แม้ว่าพระพุทธศาสนาจะมีบทบาทสำคัญอยู่ในสังคมของชาวล้านนามาเป็นเวลาช้านาน
แต่กระนั้นชาวล้านนาก็ยังมีความเชื่อในเรื่องต่างๆที่นอกเหนือไปจากพระพุทธศาสนาอยู่อีกเป็นอันมาก
เช่น ความเชื่อในเรื่องการนับถือผี ความเชื่อในไสยศาสตร์และเวทย์มนต์ ความเชื่อในเรื่องโชคลางและอื่นๆ
ซึ่งความเชื่อต่างๆเหล่านี้ได้มีอิทธิพลอย่างสำคัญต่อโลกทัศน์บุคลิกภาพ และวิถีการดำเนินชีวิตของชาวล้านนาเป็นอย่างมาก
ดังสะท้อนให้เห็นได้ในขนบธรรมเนียมประเพณีและพิธีกรรมต่างๆของชาวล้านนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเชื่อในการนับถือผีนั้นเป็นความเชื่อพื้นฐานที่มีอยู่ในสังคมของชาวล้านนามาตั้งแต่ดั้งเดิมและเป็นกลไกสำคัญที่เกี่ยวข้องอยู่ในโครงสร้างทางสังคม
ทำหน้าที่ในการจัดระเบียบและควบคุมทางสังคม เพื่อให้สังคมดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย
สำหรับพระพุทธศาสนานั้นเป็นระบบความเชื่อแบบใหม่ที่เข้ามาภายหลัง ซึ่งก็ได้ช่วยขยายระบบความคิดทางศีลธรรมและเรื่องบุญ
บาป นรก สวรรค์ ฯลฯ ให้กว้างขวางขึ้นไปอีก ทั้งความเชื่อในการนับถือผีและพระพุทธศาสนาดังกล่าวนั้นต่างก็มิได้ขัดแย้งกัน
แต่จะผสมผสานกลมกลืนจะเป็นระบบเดียวกันอยู่ในความคิด ความเชื่อของชาวล้านนาเสมอมา
จึงมีผู้เสนอความเห็นว่าพระพุทธศาสนาของชาวล้านนานั้นมีลักษณะเป็นพระพุทธศาสนาแบบชาวบ้าน
การที่จะรู้จักเข้าใจในบุคลิกภาพของชาวล้านนาและลักษณะทางสังคมวัฒนธรรมของล้านนาแล้วจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจในระบบความเชื่อต่างๆ
โดยเฉพาะความเชื่อในการนับถือผีและการนับถือพระพุทธศาสนาของชาวล้านนาด้วย