เรียบเรียงโดย : นัทธ์หทัย ทองนะ, ศศิวิภา หาสุข
เขียนบทและตัดต่อวิดีโอ : จักรพงษ์ พูลทอง (มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์)
Open-D คืออะไร
เว็บไซต์ Open-D (Beta) : https://open-d.openservice.in.th พัฒนาขึ้นโดยเนคเทค โดยมีวัตถุประสงค์ให้คนไทยได้มีแหล่งรวมชุดข้อมูลแบบเปิด (open dataset) ที่เป็นประโยชน์ต่อการนำไปใช้ประโยชน์โดยนักพัฒนาโปรแกรม (Application Developers) และนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Scientists)
ข้อมูลเปิด (Open Data) คือ ข้อมูลในแบบที่เครื่องคอมพิวเตอร์สามารถประมวลผลได้ (Machine-readable Data) ที่เปิดให้นำไปใช้ประโยชน์ได้โดยไม่คิดมูลค่า (Open License) ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการนำไปพัฒนาต่อยอดเพื่อสร้างนวัตกรรมได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด (Open Innovation) ซึ่งในประเทศไทยมีเว็บไซต์ศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐ หรือ Data.go.th ซึ่งริเริ่มโดยสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (Digital Government Agency: DGA) ตั้งแต่ปี 2558
จากความตระหนักในความสำคัญของข้อมูลแบบเปิดที่มีมากขึ้น เนคเทคจึงพัฒนาเว็บ Open-D (Beta) เพื่อให้ผู้สนใจในการเผยแพร่ข้อมูลแบบเปิดทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน ได้มีช่องทางที่จะเผยแพร่ชุดข้อมูลแบบเปิด (publish) มากขึ้น โดยเว็บ Open-D มีจุดเด่นคือ
- ชุดข้อมูลที่เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์นี้ จะถูกแปลงเป็น API (Application Programming Interface) ชนิด RESTFul API ให้อย่างอัตโนมัติ
API เป็นรูปแบบการเข้าถึงข้อมูลที่มีความยืดหยุ่น และช่วยให้นักพัฒนาโปรแกรม (Application Developers) สามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ได้อย่างสะดวกมากที่สุด ตัวอย่างเช่น นำข้อมูลพิกัดที่ตั้งของสถานที่ไปใช้ใน Mobile App หรือ นำข้อมูลแบบตัวเลขไปวิเคราะห์ทางสถิติ (Data analysis) หรือ นำข้อมูลจากหลายๆ แหล่งข้อมูลมาใช้งานร่วมกัน เพื่อสร้างสรรค์แอพพลิเคชันใหม่ ๆ เป็นต้น (Data mash-up)
นอกจาก API แล้ว เว็บ Open-D (Beta) ยังเน้นให้ผู้สนใจด้านวิทยาการข้อมูล (Data Science) ได้มีเครื่องมือสนับสนุนการวิเคราะห์ข้อมูลและสร้างรายงานในแบบกราฟชนิดต่างๆ (Data visualization tools) จากข้อมูลแบบเปิด เช่น การสร้างกราฟสำหรับข้อมูลในแบบเวลา (time-series) และสำหรับข้อมูลสถิติเชิงพื้นที่ (heatmap) ในระดับจังหวัด อำเภอ และตำบลของประเทศไทย การเข้าถึงข้อมูลโดยวิธีการ drill-down ในแบบแผนที่แบบลำดับชั้น (treemap) เป็นต้น
ข้อดีของการมีเว็บไซต์ Open-D (Beta)
การทำให้มีปริมาณข้อมูลที่เติบโตขึ้น และกลายเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลเปิดอีกแหล่งหนึ่งของประเทศไทย ที่จะช่วยจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ให้กับนิสิต นักศึกษา นักวิจัย นักพัฒนา และผู้สนใจ สามารถนำข้อมูลไปพัฒนาต่อยอดใช้ประโยชน์อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ตามเจตนารมณ์ของการสร้างนวัตกรรมแบบเปิด (Open Innovation) ได้ต่อไป
จุดเด่นที่แตกต่างจากแพลตฟอร์มการเปิดเผยข้อมูลอื่น
จุดเด่นของ Open-D ที่แตกต่างจากแพลตฟอร์มการเปิดเผยข้อมูลอื่น มี 3 ประการหลัก คือ
- เน้นให้ผู้ใช้ที่เป็นนักพัฒนาแอปพลิเคชัน สามารถเข้าถึงข้อมูลในแต่ละชุดข้อมูลได้ผ่าน API (data API) ซึ่งจะช่วยให้นักพัฒนาแอปพลิเคชันสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างยืดหยุ่นยิ่งขึ้น เมื่อเทียบการเปิดเผยข้อมูลในแบบไฟล์ตารางคำนวณแบบ excel หรือ CSV ที่นักพัฒนาแอปพลิเคชันต้องดาวน์โหลดแต่ละไฟล์ไปประมวลผลด้วยตนเอง
- เน้นให้ผู้ใช้ที่เป็นนักวิจัยหรือนักวิเคราะห์ข้อมูล (researcher/ data analyst) สามารถวิเคราะห์และแสดงผลข้อมูล (data analysis and visualization) ชุดข้อมูลเปิดได้อย่างยืดหยุ่นผ่านเว็บไซต์ และสามารถนำผลการวิเคราะห์ในแบบกราฟไปเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์ (data visualization sharing) หรือ นำไปประกอบบทความในหน้าเว็บต่างๆ ได้ (data visualization embedding) อย่างยืดหยุ่นมากกว่า เมื่อเทียบการเปิดเผยข้อมูลในแบบไฟล์ตารางคำนวณแบบ excel หรือ CSV ที่นักวิจัยหรือนักวิเคราะห์ข้อมูลต้องดาวน์โหลดแต่ละไฟล์ไปวิเคราะห์ข้อมูลด้วยตนเองผ่านโปรแกรมภายนอก
- เน้นให้ผู้ใช้ที่เป็นผู้เผยแพร่ข้อมูล สามารถเปิดเผยข้อมูลในแบบที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์และต่อยอดได้ง่ายยิ่งขึ้น (improved data accessibility) โดยผู้เผยแพร่ข้อมูลสามารถเตรียมข้อมูลในแบบไฟล์ตารางคำนวณชนิด CSV โดยระบบจะทำการแปลงข้อมูลให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงในแบบที่กล่าวมาในข้อ 1 และ 2 ได้อย่างอัตโนมัติ ทั้งนี้ไฟล์ข้อมูล CSV จะถูกตรวจสอบว่าอยู่ในแบบข้อมูลตาราง (dataset validation) ที่เหมาะสมหรือไม่ ซึ่งหากตรวจสอบผ่านหมายความว่าชุดข้อมูลดังกล่าว อยู่ในแบบที่เครื่องคอมพิวเตอร์ประมวลผลได้ (machine-readable data) หากไม่อยู่ในแบบที่เหมาะสมก็จะไม่สามารถนำเข้าสู่ระบบได้ จึงทำให้ข้อมูลเปิดที่ให้บริการมีคุณภาพมากกว่า เมื่อเทียบการเปิดเผยข้อมูลในแบบไฟล์ตารางคำนวณแบบ excel หรือ CSV ที่ปกติจะไม่มีการตรวจสอบคุณภาพของไฟล์ชุดข้อมูลว่าเป็นแบบที่เครื่องคอมพิวเตอร์ประมวลผลได้จริงหรือไม่
กล่าวโดยสรุปคือเว็บไซต์ Open-D เน้นในเรื่องคุณภาพของข้อมูล (Data quality) และ การเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ง่ายของข้อมูล (Data accessibility) เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเปิดเผยข้อมูล และการใช้ประโยชน์จากข้อมูลเปิดในรูปแบบ Data API และ Data Visualization มากยิ่งขึ้น
ช่องทางการเข้าใช้งาน
เว็บไซต์ Open-D (Beta) สามารถเข้าใช้งานได้ที่ https://open-d.openservice.in.th/ สำหรับผู้ที่สนใจเปิดเผยข้อมูลผ่านเว็บไซต์ Open-D (Beta) สามารถสมัครใช้บริการผ่านเว็บไซต์ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
ตัวอย่างการนำไปใช้ประโยชน์
กิจกรรม e-Culture Open Data Hackathon จัดขึ้นระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม-2 กันยายน 2561 ที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ( https://www.anurak.in.th/hackathon2018/) เป็นกิจกรรมประกวดการสร้างนวัตกรรมจากข้อมูลเปิดในสาขาวัฒนธรรม โดยมีรายการวัตถุทางวัตนธรรม (Cultural Object) มากกว่า 400,000 รายการ ที่เตรียมไว้ให้กับผู้เข้าแข่งขันในแบบของชุดข้อมูลเปิดที่ให้บริการผ่าน data API ของระบบ Open-D ผลลัพธ์สำคัญจากกิจกรรม คือ แอปพลิเคชันตัวอย่างมากกว่า 20 ผลงาน ที่สร้างจากข้อมูลเปิดทางวัฒนธรรม เพื่อใช้ประโยชน์ในด้านการศึกษา การท่องเที่ยว การอนุรักษ์ทางวัฒนธรรม และ ไลฟ์สไตล์ โดยมีระบบ Open-D เป็นสื่อกลางหนึ่งที่ทำให้การต่อยอดใช้ประโยชน์จากข้อมูลเปิดนำได้ง่ายและยืดหยุ่นยิ่งขึ้น
กิจกรรม e-Culture Open Data Hackathon จึงเปรียบเสมือนเป็นกระบะทราย (sandbox) ของการสร้างนวัตกรรมจากข้อมูลเปิด ที่สามารถขยายผลไปสู่ระดับการใช้งานจริงได้ในอนาคต และ การประยุกต์ใช้งานกับข้อมูลเปิดในสาขาอื่นๆ ได้ต่อไป
ติดต่อผู้พัฒนา
- เว็บไซต์ Open-D : https://open-d.openservice.in.th
- ติดต่อผู้พัฒนาทางอีเมล : open-d[at]nectec.or.th