ThaiJO 2.0 : Thai Journals Online

Facebook
Twitter
ThaiJO

วารสารวิชาการ (Academic/Research Journal) เป็นช่องทางการนำเสนอผลงานทางวิชาการ ของนักเรียน นักศึกษา อาจารย์ นักวิจัย และนักวิชาการในสาขาต่างๆ สำหรับประเทศไทยมีระบบบริการวารสารอิเล็กทรอนิกส์กลางของประเทศ คือ ระบบ ThaiJO หรือ Thai Journals Online ที่เป็นแหล่งรวมวารสารวิชาการที่ผลิตในประเทศไทยทุกสาขาวิชา ทั้งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์ ปัจจุบันมีวารสารที่อยู่ในระบบฯ กว่าร้อยละ 80 ของวารสารทั้งหมดในประเทศไทย

ถึงแม้จะมีระบบวารสารอิเล็กทรอนิกส์กลางให้บริการในประเทศ แต่ยังไม่สามารถตอบโจทย์การใช้งานเท่าที่ควร โดยตลอดระยะเวลากว่า 15 ปี (พ.ศ. 2545-2559) มีผู้ใช้งานในระบบเพียง 235 วารสารเท่านั้น ซึ่งปัญหาของระบบเดิมของ ThaiJO สามารถแบ่งเป็น 3 ประเด็นหลักคือ

  1. การรองรับปริมาณวารสารขนาดใหญ่ เดิม ระบบ ThaiJO ถูกออกแบบมาเพื่อบริหารจัดการวารสารในปริมาณหนึ่ง ซึ่งไม่เพียงพอกับการให้บริการวารสารทั้งประเทศ
  2. ระบบเดิมใช้งานยากไม่เหมาะกับทีมบรรณาธิการวารสาร ที่ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์
  3. ระบบเดิมยังไม่ครอบคลุมกระบวนการทำงานของทีมบรรณาธิการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการอบรมการใช้งาน ThaiJO นั้นไม่สามารถจัดทำให้ครอบคลุมทีมบรรณาธิการทั้งหมดได้ เนื่องจากต้องใช้ทรัพยากรทั้งคนและเวลาในการอบรม รวมถึงทีมงานบรรณาธิการที่มีการผัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันตลอดเวลา

ก้าวข้ามขีดจำกัดสู่ ThaiJO 2.0 ยกระดับ “วงการวารสารวิชาการ”

ด้วยความร่วมมือของสองหน่วยงานระหว่าง ศูนย์ดรรชนีการอ้างอิงวารสารไทย (TCI) ซึ่งมีภารกิจโดยตรงในการยกระดับคุณภาพวารสารไทยและ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ได้ร่วมกันพัฒนาและปรับปรุงระบบสู่ ThaiJO 2.0 โดยพัฒนามาจากซอฟต์แวร์ Open Journal System (OJS) ซึ่งเป็นโอเพนซอร์สซอฟต์แวร์ที่ได้รับความนิยมทั่วโลก ถูกนำมาปรับปรุงแก้ปัญหาข้อบกพร่องต่างๆ ของระบบเดิมให้สามารถรองรับข้อมูลวารสารทั้งประเทศได้ เพิ่มกระบวนการให้สมบูรณ์สอดคล้องกับการทำงานของทีมบรรณาธิการวารสาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผนวกกระบวนการตรวจความซ้ำซ้อน (Plagiarism checking) ด้วยระบบ CopyCatch ไว้ใน ThaiJo2.0 ด้วย และที่สำคัญคือการปรับปรุงให้ระบบใช้งานง่ายเหมาะสำหรับทีมบรรณาธิการที่ไม่จำเป็นต้องมีทักษะคอมพิวเตอร์ที่ดีมากนัก

จุดเด่นของ ThaiJO 2.0

  • การบริหารจัดการระบบที่ส่วนกลาง ไม่เป็นภาระของทีมบรรณาธิการวารสาร
  • มีกระบวนการตรวจสอบความซ้ำซ้อน (Plagiarism Checking) ในระบบ โดยใช้เครื่องมือ CopyCatch ให้ข้อมูลแก่บรรณาธิการเพื่อสนับสนุนการพิจารณาคุณภาพบทความ
  • ยกระดับการยอมรับวารสาร ด้วยการประเมินคุณภาพวารสารวิชาการนั้น เว็บไซต์ที่ได้มาตรฐาน ถือเป็นเกณฑ์หลักของทุกฐานข้อมูลวิชาการ ทั้งภายในประเทศ (Thai Citation Indexed) หรือระดับนานาชาติ เช่น Scopus, Web Of Science เป็นต้น
  • ตอบโจทย์การมีเว็บไซต์ที่มีคุณภาพได้มาตรฐานของวารสารวิชาการไทย เนื่องจากที่ผ่านมา ด้วยข้อจำกัดเรื่องงบประมาณและบุคลากร ทำให้มีวารสารจำนวนไม่มากนักที่มีเว็บไซต์ที่ได้มาตรฐานของตัวเอง

ThaiJO คลังข้อมูลวารสารขนาดใหญ่ของประเทศ

ThaiJO 2.0 มีการบริหารจัดการระบบที่ส่วนกลาง และมีกระบวนการทำงานที่เอื้อกับทีมบรรณาธิการวารสาร ครบถ้วน ใช้งานง่าย ทำให้สามารถเข้าถึงวารสารและผลงานวิจัยต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้นอีกด้วย นอกจากในมุมของการบริการวารสารแล้ว ThaiJO 2.0 ยังช่วยให้เรามีคลังความรู้วิชาการของนักวิจัยไทย ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดได้อีกมากมาย ปัจจุบันมีวารสารที่ใช้งานระบบ ThaiJO 2.0 กว่า 800 วารสาร เติบโตจากระบบเดิมราวๆ ปีละ 200%

ThaiJO

ThaiJO

ในอนาคตทีมพัฒนามุ่งหวังที่จะพัฒนาระบบ ThaiJO เพื่อยกระดับการยอมรับของวารสารไทยอย่างไม่หยุดยั้ง โดยวารสารที่ต้องการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของ TCI หรือเป็นส่วนหนึ่งของวารสารนานาชาติ จำเป็นต้องให้บริการผ่านเว็บไซต์ที่ได้มาตรฐาน ซึ่ง ThaiJO 2.0 พร้อมตอบโจทย์และเติมเต็มในเงื่อนไขดังกล่าว

สนใจใช้งานระบบ

ใช้งานระบบได้ที่ https://www.tci-thaijo.org/
ติดตามข่าวสารและกิจกรรมอบรม หรือสอบถามเพิ่มเติม
Facebook: https://www.facebook.com/ThaiJo2.0/