ภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ เป็นความพิการแต่กำเนิดที่พบมากเป็นลำดับที่ 4 ของความผิดปกติในทารกแรกเกิด โดยอุบัติการณ์การเกิดโรคในประเทศไทยอยู่ระหว่าง 0.58 – 2.49 คน ต่อทารกแรกเกิด 1,000 ราย พบผู้ป่วยมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งประมาณการณ์ว่ามีอัตราสูงถึง 600-700 รายต่อปี ทั้งนี้การรักษาแม้จะผ่าตัดซ่อมแซมริมฝีปากและเพดานได้ในเบื้องต้น แต่หลังจากผ่าตัดแล้ว เด็กส่วนใหญ่ยังต้องเผชิญกับปัญหาการพูดผิดปกติ พูดไม่ชัด มากถึง 88.56% เสียงสั่นพ้องหรือเสียงขึ้นจมูกผิดปกติ 43.26% การพูดผิดปกติเหล่านี้เป็นปัญหาหลักและสำคัญของบุคคลปากแหว่งเพดานโหว่ที่ส่งผลกระทบในทางลบต่อภาพลักษณ์ตัวเอง การสื่อสารในชีวิตประจำวันในสังคมและการประกอบอาชีพ
ปัญหาการพูดผิดปกติ พูดไม่ชัด และเสียงสั่นพ้องหรือเสียงขึ้นจมูกผิดปกตินี้ หากได้รับการวินิจฉัยและแก้ไขแต่เนิ่นๆ จะช่วยให้เด็กมีพัฒนาการพูดที่เป็นปกติ หรือใกล้เคียงกับเด็กปกติได้มาก แต่น่าเสียดายว่า ในประเทศไทยมีเด็กปากแหว่งเพดานโหว่ที่ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาและบริการด้านการแก้ไขการพูดจำนวนมาก เนื่องจากขาดแคลนสถานบริการ และนักแก้ไขการพูดที่ยังมีอยู่จำกัด จึงทำให้เด็กปากแหว่งเพดานโหว่ยังคงพูดไม่ชัด เสียความมั่นใจและเป็นปมด้อยในการสื่อสารกับผู้อื่นในชีวิตประจำวัน
เพื่อช่วยลดเวลาการทำงานของนักแก้ไขการพูดและเพิ่มโอกาสในการรักษาให้กับเด็กที่มีภาวะปากแหว่งเพดานโหว่มากขึ้น ทีมนักวิจัยจากหน่วยวิจัยวิทยาการสื่อสารของมนุษย์และคอมพิวเตอร์ (HCCRU) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ ศ. ดร. เบญจมาศ พระธานี นักแก้ไขการพูด คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ ผศ. ดร.กัลยาณี มกราภิรมย์ นักแก้ไขการพูด คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้ดำเนิน “โครงการเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการทดสอบประเมินและการฝึกพูดของผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่”
ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการหน่วยวิจัยวิทยาการสื่อสารของมนุษย์และคอมพิวเตอร์ เนคเทค กล่าวว่า การดำเนินโครงการในช่วงแรก ทีมวิจัยได้เข้าไปติดตามขั้นตอนการบริการด้านการแก้ไขการพูด พบว่าการแก้ไขการพูดของเด็ก จะต้องมีการตรวจประเมินการพูดไม่ชัดและการสั่นพ้องของเสียงผ่านแบบทดสอบมาตรฐานโดยผู้เชี่ยวชาญ เป็นการให้เด็กพูดออกเสียงตามแบบทดสอบมาตรฐาน ถ้าหากผู้ป่วยรายใดต้องการการตรวจละเอียดขึ้นจะถูกส่งไปตรวจด้วยเครื่อง Nasometer ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้วัดสัดส่วนพลังงานของเสียงที่ออกทางจมูกและปาก ซึ่งการตรวจแต่ละรายรวมแล้วอาจใช้เวลามากกว่า 30 นาที ทำให้ต่อวันรับคนไข้ไม่ได้มากเท่าที่ควร ที่สำคัญเครื่อง Nasometer เป็นเครื่องมือที่มีราคาแพง และมีใช้เฉพาะในโรงพยาบาลที่เป็นสถาบันการศึกษาขนาดใหญ่เท่านั้น ทีมวิจัยจึงเล็งเห็นว่าเทคโนโลยีด้านไอทีน่าจะเข้ามามีส่วนช่วยในการรักษาเด็กที่มีภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ได้มาก
เครื่องประเมินการแปรเสียงและการสั่นพ้องของเสียง (Naso-articulometer)
คือ เครื่องมือที่ทีมวิจัยได้ร่วมกันพัฒนาเพื่อช่วยให้การตรวจประเมินการแปรเสียงและการสั่นพ้องของเสียงพูด ที่เป็นมาตรฐาน ซึ่งช่วยประเมินการพูดไม่ชัดและการสั่นพ้องของเสียงผิดปกติได้ในเวลาเดียวกัน โดยตั้งเป้าว่าเครื่องมือนี้จะทำให้การตรวจมีประสิทธิภาพและประหยัดเวลาการตรวจได้มากขึ้น
ดร.ชัย กล่าวว่า เราพัฒนาซอฟต์แวร์ขึ้นมาใช้ช่วยในการตรวจประเมิน ประกอบด้วยแท็บเลต 2 เครื่อง สำหรับผู้ป่วยและนักแก้ไขการพูด ส่วนขั้นตอนการทำงานคือ นักแก้ไขการพูดจะบันทึกข้อมูลของผู้ป่วย และเลือกชุดคำหรือประโยคที่ใช้ทดสอบ จากนั้นผู้ป่วยอ่านคำหรือประโยคภายใต้การควบคุมของนักแก้ไขการพูด ซึ่งนักแก้ไขการพูดจะบันทึกเสียงที่พูดผิดปกติและสั่นพ้องของเสียงผู้ป่วย โดยอาศัยซอฟต์แวร์ที่พัฒนาขึ้นมาช่วยวิเคราะห์โดยอัตโนมัติ จากนั้นข้อมูลจะถูกเก็บไว้ในเซิร์ฟเวอร์ซึ่งแพทย์สามารถมาตรวจประเมินได้อีกในภายหลัง ทำให้ช่วยลดเวลาการตรวจได้มาก โดยการตรวจแบบเดิมจะมีการประเมินการพูดในสถานการณ์จริงและบันทึกลงกระดาษ เพื่อนำไปกรอกลงในระบบและประเมินผลอีกครั้ง ไม่มีการเก็บข้อมูลอัตโนมัติ
“นอกจากนี้การประเมินการสั่นพ้องของเสียงในเด็กปากแหว่งเพดานโหว่ ต้องอาศัยเครื่องมือในการเก็บเสียง ซึ่งมีลักษณะเป็นชุดครอบศีรษะ (Headset) ที่มีไมโครโฟนรับพลังงานเสียงจากปากและจมูกแยกกัน โดยมีแผ่นโลหะกั้นระหว่างไมโครโฟน เพื่อเก็บเสียงแล้วนำมาวิเคราะห์หาสัดส่วนพลังงานของเสียงที่ออกทางจมูกและปาก เป็นอุปกรณ์ที่มีราคาแพงและมีอยู่ไม่กี่โรงพยาบาล ขณะนี้ทีมวิจัยได้ศึกษาและพัฒนาแผ่นโลหะกั้นพลังงานของเสียง โดยพบว่า แผ่นเบคิไลท์มีน้ำหนักเบาที่สุดและกั้นเสียงได้ดีระดับหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นวัสดุที่จะนำมาผลิตใช้ทดแทนแผ่นโลหะได้ในอนาคต เพื่อใช้ร่วมกับเครื่องประเมินการแปรเสียงอัตโนมัติ”
อย่างไรก็ดีขณะนี้เครื่องประเมินการแปรเสียงและการสั่นพ้องของเสียงแบบอัตโนมัติอยู่ระหว่างการทดสอบการใช้งานตามโครงการขอรับรองจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ โดยอยู่ในระหว่างการทดลองกับผู้ป่วยอาสาสมัครใน 2 โรงพยาบาล คือ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และอีก 2 โรงพยาบาล คือ โรงพยาบาลนครเชียงใหม่ และโรงพยาบาลหาดใหญ่ ในอนาคตอันใกล้ ในเบื้องต้นผลการทดลองก็พบว่าช่วยลดเวลาการตรวจของนักแก้ไขการพูดได้มากขึ้น
“จากที่ทำงานมา ได้พบผู้ป่วยเด็กมาเยอะเหมือนกัน หลายคนไม่มีเงิน ไม่มีเวลามากพอที่จะเข้าคอร์สรักษากับนักแก้ไขการพูดแบบต่อเนื่องยาวนานได้ เพราะพ่อแม่ก็ต้องทำงาน ต้องปล่อยลูกพูดผิดปกติอยู่อย่างนั้นจนโต เป็นเรื่องที่ค่อนข้างเศร้า ทีมวิจัยก็คาดหวังว่า เครื่องประเมินการแปรเสียงและการสั่นพ้องของเสียงแบบอัตโนมัติที่พัฒนาขึ้นนี้จะมีส่วนช่วยสนับสนุนการทำงาน ลดภาระงานของนักแก้ไขการพูด และเพิ่มโอกาสให้เด็กๆ ที่มีภาวะปากแหว่งเพดานโหว่เข้าถึงการรักษาได้มากขึ้น ที่สำคัญคือหากเราพัฒนาเครื่องตรวจได้เองก็จะช่วยลดการนำเข้าเครื่องมือที่มีราคาจากต่างประเทศด้วย พร้อมกันนี้ในอนาคตทีมวิจัยมีแผนพัฒนาแอปพลิเคชันที่ใช้ในการฝึกพูด เป็นบทเรียนในการฝึกที่เด็กๆ ฝึกพูดเองกับผู้ปกครองที่บ้านได้ เพื่อให้เกิดการฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง และลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาพบแพทย์” ดร.ชัย กล่าว
เครื่องประเมินการแปรเสียงอัตโนมัติ นับเป็นหนึ่งในผลงานเทคโนโลยีด้านไอที นวัตกรรมดีๆ ที่จะช่วยเรียกคืนรอยยิ้มอันสดใสและลดปัญหาการพูดไม่ชัดของเด็กที่มีภาวะปากแหว่งเพดานโหว่