ระบบคัดกรองภาวะโลหิตจาง A point-of-care anemia screening system

Facebook
Twitter

ไอคิว หายไปได้อย่างไร มีใครเคยสงสัยบ้าง?

หลายคนในประเทศไทยไม่รู้ความสำคัญของการตรวจคัดกรองโลหิตจางสำคัญอย่างไร จะส่งผลต่ออะไรบ้างกับอนาคตเด็กหนึ่งคน “เด็กขาดธาตุเหล็ก ไม่ได้สำคัญอะไรขนาดนั้นก็แค่ธาตุเหล็กตัวนึง”

“การขาดธาตุเหล็กในช่วงเวลาวัยเด็กสำคัญมาก” อาจทำให้ไอคิวของคน ๆ หนึ่งหายไปถึง 10 จุด ซึ่งสามารถเปลี่ยนชีวิตของเขาได้ และหากรู้ช้าเกินไปปล่อยให้ช่วงวัยเพิ่มขึ้นทีละปีแล้วค่อยมาจัดการ ก็จะทำให้เด็กคนหนึ่งไอคิวหายไป ความฉลาดลดน้อยลง ทั้งนี้ในต่างประเทศ จะมีการคัดกรองเด็กในช่วง 9-12 เดือน ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่ในคู่มือที่จำเป็นจะต้องทำ แต่ในประเทศเราวัดแต่ค่าฮีโมโกลบิน ความเข้มข้นของเลือดเท่านั้น

“ภาวะโลหิตจางสร้างปัญหาให้กับทุกช่วงวัย” ซึ่งแต่ละวัยจะส่งผลแตกต่างกัน หากไม่ได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงที จะส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโต พัฒนาการ การเรียนรู้ ในเด็กเล็กและเด็กวัยเรียนอย่างถาวรได้

ปัจจุบันการตรวจคัดกรองไม่สามารถทำได้อย่างทั่วถึงในกลุ่มประชากร เนื่องจากเครื่องมือที่ใช้คัดกรองต้องใช้การปั่นให้ตกตะกอนด้วยความเร็วรอบสูง ซึ่งมีข้อจำกัดอีกหลายประการ หากมีระบบที่เพิ่มประสิทธิภาพ สามารถตรวจคัดกรองภาวะโลหิตจาง ทราบผลได้เร็ว ก็จะลดความสูญเสียลงได้อย่างมาก

ทีมวิจัยเทคโนโลยีโฟโทนิกส์ ทีมวิจัยนวัตกรรมพื้นผิววัสดุและอุปกรณ์ไมโครฟลูอิดิก และงานวิศวกรรมระบบเครื่องจักรสายการผลิต ร่วมกันพัฒนาระบบตรวจคัดกรองภาวะโลหิตจาง โดยคำนึงถึงความเร่งด่วนและความสำคัญต่อระบบสาธารณสุขบ้านเรา เพื่อที่จะใช้เป็นแนวทางในการดูแล ‘สุขภาพเด็กเล็ก’ การเข้าถึงการตรวจคัดกรองในกลุ่มประชากรได้มากขึ้น รวมถึงสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่บุคลากรทางการแพทย์สามารถใช้เครืองมือได้ง่าย ลดความยุ่งยาก ประหยัดเวลาและทราบผลได้ภายในเวลาไม่นาน

คุณสมบัติของระบบ

  1. ตรวจวัด Hemoglobin และ Hematocrit ค่าแท้จริงได้ โดยการเก็บเลือดจากปลายนิ้วเพียงครั้งเดียว
  2. อุปกรณ์ออกแบบให้เตรียมตัวอย่างได้ด้วยความเร็วในการปั่นตกตะกอนต่ำ มีความปลอดภัยในการใช้งานสูง ลดการสูญเสียตัวอย่างจากการแตกหักของอุปกรณ์
  3. ระบบมีขนาดเล็ก น้ำหนักเบา สะดวกต่อการนำไปใช้กับหน่วยบริการเคลื่อนที่ เพิ่มการเข้าถึงการตรวจคัดกรองในกลุ่มประชากร
  4. ระบบบันทึกและเก็บข้อมูลในรูปแบบดิจิทัล สามารถเชื่อมต่อระบบ IoT เพื่อการบริหารจัดการข้อมูลเชิงประชากรได้ทันที โดยไม่ต้องอาศัยอุปกรณ์เพิ่มเติม
  5. ทั้งระบบผลิตได้ด้วยเทคโนโลยีในประเทศ เพิ่มความสามารถในการพึ่งพาตนเอง และเพิ่มศักยภาพของอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องมือแพทย์ที่มีมูลค่าสูงของประเทศ

ผู้ใช้งานเทคโนโลยีเป้าหมาย

  • หน่วยบริการสาธารณสุขเคลื่อนที่
  • โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)

สถานภาพการพัฒนา

  • อยู่ระหว่างการปรับปรุงรูปแบบผลิตภัณฑ์
  • ขอขึ้นทะเบียนเครื่องมือแพทย์

นอกจากการวิจัยและพัฒนาแล้ว หากสามารถผลักดันให้เป็นนโยบายด้านสาธารณสุขที่คัดกรองภาวะโลหิตจางในเด็กเล็ก เป็นคู่มือที่ใช้เป็นแนวทางสำหรับการดูแล “สุขภาพในทุกช่วงวัย” เริ่มจากเด็กเล็กวัย 9-12 เดือน

วิจัยพัฒนาโดย

– ทีมวิจัยเทคโนโลยีโฟโทนิกส์
– ทีมวิจัยนวัตกรรมพื้นผิววัสดุและอุปกรณ์ไมโครฟลูอิดิก
– งานวิศวกรรมระบบเครื่องจักรสายการผลิต
ศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (TMEC)
ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค)
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

 

อ้างอิง : ข้อมูล “ธาตุเหล็กสำคัญอย่างไร” จากรายการ WOODY FM Special