การประกอบพิธีกรรม

การประกอบพิธีกรรม โดยทั่วไปประเพณีการฟ้อนผีมดนั้น จะทำกันในระหว่างเดือน 8 (พฤษภาคม) ถึง เดือน9 (มิถุนายน)ของทุกปี หรือบางตระกูลอาจกำหนดให้มีการฟ้อน 3-4 ปีให้มีหนึ่งครั้งก็ได้ โดยจะจัดทำที่บ้านเก๊าผี บางตระกูลก็ไม่กำหนดแน่นอนแล้วแต่ความสะดวก บางครั้งเป็นการฟ้อนแก้บนในกรณีที่มีลูกหลานป่วยไข้เป็นต้น ประเพณีการฟ้อนผีมดแต่เดิมต้องมีการฟ้อนติดต่อกัน 7 วัน ปัจจุบันได้ลดเหลือน้อยลง 4 วันบ้าง 2 วันบ้าง ตามแต่ท้องที่ แต่ส่วนใหญ่มักจะทำพิธี 2-3 วัน
โดยจะทำที่บ้านเก๊าผี หรือที่หอผีปู่ย่าตั้งอยู่ 7 วัน ในวันแรกเรียกว่า วันดา หรือ วันข่าว จะมีการเตรียมงาน โดยฝ่ายชายจะช่วยกันสร้างปะรำพิธี หรือ ผามฟ้อน ขึ้นบริเวณกลางลานบ้าน โดยปะรำนั้นต้องใช้ของใหม่ทั้งหมด ผามของผีมดนั้นมีลักษณะหลังคาโดยมุงด้วยหญ้าคาเป็นแบบเรียบ เรียกว่า ผามเปียง ซึ่งเป็นลักษณะที่บ่งชี้ถึงความแตกต่างกับผีเม็งอย่างหนึ่ง ด้านซ้ายขวาและด้านหลังล้อมด้วยไม่ไผ่เปิดด้านหน้า ไม่ยกพื้น จากนั้นทาเสื่อ (สาดแหย่ง) ปูเพื่อเวลาที่ฟ้อนฝุ่นละอองจะไม่กระจายตรงกลางจะหาผ้าใหม่ๆ สำหรับผูกกับเปลตัวกลางแล้วให้ชายผ้าลงมาต่ำเพื่อให้ญาติจับแล้วห้อยโหนไปรอบๆโดยจะต้องมีมีพื้นที่กว้างขวางพอสำหรับม้าขี่หรือคนทรงจะออกมาฟ้อนรำ จะมีการจัดเตรียมข้าวปลาอาหารและเครื่องเซ่นสังเวยที่ประกอบด้วย หัวหมู ไก่ต้มสุกทั้งตัว เหล้า ข้าวตอก ดอกไม้ ธูปเทียน ขนมข้าวต้ม มะพร้าว กล้วยอ้อย ใส่ถาดหรือภาชนะไว้บนแท่นที่ยกสูงจากพื้นดินประมาณหนึ่ง มีราวสำหรับพาดผ้า มีผ้าโสร่งใหม่ ผ้าคล้องบ่า ผ้าโพกศีรษะสีต่างๆ ซึ่งใช้ได้ทั้งชายและหญิงพาดไว้หลายๆผืน สำหรับผู้ประทับทรงที่จะมาฟ้อนใช้ในพิธี นอกจากนี้ยังต้องมีการเตรียมพื้นที่สำหรับวงดนตรีพื้นเมืองที่จะต้องบรรเลงเพลงประกอบการฟ้อนผีอีกด้วย
ในภาคบ่ายหรือเย็นสตรีผู้อาวุโสหรือเก๊าผีจะเชิญผีบรรพบุรุษลงมาเข้าทรงเพื่อบอกกล่าวถึงงานที่จะมีขึ้น และมีฟ้อนกันในหมู่ญาติสนิท เรียกว่า ข่าว นอกนี้เจ้าภาพจะให้คนไปบอกกล่าวแก่ญาติพี่น้องและม้าขี่คนทรงของผีสกุลอื่นๆ เพื่อเชิญให้มาร่วมงานเรียกว่า ข่วยผี วันต่อมาเป็น วันฟ้อน เริ่มตั้งแต่ตอนเช้า ญาติที่อยู่ในสายผีเดียวกันจะไปชุมนุมกันที่บ้านฟ้อนผี เมื่อสมาชิกมาพร้อมแล้ว เจ้าภาพหรือสตรีผู้อาวุโสจะจุดธูปเทียนที่หน้าหอผีเพื่อบอกกล่าวอัญเชิญผีเข้าทรง เมื่อมีการเข้าทรงแล้วก็จะมีการไต่ถามสารทุกข์สุกดิบลูกหลานและมีการผูกข้อมือสู่ขวัญ ได้เวลาพอสมควรแล้วจะมีการฟ้อนรำของผีหรือม้าขี่ของผีต่างๆที่มาร่วมงานเป็นที่สนุกสนานรื่นเริง โดยมีวงดนตรีพื้นเมืองบรรเลงประกอบการฟ้อนไปตลอดทั้งวัน ก่อนสิ้นสุดจะมีการละเล่นอย่างสนุกสนานของผีในผามพิธี มีการล่าสัตว์ต่างๆ เช่น ยิงเสือ คล้องช้าง คล้องม้า ยื้อแย่งกันไปมาระหว่างผีของตระกูลเจ้าภาพกับผีรับเชิญ มีการถ่อเรือ ถ่อแพ ทอดแห ปลูกฝ้าย ซึ่งเสมือนเป็นการสรุปถึงภาพชีวิตความเป็นอยู่ในด้านการผลิตของครอบครัวจะจัดขึ้น การฟ้อนผีปู่ย่าปัจจุบันนี้รายจ่ายสูงมาก ค่าใช้จ่ายตกประมาณ 2-3 หมื่น ฉะนั้นในช่วงระยะ 3-4 ปี ญาติทุกคนต้องเตรียมเงินทองเพื่อนำมารวมกันก่อนวันตกแต่งคาหนึ่งวัน การฟ้อนผีปู่ย่าจะมีเวลาตลอดวันคือ 8 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็น จะมีพักผ่อนกันบ้างประมาณ 5-10 นาที พอย่างเข้าประมาณบ่าย 4 โมงเย็น ญาติผู้ชายจะเตรียมหาก้านกล้วยมาทำเป็นบ้องไฟและเตรียมผู้ชายที่แข็งแรงมาเป็นช้าง เมื่อถึงเวลาใกล้จะเลิกจะมีพิธีคล้องช้างและจุดบ้องไฟเป็นอันดับสุดท้าย นอกบริเวณปะรำ (ผามฟ้อน) จะทำการปลูกต้นไม้ชนิดหนึ่ง เรียกว่าต้นดอกแก้ว สำหรับจุดบ้องไฟและคล้องช้าง
เมื่อถึงเวลาแล้วฝ่ายญาติทั้งหญิงและชายจะนำก้านกล้วยประมาณ 4-5 ก้านมาให้ผู้ที่ฟ้อนถือแล้วแห่รอบๆต้นดอกแก้ว สมมุติว่าเป็นบ้องไฟ สมควรแก่เวลาต่างคนต่างโห่ร้องเรียกความเฮฮาให้แก่ญาติๆที่มาร่วมกันอย่างสนุกสนานและให้ผู้ชายแต่งตัวเป็นช้างวิ่งไปวิ่งมารอบต้นดอกแก้ว ฝ่ายผู้หญิงที่มาฟ้อนต่างคนต่างถือผ้าขาวม้าเดินติดตามผู้ชายที่เป็นช้างไปมา พอสมควรแก่เวลาก็พากันเอาผ้าขาวม้าคล้องคอผู้ชายช่วยกันจูงไปจูงมา ถือว่าเป็นการคล้องช้าง เป็นอันเสร็จพิธีฟ้อนผีปู่ย่าและผู้ที่ฟ้อนต่างเข้าสู่ปะรำพิธี เอาน้ำขมิ้นส้มป่อยล้างหน้า ล้างตา ร่ำลากันว่าอีก 3-4 ปีพบกันอีก แล้วนำเอาของสังเวยต่างๆออกมาจัดสรรปันส่วนแบ่งให้ญาติทุกคนได้รับเสมอหน้ากันคนละเล็กละน้อยไม่ให้เหลือ ส่วนปะรำ (ผามฟ้อนเมื่อเสร็จพิธีแล้ว) จะต้องรื้อออกให้หมดไม่ให้มีอะไรเหลือแม้แต่ชิ้นเดียว จากขั้นตอนการประกอบพิธีกรรมจะสังเกตเห็นว่า ในขั้นตอนต่างๆนั้นล้วนแล้วแต่มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ในหมู่เครือญาติในด้านต่างๆโดยอาศัยความเชื่อทางด้านการฟ้อนผีมาเป็นอุบายสำคัญในการส่งเสริมความสัมพันธ์ ทำให้เราได้ตระหนักและเล็งเห็นถึงความฉลาดหลักแหลมของบรรพบุรุษที่ได้สร้างอุบายนี้ขึ้นมาไว้ให้ชนรุ่นหลังได้รำลึกถึง