เมื่อกล่าวถึงเรื่องผีและการนับถือผีของชาวชนบทในสังคมไทยโดยทั่วไปแล้ว หลายคนอาจจะมองเห็นว่าเป็นเรื่องงมงายไร้สาระ แต่ในสภาพของความเป็นจริงแล้วการนับถือผีเป็นระบบความเชื่ออย่างหนึ่ง ที่ค่อนข้างจะมีความสำคัญเกี่ยวข้องกับชุมชนและวิถีของผู้คนที่อยู่ในสังคมค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในสังคมของชาวล้านนา การนับถือผีดูจะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น เพราะความเชื่อในการนับถือผีนั้นเป็นระบบที่มีความสัมพันธ์กับโครงสร้างทางสังคมของผู้คนในชุมชนให้ดำรงอยู่ร่วมกันได้อย่างราบรื่น แม้ว่าพระพุทธศาสนาจะได้รับการนับถืออย่างแน่นแฟ้นและมีบทบาทที่สำคัญเกี่ยวข้องอยู่ในชีวิตของชาวล้านนาอย่างมาก แต่อิทธิพลของพระพุทธศาสนาก็มีไม่มากพอที่จะกลบเกลื่อนคติความเชื่อแบบดั้งเดิมได้หมด
ดังนั้นในสังคมของชาวล้านนาการนับถือผีก็ยังมีอยู่ปะปนไปกับพระพุทธศาสนา ดังสะท้อนให้เห็นในวัฒนธรรมประเพณีและพิธีกรรมต่างๆ ด้วยเหตุนี้พระพุทธศาสนาของล้านนาในทุกวันนี้จึงมิได้เป็นพระพุทธศาสนาแบบปรัชญา แต่จะเป็นพระพุทธศาสนาแบบชาวบ้าน ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่าง พุทธ พราหมณ์ และ ผี อย่างไรก็ตามความเชื่อในการนับถือผีและประเพณีที่เกี่ยวข้องในทุกวันนี้ได้มีการเปลี่ยนแปลงจนเหลือน้อยลง โดยเฉพาะในชุมชนเมือง แต่ในสังคมของชาวชนบทความเชื่อและประเพณีที่เกี่ยวกับการนับถือผีก็ยังมีปฏิบัติกันอยู่ การที่จะเข้าใจในลักษณะสังคมวัฒนธรรมและวิถึชีวิตของชาวล้านนาให้ถ่องแท้แล้วจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าใจในระบบความเชื่อดังกล่าวนี้ด้วย
" การฟ้อนผี " ซึ่งจัดได้ว่าเป็นงานประเพณีและงานรื่นเริงอย่างหนึ่งของผู้คนในชุมชน ส่วนในระดับครัวเรือนนั้น เจ้าของเรือนคือ พ่อแม่และลูกหลานจะเป็นผู้เลี้ยง ซึ่งโดยทั่วไปจะถือเอาวันพญาวันหรือวันเถลิงศกของสงกรานต์ในทุกปีเป็นวันเลี้ยง โดยเจ้าของเรือนหรือผู้อาวุโสจะนำเครื่องไว้สังเวยขึ้นวางบนหิ้งผีปู่ย่าในเรือนของตน แล้วกล่าวคำอัญเชิญผี ก็เป็นอันเสร็จพิธี
นอกจากนี้ยังอาจมีการเลี้ยงผีในกรณีที่มีการ " ผิดผี " และในงานมงคลต่างๆ เช่น การแต่งงาน การขึ้นบ้านใหม่ การบวชพระ รวมทั้งเมื่อมีคนในบ้านเรือนเกิดเจ็บไข้ได้ป่วยและได้บนบานไว้ เมื่อหายป่วยแล้ว ก็ต้องมีการแก้บน การฟ้อนผีปู่ย่าเป็นธรรมเนียมประเพณีของคนภาคเหนือซึ่งสืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ แต่ไม่มีหลักฐานหรือตำนานเขียนไว้อย่างชัดเจน คงเป็นเพียงคำเล่าขานและยึดถือเป็นธรรมเนียมที่บุคคลบางกลุ่มได้สืบทอดกันมา การฟ้อนผีปู่ย่าไม่ได้หมายความว่าจะมีขึ้นทุกแห่งหนตำบลใดก็ได้ แต่จะมีขึ้นในบางแห่งบางท้องที่และบางหมู่บ้านที่ยังสืบทอดมาจากพ่อแม่ปู่ย่าตายายเท่านั้น อีกประการหนึ่ง บรรบุรุษได้ไว้วางไว้เป็นปริศนาให้คนรุ่นหลังได้ถือเอาเป็นแบบอย่าง เพื่อให้วงศาคนาญาติได้มีความรักความสามัคคี ความพร้อมเพรียง เป็นการผูกมิตรไมตรีในเครือญาติด้วยกัน
การฟ้อนผีปู่ย่ามักจะนิยมทำกันในเดือนมีนาคมหรือเดือนหกเหนือ เพราะว่าในเดือนนี้เราจะได้ไม่ต้องกังวลในเรื่องฟ้าฝน การฟ้อนผีปู่ย่าแม้จะเป็นธรรมเนียมของคนภาคเหนือก็ตาม แต่หลักการปฏิบัติและพิธีกรรมนั้นไม่เหมือนกัน แล้วแต่จะตกลงกันทำอย่างไร แบบไหน ส่วนใหญ่แล้วจะตกลงกันว่า 3-4 ปี จะมีการฟ้อนหนึ่งครั้ง
การฟ้อนผีปู่ย่ามี 2 แบบ อย่างแรกฟ้อนตามธรรมเนียมที่ตกลงกัน อย่างที่สองคือ เมื่อมีญาติคนหนึ่งคนใดเกิดเจ็บไข้ได้ป่วยรักษายังไงก็ไม่หาย ก็จะมีการบนบาน ถ้าลูกกล่าวต่อผีปู่ย่าว่าถ้าอาการเจ็บป่วยหายจะฟ้อนให้ เมื่อหายจริงก็ต้องทำตามสัญญา การฟ้อนผีปู่ย่านั้น เมื่อใกล้ถึงกำหนด ญาติผู้เป็นประธานที่หอปู่ย่าตั้งจะทำการบอกกล่าวให้ญาติพี่น้องทุกคนไม่ว่าจะอยู่แห่งหนตำบลใดก็ตามให้รับทราบและมาพร้อมกันในวันนัดหมาย จะเห็นได้ว่าคติการนับถือผีปู่ย่านั้นเกี่ยวข้องอยู่ในวิถีชีวิตของชาวบ้านในแทบทุกระดับ นับตั้งแต่เกิด การแต่งงาน การทำมาหากินและการแก้ไขปัญหาต่างๆ ของกลุ่มเครือญาติ เช่น การทะเลาะวิวาท รวมทั้งยังช่วยในด้านการรักษาโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งการควบคุมทางจริยธรรมและพฤติกรรมทางเพศของผู้หญิงนั้นนับว่าเป็นลักษณะเด่นของผีปู่ย่า
กล่าวคือ เมื่อมีการกระทำที่ผิดทำนองคลองธรรม เช่น ล่วงละเมิดพรหมจรรย์ การถูกเนื้อต้องตัว รวมทั้งการเกี้ยวพาราสีผู้ชายที่ไม่ใช่สามีของตน จะถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง เป็นการ "ผิดผี" ผีปู่ย่าจะลงโทษให้เกิดอาเพศและเกิดอาการเจ็บป่วยภายในสมาชิกของครัวเรือนหรือในกลุ่มเครือญาติ จำเป็นต้องมีการประกอบพิธีเซ่นไหว้ ขอขมาลาโทษและเสียค่าปรับไหมหรือเสียผี ซึ่งการเสียผีนั้นไม่มีข้อกำหนดของเวลา ผิดผีเมื่อไหร่ก็ต้องเสียผีเมื่อนั้น โดยทั่วไปแล้วการประกอบพิธีกรรมเสียผีนั้นจะจัดกันเป็นพิธีส่วนตัว โดยมักจะกระทำในเรือนหอหรือห้องนอนของพ่อแม่ มีเครื่องเซ่นไหว้หลายอย่าง รวมทั้งหัวหมูและค่าปรับไหม แต่บางครั้งก็จะเป็นการเลี้ยงผีที่ต้องมีการเชิญเครือญาติมาร่วมพิธีกรรมด้วย
คติการนับถือผีปู่ย่านั้นมีอยู่แพร่หลายมากกว่าประเภทอื่นๆ และพบว่ามีอยู่ทั่วไปในสังคมของชาวล้านนา เป็นเรื่องสำคัญที่เกี่ยวข้องอยู่ในโครงสร้างทางสังคมและใกล้ชิดกับวิถีชีวิตของชาวล้านนาเป็นอย่างมาก ปัจจุบันแม้ว่าความเชื่อดังกล่าวจะได้ลดน้อยลงไป แต่ก็ยังคงหลงเหลืออยู่และยังสะท้อนให้เห็นถึงความคิด ความเชื่อในเรื่องดังกล่าวนี้ได้ในประเพณีและพิธีกรรมต่างๆที่ชาวล้านนาปฏิบัติอยู่ทุกวันนี้ เป็นที่น่าเสียดายว่าคติความเชื่อที่ดีงามเหล่านี้ ปัจจุบันจะเริ่มเลือนหายไปจากวิถีชีวิตของชาวล้านนา เหลือไว้เพียงภาพความทรงจำที่ได้เคยมีเมื่อครั้งก่อนไว้เป็นอนุสรณ์ให้คนรุ่นหลังได้หวนรำลึกถึงเท่านั้น