกี่ยว ซึ่งเป็นหนทางหนึ่งในการควบคุมปริมาณผลผลิตและการประเมินผลผลิตให้สอดคล้องกับปัจจัยทางการตลาด
การดำเนินงานเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.2562 เป็นต้นมา เนคเทคได้นำเทคโนโลยีด้านเซนเซอร์และ IoT Device มาพัฒนาเป็นอุปกรณ์ที่เรียกว่า Handy Sense หรือ ระบบเกษตรอัจฉริยะ โดยจะเป็นกล่องที่บรรจุเซนเซอร์ต่างๆ เช่น เซนเซอร์แสง อุณหภูมิความชื้นสัมพัทธ์ ความชื้นดิน โดยสั่งการควบคุมได้ผ่านสมาร์ทโฟน และแสดงผลการวัดแบบ Real Time และที่สำคัญสามารถควบคุมปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมที่มีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของพืชได้ง่ายและสะดวกมากยิ่งขึ้น
ปัจจุบันดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์ Handy Sense ให้กับกลุ่มเกษตกรที่เป็นต้นแบบในการนำร่องใช้เทคโนโลยีระบบเกษตรกรอัจฉริยะ จำนวน 34 พื้นที่ 11 อำเภอ ครอบคลุมพื้นที่เกษตรในจังหวัดฉะเชิงเทรา โดยได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดฉะเชิงเทราและในวันนี้นับเป็นโอกาสอย่างดียิ่งที่การบูรณาการงานวิจัยร่วมกันมาตลอดกว่าหนึ่งปีทั้งสองหน่วยงานเล็งเห็นถึงความสำคัญของการบูรณาการงานร่วมกัน และมีวัตถุประสงค์หลัก คือ การทำให้เกษตรกรสามาถลดต้นทุน ควบคุมปริมาณผลผลิต และเพิ่มมูลค่าผลผลิต
คุณสรายุทธ แก้วกุลปรีชา รองผู้ว่าฯ ประธานการเปิดอบรม กล่าวว่า การที่จังหวัดฉะเชิงเทราได้บูรณาการงานวิจัยร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดฉะเชิงเทรา สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดฉะเชิงเทรา โดยนำเทคโนโลยีนวัตกรรมเซนเซอร์และ loT Device พัฒนาเป็นอุปกรณ์ที่เรียกว่า Handy Sense หรือเกษตรอัจฉริยะเพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยเพิ่มความสะดวกให้เกษตรกรสามารถควบคุมปัจจัยในการผลิตและยังสามารถเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรได้ง่ายขึ้น
ถือเป็นมิติใหม่ของการบูรณาการเทคโนโลยีด้านการเกษตรที่ได้รับความร่วมมือจากเนคเทค และสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดฉะเชิงเทราในการประสานงานกลุ่มเกษตรกรและพื้นที่นำร่องในการติดตั้งอุปกรณ์ดังกล่าว จึงทำให้กลุ่มเกษตรกรที่เข้ารับการอบรมเชิงปฎิบัติการ “การถ่ายทอดเทคโนโลยีระบบเกษตรกรอัจฉริยะ” ในวันนี้จะเป็น “เกษตรกรต้นแบบ” ของจังหวัดฉะเชิงเทราที่จะนำการถ่ายทอดเทคโนโลยีนี้ไปต่อยอดซึ่งเป็นประโยชน์ในวงกว้างต่อวงการเกษตรกรรมต่อไป
การอบรมฯ ประกอบไปด้วย 4 หัวข้อ ดังนี้
- 1) ภาพรวมระบบ Handy Sense ระบบเกษตรอัจฉริยะ
- โดย คุณนริชพันธ์ เป็นผลดี ผู้ช่วยวิจัยอาวุโส-เนคเทค
- 2) การใช้งานแอปพลิเคชัน “ชาวเกษตร”
- โดยคุณพรชัย ธรรมรัตนนทน์ วิศวกรอาวุโส-เนคเทค
- 3) การใช้งานอุปกรณ์ Handy Sense
- โดย คุณพุฒิพงศ์ สุขรัตน์ ผู้ช่วยปฏิบัติงานวิจัย – เนคเทค
- 4) การออกแบบระบบน้ำและบริหารจัดการฟาร์ม
- โดย ดร.ณภัทร กำธรสิริวิมล คณะนวัตกรรมจัดการเกษตร สถาบันปัญญาภิวัฒน์
- เนื้อหาการบรรยายประกอบไปด้วย การผลิตพืชอย่างมีคุณภาพ การจัดการชลประทานเพื่อการเกษตรสมัยใหม่ การเลือกและออกแบบระบบน้ำ รวมไปถึงการจัดการฟาร์มภายใต้ระบบเกษตรอัจฉริยะ
ภาพบรรยากาศการอบรม
วันที่เผยแพร่ 6 มีนาคม 2563 16:00