จุดมุ่งหมายที่แท้จริง

จุดมุ่งหมายที่แท้จริงของ " การฟ้อนผี " ยังคงเป็นปริศนาที่บรรพบุรุษได้วางไว้ให้ชนรุ่นหลังได้ค้นคว้าต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด โดยใช้ความเชื่อเรื่องภูตผีเป็นแนวทางในการยึดถือปฏิบัติของการประกอบพิธีกรรม บ้างก็ว่าการฟ้อนผีนี้เป็นการฟ้อนรำเพื่อเป็นการสังเวยหรือแก้บนผีบรรพบุรุษซึ่งอาจจะเป็นผีปู่ย่าตายายหรือบิดามารดาที่ล่วงลับไปแล้ว เพราะถือกันว่าเมื่อพวกญาติพี่น้องตายไปแล้วดวงวิญญาณจะมารวมกันอยู่ที่หอผี จึงเรียกว่า ฟ้อนผี หากเราลองพิจารณาดีๆแล้วเราจะพบว่าประเพณีการฟ้อนผีนี้มีจุดมุ่งหมายหลายประการที่บรรพบุรุษได้วางไว้เป็นรากฐานในการปฏิบัติให้แก่ชนรุ่นหลัง ซึ่งพอจะสรุปได้เป็นข้อๆดังต่อไปนี้
1. สร้างความรักความสามัคคีในหมู่คณะ สังเกตได้จากการที่ประเพณีกำหนดให้หมู่เครือญาติต้องมาพร้อมเพรียงกันโดยครบถ้วนในการประกอบพิธีกรรมแต่ละครั้ง อีกทั้งยังมีการเรี่ยไรเงินเพื่อนำไปใช้ในพิธีกรรมด้วย นอกจากนี้พิธีกรรมฟ้อนผียังเป็นงานรื่นเริงของคนในหมู่บ้าน เพราะเมื่อมีการจัดพิธีขึ้นคนในหมู่บ้านหรือท้องถิ่นนั้นก็จะมาช่วยงาน ทำให้เกิดความรักความสามัคคี
2. ค่านิยมที่ดีในการครองตัวของผู้หญิง สังเกตได้จากคำบอกเล่าที่ว่า " เมื่อมีการทำผิดทำนองคลองธรรม เช่น การล่วงละเมิดพรหมจรรย์ การเกี้ยวพาราสีผู้ชายที่ไม่ใช้สามีของตน การถูกเนื้อต้องตัวกัน ฯลฯ " สิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นการผิดผี ต้องมีการขอขมาลาโทษกับผีประจำตระกูลหรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า ผีปู่ย่า หากไม่ประพฤติปฏิบัติตามนี้จะเกิดอาเพทหรือสิ่งที่ไม่ดีเกิดขึ้นแก่ตนเอง ด้วยความเชื่อนี้จึงทำให้ผู้หญิงล้านนาในสมัยก่อน มีความรักนวลสงวนตัว ไม่ชิงสุกก่อนห่าม ซึ่งเป็นค่านิยมอันดีงามที่ปัจจุบันนี้เริ่มหาได้ยากในสังคมปัจจุบัน
3. เป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษ
4. เป็นที่พึ่งพาทางใจของชาวล้านนา ในกรณีที่ป่วยไข้แล้วมีการบนบานศาลกล่าวเอาไว้เมื่อหายแล้วก็จัดพิธีฟ้อนเป็นการแก้บน ทั้งนี้เพราะคนในสมัยก่อนยังไม่มีวิทยาการด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่เจริญก้าวหน้าเหมือนในปัจจุบัน หากมีใครเจ็บป่วยก็จะโทษว่าเป็นเพราะไปผิดผี จึงต้องมีการขอขมาลาโทษ โดยการไปบนไว้กับผีที่ตนเองนับถือ เมื่อหายแล้วก็มีการฟ้อนแก้บน
5. เป็นการพักผ่อนหย่อนใจหลังจากที่เสร็จงานประจำ นั่นก็คือ การทำไร่ทำนา ดังนั้นช่วงเดือน 9 ( มิถุนายน ) จึงเป็นช่วงที่ว่างเว้นจากการทำงาน จึงได้จัดพิธีการฟ้อนผีขึ้น เพราะคนในสมัยก่อน ไม่มีสถานที่เริงรมย์หรือสิ่งที่ให้ความเพลิดเพลินมากเท่าปัจจุบัน จึงได้เอาคติความเชื่อที่ตนเชื่อถืออยู่มาใช้ในการสร้างความเพลิดเพลิน