NAVANURAK : เทคโนโลยีเพื่อการอนุรักษ์

Facebook
Twitter
navanurak 
บทความ | ศุภรา พันธุ์ติยะ ภาพประกอบ | ศศิวิภา หาสุข
วัฒนธรรมดิจิทัล เป็นกระบวนการแปลงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการเก็บรักษาศิลปะ วัฒนธรรม ให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล ซึ่งข้อมูลจะถูกเก็บอย่างเป็นระบบและนำมาใช้ได้ง่าย โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการจัดการองค์ความรู้ด้านวัฒนธรรมเพื่อการอนุรักษ์ เรียกเทคโนโลยีนี้ว่า “เทคโนโลยีเพื่อการอนุรักษ์” หรือ Preservation Technology เป็นเทคโนโลยีสำหรับการเก็บรักษาให้ข้อมูลทางวัฒนธรรม สามารถใช้เป็นหลักฐานสืบค้นทางประวัติศาสตร์ ชะลอการเสื่อมสภาพ และก่อเกิดการชำรุดเสียหายน้อยที่สุด ความเชี่ยวชาญของนักวิจัย โดยห้องปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีภาษาและความหมายธรรมชาติ ใช้เทคโนโลยี Digital Preservation โดยการสกัดข้อมูลดิบที่ได้ในรูปแบบโครงสร้างเชิงความหมาย (Semantic Technology) เป็นเทคโนโลยีสำคัญในการบริหารจัดการคลังข้อมูลวัฒนธรรมผ่านองค์ความรู้ของชุมชนเครือข่ายที่เข้มแข็ง หน่วยงานที่มีศูนย์ข้อมูลกลางด้านวัฒนธรรม ที่เป็นฐานความรู้ด้านวัฒนธรรมโดยตรง เลือกการเข้าถึงข้อมูลทางวัฒนธรรมด้วยการจัดทำข้อมูลทางวัฒนธรรมให้เป็นรูปแบบที่น่าใช้งาน และง่ายต่อการเข้าถึง
แพล็ตฟอร์มนวนุรักษ์ 

จาก Digital Archive สู่ Platform

แรกเริ่ม เนคเทคได้จัดทำข้อมูลให้กับศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย สมัยนั้นทำเป็นแค่คลังข้อมูลดิจิทัล (Digital Archive) ไม่มีระบบบริหารจัดการ เป็นการทำเพื่อให้ผู้ใช้งานนำไปบริหารจัดการกันเอง และได้มีการจัดทำระบบให้กับผู้ใช้งานแต่ละหน่วยงานหรือส่วนบุคคล (Customize) มาสักระยะหนึ่ง “โครงการ Digitized Thailand” จึงได้เกิดขึ้น ทีมวิจัยได้ดำเนินการจัดทำระบบศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม หรือ m-Culture เป็นศูนย์กลางที่ให้ผู้ใช้จัดเก็บข้อมูลสื่อวัฒนธรรมที่มีอยู่ในรูปแบบข้อมูลดิจิทัลไว้ในที่เดียวกัน ทำระบบให้เป็นระเบียบสะดวกต่อการเข้าถึงข้อมูลและทำ Search Engine เพื่อการค้นหา เป็นโครงการที่เกิดจากความร่วมมือของกระทรวงวัฒนธรรม หน่วยงานที่เป็นฐานความรู้ด้านวัฒนธรรมโดยตรง ผลที่ได้จากการพัฒนาระบบศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรมนั้น ทำให้สามารถรวบรวมข้อมูลวัฒนธรรมได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งถือได้ว่าเป็นคลังข้อมูลวัฒนธรรมขนาดใหญ่

บริหารข้อมูลวัฒนธรรมกันเอง

ทีมวิจัยและพัฒนาจึงพัฒนาระบบขึ้นมาเพราะมีผู้สนใจอยากใช้งาน อยากมีอัตลักษณ์เป็นของตัวเอง แต่ไม่มีงบ ไม่มีเทคโนโลยี ไม่มีคนช่วยดูหลาย ๆ เรื่อง ระบบพิพิธภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ มาช่วยให้การจัดเก็บเป็นเรื่องง่าย และยังช่วยให้เกิดการสร้างเครือข่ายทางวัฒนธรรม ซึ่งจะเป็นการนำระบบไปบริหารจัดการคลังข้อมูลวัฒนธรรมของตนเองและถ่ายทอดให้กับชุมชนและหน่วยงานได้โดยตรงเจ้าของข้อมูลวัฒนธรรมก็จะได้เว็บเพจที่ตนเองเป็นเจ้าของ สามารถจัดการข้อมูล การปรับเปลี่ยนแก้ไข และเลือกวิธีการจัดแสดงได้ด้วยตนเอง
Cinque Terre 
แพล็ตฟอร์มนวนุรักษ์ www.navanurak.in.th

แพลตฟอร์ม “นวนุรักษ์”

นวนุรักษ์ หรือ แพลตฟอร์มคลังข้อมูลวัฒนธรรมเพื่อการอนุรักษ์มรดกไทย คือระบบบริหารจัดการคลังข้อมูลวัฒนธรรมดิจิทัลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บข้อมูลอย่างมีระบบ โดยข้อมูลวัฒนธรรมที่จัดเก็บต้องสนับสนุนบริการข้อมูลในลักษณะโครงสร้างแบบเปิด “Open Data” เพื่อให้เกิดการแบ่งปันข้อมูล นำไปต่อยอดสร้างประโยชน์ มูลค่าเชิงเศรษฐกิจ การจัดเก็บข้อมูลจะใช้หลักมาตรฐานสากล ในกระบวนการทำงานของภัณฑารักษ์ ซึ่งจะทำให้ข้อมูลที่ถูกจัดเก็บมาสามารถนำไปเชื่อมต่อกับพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ ในโลกได้ คือมีมาตรฐาน มีความเข้ากันได้ ไม่ต้องปรับและสะดวกต่อการนำไปใช้งาน ซึ่งนักพัฒนาจะได้ประโยชน์สูงสุดในการนำไปต่อยอดโดยการใช้ API (Application Programming Interface) ที่มีแล้วไปพัฒนาต่อให้เกิดเป็นแอปพลิเคชันในหลายรูปแบบ กระตุ้นให้เกิดเศรษฐกิจการท่องเที่ยว การศึกษา หรือสาขาอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปสู่นวัตกรรมใหม่ ๆ เพราะเราเชื่อว่า “การสร้างแพลตฟอร์ม” จะทำให้คนได้รับประโยชน์และเกิดเป็นระบบนิเวศน์ที่ยั่งยืน ให้คนได้เข้ามาร่วมบริหารและมีสิทธิ์จัดการข้อมูลได้เอง เป็นเจ้าของข้อมูลตัวเอง เกิดชุมชนการสร้างเครือข่ายด้วยการแบ่งปันข้อมูล เนคเทคเปิดบริการการให้เข้าถึง แพลตฟอร์ม NAVANURAK แพลตฟอร์มดิจิทัลที่เปิดให้คุณสามารถสร้างคลังข้อมูลวัฒนธรรมได้แล้ววันนี้ ที่เว็บไซต์ https://www.navanurak.in.th