Adaptive Education Platform : ระบบวิเคราะห์พฤติกรรมการเรียนรู้ แนะนำเนื้อหาเฉพาะบุคคล

Facebook
Twitter

การศึกษาไม่ได้จํากัดแค่ในห้องเรียน เรียนได้ ทุกที่ทุกเวลา (Anywhere Anytime) เทรนด์การศึกษาของโลกในปี 2024 เน้นผู้เรียนเป็นหลัก เป็นการเรียนที่ปรับวิธีการเรียนให้ตรงกับรูปแบบการเรียนรู้ของผู้เรียน เนื่องจากผู้เรียนแต่ละคนมีกระบวนการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน การปรับเนื้อหาและรูปแบบให้เข้ากับผู้เรียน จะทำให้การเรียนรู้ทำได้รวดเร็ว เหมาะสม สอดคล้องกับความสามารถเพื่อที่จะได้พัฒนาศักยภาพของผู้เรียนได้อย่างเต็มที่ ส่งเสริมการเรียนรู้ยุคใหม่

Adaptive Learning

แพลตฟอร์มสอนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม แบบ Adaptive มุ่งพัฒนาเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างเหมาะสมตามระดับความสามารถ เพื่อให้ผู้เรียนเกิดทักษะแห่งอนาคต ช่วยทำให้ผู้เรียนทุกคนบรรลุเป้าหมายได้ โดยเพิ่มทักษะการลงมือปฏิบัติผ่านเครื่องมือออนไลน์

ในระบบ e-Learning การนำเข้าบทเรียนเป็นเครื่องมือมาตรฐานที่มีอยู่แล้ว แต่ที่สามารถติดตามพฤติกรรมของผู้เรียนได้นั้นยังไม่มี “ระบบวิเคราะห์พฤติกรรมการเรียนรู้” ที่พัฒนาจะตอบโจทย์เทรนด์การศึกษา ‘เรียนแล้วติดตาม วิเคราะห์ประเมินผล จบครบในที่เดียว’ ด้วยการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการติดตามพฤติกรรมการเรียนรู้และนำผลการวิเคราะห์มาแนะนำเนื้อหาที่เหมาะสมสำหรับแต่ละบุคคล

ระบบติดตามพฤติกรรมการเรียนรู้และแนะนำเนื้อหาเฉพาะบุคคล เป็นเครื่องมือเพื่อติดตามและวิเคราะห์พฤติกรรมการเรียนรู้บนเนื้อหาหลากหลายรูปแบบ เน้นการนำไปใช้กับ e-Learning ซึ่งสามารถนำไปใช้ในแบบอื่น ๆ ได้

ออกแบบเนื้อหาเฉพาะบุคคล

 เทคโนโลยีจะออกมาในลักษณะของ STEM Base บูรณาการความรู้ระหว่าง 4 สาขาวิชา ได้แก่ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ซึ่งมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการศึกษาในปัจจุบัน และเป็นโครงการที่อยู่ในเทรนด์ของโลก การวิเคราะห์พฤติกรรมการเรียนรู้ส่วนใหญ่จะนำไปใช้กับ e-Learning ซึ่งในประเทศและต่างประเทศ มีการใช้ e-Learning อย่างแพร่หลาย เช่น Coursera Plus, Conicle, OpenDurian เป็นต้น

ระบบที่มีอยู่ในปัจจุบันยังมีบางประเด็นที่น่าจะเพิ่มเติมได้ e-Learning ทั่วไป ส่วนใหญ่เนื้อหาจะเป็น PDF, VDO หากต้องการเพิ่มวิชาเฉพาะ เช่น STEM ต้องใช้เนื้อหาในรูปแบบอื่นที่ทำให้การเรียนรู้ดีขึ้น อีกทั้งส่วนที่ยังขาดใน e-learning ปัจจุบันก็คือ เครื่องมือที่ติดตามพฤติกรรมการเรียนรู้อย่างละเอียดมาก ๆ ซึ่งยังไม่มีการนำเครื่องมือติดตามตัวอื่นมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นการติดตามพฤติกรรมการอ่าน pdf การดู vdo หรือ การใช้งาน simulator แล้วยังเรื่อง coding วิทยาการข้อมูล ปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งเน้นทักษะการลงมือปฏิบัติก็ยังไม่มี ที่สำคัญยังไม่สนับสนุนให้สร้างเนื้อหาที่มีการติดตามพฤติกรรมการเรียนรู้ได้ แต่เราจะสร้างเครื่องมือ และเปิดโอกาสให้คนอื่น ๆ สามารถนำเครื่องมือไปใช้ติดตามพฤติกรรมบน e-Learning ที่มีอยู่ได้

โครงสร้างของระบบ แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่

  1. ส่วนจัดการเนื้อหา Learning Management System, LMS
  2. ส่วนเครื่องมือ Adaptive Education Components, AE
  3. ส่วนโครงสร้างพื้นฐานAdaptive Infrastructure

Learning Management System, LMS ระบบแนะนำเนื้อหาการเรียนรู้เฉพาะบุคคล ที่เหมาะสมสำหรับผู้เรียน โดยใช้เป็นเครื่องมือสำหรับการประเมินศักยภาพการเรียนรายวิชา เพื่อแนะนำเนื้อหาที่สอดคล้องและเหมาะสมสำหรับผู้เรียนเฉพาะบุคคล สำหรับหน่วยงานที่มีระบบการเรียน e-Learning เป็นของตนเอง หน่วยงานสามารถเลือกใช้เครื่องมือตามรูปแบบเนื้อหาที่ต้องการ แยกส่วนการวิเคราะห์ และแสดงผลนั้นได้เลย ไม่จำเป็นต้องใช้ร่วมกันทั้งหมดก็ได้

Adaptive Education Components, AE ระบบติดตามพฤติกรรมการเรียนรู้ ประกอบด้วย เครื่องมือติดตามพฤติกรรม 3 รูปแบบ

  1. เครื่องมือติดตามพฤติกรรมการอ่าน PDF ซึ่งจะวิเคราะห์พฤติกรรมการอ่าน โดยวัดจากความสนใจ ระยะเวลาที่อยู่กับเนื้อหาของผู้เรียน ระบบสามารถบันทึกกิจกรรมการเรียนรู้ของผู้เรียน ผ่านการพลิกหน้า การจดบันทึก การทำไฮไลต์ ขณะที่ผู้เรียน ๆ ผ่าน e-book ระบบจะวิเคราะห์การเรียนรู้จาก PDF และนำมาแสดงผลการติดตาม
  2. Coding Simulator ติดตามพฤติกรรม การเขียนคำสั่งโดยการลากและวาง Block บนบอร์ดจำลองเพื่อดูความเข้าใจ ความถูกต้อง และนำไปวิเคราะห์การและติดตามผู้เรียน
  3. Chatbot ช่วยในส่วนคำถามคำตอบ โดย chatbot จะส่งคำถามให้ผู้เรียนหลายระดับ ถ้าผู้เรียนสามารถตอบคำถามระดับใดได้ดี Chatbot ก็จะคัดเลือกคำถามที่เหมาะสมให้กับผู้เรียน

Adaptive Infrastructure ออกแบบโครงสร้างให้รองรับการเพิ่มเครื่องมือติดตามพฤติกรรม และจะมีการส่งผลการวิเคราะห์ของเครื่องมือนั้นไปที่ Adaptive analytics เพื่อประมวลผลรวม ซึ่งเก็บอยู่บนอยู่บน MECA แพลตฟอร์มคลาวด์เซอร์วิส ปัจจุบันเปิดให้บริการอยู่

การใช้งาน

  • สำนักงานราชบัณฑิตยสภา ใช้ Book Roll เครื่องมือในการติดตามการอ่าน PDF
  • เนคเทค ใช้ PDF, Coding Simulator กับหลักสูตรที่อบรมด้านการพัฒนากำลังคน
  • สำนักการศึกษา กทม. ออกแบบร่วมกับเนคเทคในการทำหลักสูตรทุกช่วงชั้น
  • ร่วมกับด้านการแพทย์ ส่งเสริม 3A Learning Platform ในกลุ่มผู้บกพร่องด้านการเรียนรู้

การขยายผล

มีการขยายผลไปสู่หน่วยงานด้านการศึกษา ได้แก่ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และขยายผลการใช้งานในโรงเรียนเขตพื้นที่ EEC

ในการพัฒนาระบบนั้นอาศัยความเชี่ยวชาญของทีมวิจัยหลายส่วน อาทิ ทีมวิจัยเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ทีมวิจัยเทคโนโลยีภาษาธรรมชาติและความหมาย ทีมวิจัยอิเล็กทรอนิกส์และระบบทางชีวการแพทย์ กลุ่มวิจัยปัญญาประดิษฐ์ และทีมวิจัยการเข้าใจเสียงและข้อความ งานแพลตฟอร์มบริการและนวัตกรรมอินเทอร์เน็ต ในการเป็นแนวร่วมในการพัฒนา โดยในปี 2567 ผู้พัฒนาได้ส่งมอบ

  • ระบบ Adaptive Education ที่แล้วเสร็จ โดยมีเนื้อหาเบื้องต้นเป็นวิชาวิทยาการคำนวณ ช่วงชั้น ป .4 – ม.4
  • ระบบติดตามพฤติกรรมการเรียนรู้ผ่านเครื่องมือ BookRoll, KidBright Simulator และ Chatbot
  • ส่วนวิเคราะห์การเรียนรู้จากการนำผลการติดตามพฤติกรรมของแต่ละเครื่องมือมาประมวลผลร่วมกัน
  • ระบบแสดงผลการการเรียนรู้ของแต่ละบุคคล
  • นำร่องอบรมการใช้งานระบบให้แก่คุณครูและนักเรียน 600 คน

เปิดให้บริการติดตั้งแพลตฟอร์ม Adaptive Education และ Maintenance แก่หน่วยงานที่ต้องการ (Private service) ติดต่อสอบถามได้ที่ ทีมวิจัยเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา หรือ info@nectec.or.th