ในสถานการณ์ปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นอย่างมากประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐจำนวนมากต้องประสบกับความเดือดร้อน ความไม่ปลอดภัย ความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ปัญหาร้ายแรงหนึ่งที่สร้างความเสียหายต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชนผู้บริสุทธิ์จำนวนมากคือ การที่กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบลอบวางระเบิดและทำการจุดระเบิดที่มีอานุภาพการทำลายล้างโดยใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งในการจุดชนวนระเบิดทำได้ง่ายและยากต่อการจับกุมตัวผู้ก่อการ เนื่องจากผู้ก่อการสามารถดักซุ่มอยู่ในระยะไกลและลับตา หรืออยู่ในจังหวัดอื่นได้ในขณะที่กำลังจุดชนวนระเบิด นอกจากนั้นผู้ก่อการสามารถเลือกทำลายเป้าหมายและเหยื่อตามที่ต้องการได้
คณะวิจัยจึงได้วิจัยพัฒนาเครื่องรบกวนสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งมีเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพดีกว่าและราคาถูกกว่าเครื่องรบกวนสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่นำเข้าจากต่างประเทศ นอกจากนี้การบำรุงรักษายังทำได้สะดวกเพราะสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็วและประหยัดงบประมาณ เนื่องจากอาศัยชิ้นส่วนและอุปกรณ์ส่วนมากที่มีมาตรฐานภายในประเทศ อีกทั้งยังอาศัยวงจรอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งออกแบบและจดสิทธิบัตรโดยคณะวิจัย และคณะวิจัยได้ตั้งชื่อเครื่องรบกวนสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่พัฒนาขึ้นว่า “T-box”
T-box มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 จนถึงปัจจุบัน โดยคณะวิจัยของหน่วยปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อความมั่นคงของประเทศ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากสำนักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหม กระทรวงกลาโหม ในการให้คำปรึกษาและทดสอบเครื่องตัดสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ T-box ได้รับการพัฒนาทั้งรูปแบบและความสามารถให้มีประสิทธิภาพดีขึ้นและเหมาะสมกับสภาพการใช้งานจริงในพื้นที่ T-box แต่ละรุ่นได้มีการนำไปใช้ในภารกิจจริงในเขตสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และสามารถใช้งานได้ดีกว่าหรือเทียบเท่ากับเครื่องตัดสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่นำเข้าจากต่างประเทศ โดยมีมูลค่าถูกกว่าของนำเข้าประมาณ 3 เท่า และเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2550 คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติงบประมาณให้กับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในในการจัดซื้อยุทโธปกรณ์เครื่องตัดสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ ขนาด 15 วัตต์ ทั้งนี้ได้จัดสรรงบประมาณให้ ศูนย์ฯ ดำเนินการจัดทำอุปกรณ์ดังกล่าว จำนวน 88 เครื่อง ในมูลค่า 42 ล้านบาทเศษ เพื่อนำไปใช้ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
ภาพแสดงวิวัฒนาการของ T-box
T-Box 1.0b
T-Box 2.0
T-Box 2.2
T-Box 2.3
T-Box 2.4
T-Box 2.5
T-box 3.0 รูปที่ 1
T-box 3.0 รูปที่ 2
คุณสมบัติและลักษณะเด่นของ T-box 3.0
- ใช้รบกวนสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ทำให้เกิดการระงับหรือตัดขาดการใช้งานในบริเวณพื้นที่จำกัด เช่น ใช้ในการรักษาความปลอดภัยให้กับเจ้าหน้าที่ในการเก็บกู้วัตถุระเบิด ใช้รักษาความปลอดภัยแก่เจ้าหน้าที่ในพื้นที่เสี่ยงต่อการลอบวางระเบิดหรือการระเบิดซ้ำ
- มีคุณสมบัติในการรบกวนการส่งสัญญาณของโทรศัพท์เคลื่อนที่ ที่เปิดให้บริการอยู่ในประเทศไทยได้แก่ ระบบที่ใช้ความถี่ในช่วงคลื่น 800 เมกะเฮิรตซ์ 900 เมกะเฮิรตซ์ 1800 เมกะเฮิรตซ์ 1900 เมกะเฮิรตซ์ และ 2100 เมกะเฮิรตซ์ และรองรับแหล่งจ่ายพลังงานจากไฟฟ้ากระแสสลับ 220 โวลต์ กระแสตรง 12 โวลต์ และ 24 โวลต์
- มีประสิทธิภาพการทำงานดีกว่าเครื่องรบกวนสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่นำเข้าจากต่างประเทศ แต่ราคาถูกกว่า
- การดำเนินการซ่อมแซมและบำรุงรักษาสามารถทำได้ง่ายและรวดเร็ว เนื่องจากชิ้นส่วนและอุปกรณ์ต่างๆ ส่วนมากสามารถจัดหาได้จากในประเทศ รวมถึงมีเครื่องสำรองให้ใช้ระหว่างการซ่อมแซมอุปกรณ์ ซึ่งทำให้มีค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาต่ำกว่าเครื่องที่นำเข้าจากต่างประเทศ
หน่วยงานที่มีการนำผลงานประดิษฐ์คิดค้น T-box ไปใช้ในประโยชน์ ได้แก่
- สำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหม
- กองทัพเรือ
- กองทัพบก
- กองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้
- กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน
- กรมราชองครักษ์
- กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
คุณสมบัติเครื่องรบกวนสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ T-Box 3.0
วัตถุประสงค์การใช้งาน
ใช้รบกวนสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ เพื่อให้เกิดการระงับหรือตัดขาดการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ ภายในบริเวณพื้นที่รัศมีทำการของเครื่องรบกวน
ลักษณะทั่วไป
- เป็นเครื่องรบกวนสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ขนาดกลาง มีกำลังส่ง 15 วัตต์ต่อช่องสัญญาณ
- มีความเหมาะสำหรับใช้ภายในอาคาร ในห้องโถง หรือบริเวณจำกัดที่ต้องการตัดการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่
- เลือกใช้แหล่งจ่ายได้ทั้งไฟฟ้ากระแสตรง 24V หรือกระแสสลับ 220V 50Hz
- มีแบตเตอรี่ 24V บรรจุอยู่ภายในตัวเครื่อง