สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กรุงเทพฯ วันที่ 2 เมษายน 2564: คณะทำงานจัดทำแผนแม่บทปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ประธานคณะทำงานร่วมฯ เป็นประธานการประชุมครั้งที่ 2/2564 (ผ่านระบบ Online Meeting)
นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
โดยมีคณะทำงานและเลขานุการร่วมประกอบด้วย ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค สวทช.) นายธีรวุฒิ ธงภักดิ์ ผู้อำนวยการกองโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีดิจิทัล สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และ ผศ.ดร.วรรณรัช สันติอมรทัต มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
สืบเนื่องจากการประชุมหารือคณะทำงานฯครั้งที่ 1/2564 คณะทำงานจัดทำแผนแม่บทปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ได้กำหนดวิสัยทัศน์ร่วมกันว่า “ประเทศไทยจะเป็นประเทศชั้นนำในการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนภายในปี พ.ศ. 2570” โดยมีเป้าประสงค์หลัก 3 ด้าน ได้แก่ การสร้างคนและเทคโนโลยี การสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ และสร้างผลกระทบที่ดีทางสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทยไว้ 5 ด้านได้แก่
- ยุทธศาสตร์ที่ 1: การเตรียมความพร้อมของประเทศในด้านสังคม จริยธรรม กฎหมาย และกฎระเบียบ สำหรับการประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์
- ยุทธศาสตร์ที่ 2: การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสนับสนุนด้านปัญญาประดิษฐ์เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
- ยุทธศาสตร์ที่ 3: การเพิ่มศักยภาพบุคลากรและการพัฒนาการศึกษาด้านปัญญาประดิษฐ์
- ยุทธศาสตร์ที่ 4: การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์
- ยุทธศาสตร์ที่ 5: การส่งเสริมให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีระบบปัญญาประดิษฐ์ในภาครัฐและภาคเอกชน
การขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว ได้แบ่งกรอบแนวทางดำเนินการที่สำคัญและเป้าหมายเพื่อให้การขับเคลื่อนแผนแม่บทฯ เกิดเป็นรูปธรรม โดยแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ระยะเร่งด่วน และระยะที่ 2 พ.ศ. 2566 – 2570
โดยการประชุมหารือคณะทำงานฯ ครั้งที่ 2/2564 นี้ คณะทำงานฯ ได้พิจารณา “ร่างแผนดำเนินการเร่งด่วนภายใต้แผนแม่บทปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย” โดยมุ่งเน้นโครงการนำร่องด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเตรียมความพร้อมของประเทศ เริ่มดำเนินการภายในปีพ.ศ. 2564 – 2565 ใน 4 ด้าน ได้แก่ (1) การสร้างแนวปฎิบัติเกี่ยวกับธรรมาภิบาลข้อมูลเพื่อการประยุกต์ใช้ในด้านปัญญาประดิษฐ์ (2) การเตรียมโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลและคำนวณสำหรับปัญญาประดิษฐ์ (3) การเตรียมพร้อมกำลังคนด้านปัญญาประดิษฐ์ และ (4) การส่งเสริมผู้ประกอบการใหม่ โดยเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีและประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ในกลุ่มเป้าหมายนำร่อง 3 กลุ่ม ได้แก่ ด้านการแพทย์และสุขภาพ การเกษตรและอาหาร และการใช้งานและบริการภาครัฐ
โครงการสำคัญมุ่งเน้นระยะเร่งด่วน ประกอบด้วย 3 กลุ่มโครงการหลัก ได้แก่ (1) กลุ่มโครงการเตรียมความพร้อมโครงสร้างพื้นฐานปัญญาประดิษฐ์ของประเทศ (AI Infrastructure) (2) กลุ่มโครงการสร้างความเข้มแข็งด้านกำลังคนของประเทศไทย (AI Talent) และ (3) กลุ่มโครงการสร้างความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ (AI Grand Challenge)
ทั้งนี้คณะทำงานฯ ได้ปรับชื่อแผนฯ ให้เป็นไปตามแนวทางแผนระดับที่ 3 ของสภาพัฒน์ฯ เป็น แผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ระยะ 7 ปี (พ.ศ. 2564 – 2570)