Museum Pool ระบบจัดการข้อมูลพิพิธภัณฑ์แบบเครือข่าย วิจัยพัฒนาโดยทีมวิจัยระบบระบุตำแหน่งและบ่งชี้อัตโนมัติ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) เพื่อให้เป็นแพลตฟอร์มบริหารจัดการเนื้อหานำชมพิพิธภัณฑ์ที่สะดวกทั้งผู้จัดแสดงและผู้เยี่ยมชม นำชมได้ด้วยตนเอง สะดวกและได้รับความรู้เรื่องราวด้านศิลปวัฒนธรรม และเป็นการสนับสนุนการท่องเที่ยวในชุมชนในอีกมิติหนึ่ง
บริหารจัดการข้อมูลและนำชม
Museum Pool แบ่งส่วนการจัดการข้อมูลและการนำชมพิพิธภัณฑ์ ออกเป็น 2 ส่วน
- ส่วนผู้จัดแสดง มีเว็บแอปพลิเคชันให้สำหรับเจ้าของข้อมูลในการบริหารจัดการข้อมูลสื่อนำชม สามารถเสร้างเนื้อหานำชมได้ด้วยตนเอง รองรับสื่อนำเสนอหลายรูปแบบ ทั้งข้อความ รูปภาพ เสียง วิดิทัศน์ Augmented Reality (AR) หรือ Virtual Reality (VR) และสรุปสถิติการเข้าชมแต่ละชิ้นงานจัดแสดง ตรวจสอบสถิติการเข้าชมแต่ละพื้นที่จัดแสดง เพื่อนำไปบริหารจัดการจุดนำชมต่าง ๆ ได้ ซึ่งระบบสามารถรองรับการนำชมได้ทั้งภายในอาคารและภายนอกอาคาร
- ส่วนผู้เยี่ยมชม เพียงดาวน์โหลดแอปพลิเคชันครั้งเดียว ก็สามารถใช้ได้กับทุกพิพิธภัณฑ์ในเครือข่ายของ Museum Pool ออกแบบมาให้ใช้งานง่าย เปิดแอปและสแกนบาร์โค้ดบนชิ้นงาน ก็สามารถรับฟังข้อมูลภาพและเสียงได้ทันที ทำให้เด็กและเยาวชนไทยเรียนรู้ประวัติศาสตร์ได้อย่างสนุกสนาน อีกทั้งยังรองรับการใช้งานได้หลายภาษา ทำให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้าใจวัฒนธรรมไทยได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถประยุกต์ใช้ได้หลากหลาย เช่น ในงานแสดงสินค้า นิทรรศการหมุนเวียน โบราณสถาน แหล่งความรู้ในชุมชน หรือจุดท่องเที่ยว โมไบล์แอปพลิเคชัน (Mobile Application) จะทำให้ผู้เข้าชมเข้าถึงข้อมูล ก่อนที่จะมาถึงสถานที่ และได้ข้อมูลเชิงลึกเมื่อเข้าถึงสถานที่ ออกแบบมาให้ใช้งานง่าย เพียงเปิดแอปพลิเคชันและสแกน QR หรือ อ่าน Near Field Communication (NFC) บนชิ้นงานจัดแสดง ก็สามารถรับฟังข้อมูลสภาพ เสียง วิดีโอ AR หรือ VR ได้ทันที
รูปแบบการให้บริการ
Museum Pool ให้บริการนำชมพิพิธภัณฑ์ ทั้งแบบที่เดินทางไปยังพิพิธภัณฑ์จริงและแบบพิพิธภัณฑ์เสมือน การนำชมในแบบพิพิธภัณฑ์เสมือนจะนำเสนอข้อมูลเบื้องต้นให้กับผู้ใช้งานเท่านั้น ในขณะที่การนำชมในพิพิธภัณฑ์จริง ผู้เข้าชมสามารถดูเนื้อหาของวัตถุจัดแสดงแบบละเอียดได้โดยการอ่าน QR Code ที่ติดอยู่กับวัตถุเพื่อให้ผู้เข้าชมเข้าใจในวัตถุจัดแสดงมากยิ่งขึ้น
“รองรับเน็ตสะดุด” พัฒนาระบบฯ แบบพกพา แก้ปัญหาข้อจำกัดของเครือข่าย
การเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ ผ่านอุปกรณ์ส่วนตัวของผู้เข้าชม หรือนักท่องเที่ยว มีความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว สามารถเลือกรับข้อมูลวัตถุจัดแสดงต่าง ๆ ได้อย่างอิสระ มีความเป็นส่วนตัว และไม่รบกวนนักท่องเที่ยวรายอื่น ถือเป็นจุดเด่นของ Museum Pool ที่สำคัญ แต่ยังมีข้อจำกัดของสัญญาณอินเทอร์เน็ตในพื้นที่ ไม่รองรับการใช้งานของพื้นที่ที่จัดแสดง ทีมวิจัย Museum Pool จึงพัฒนา “อุปกรณ์แบบพกพาสำหรับบริหารจัดการพิพิธภัณฑแบบคู่เสมือน” เพื่อแก้ปัญหาสัญญาณอินเทอร์เน็ตในพื้นที่ที่ไม่เสถียร ตัวอุปกรณ์จะทำหน้าที่สร้างเครือข่ายภายในขึ้นมาเพื่อให้บริการในบริเวณดังกล่าว ด้วยการใช้เทคนิคการปรับสแกนทางเครือข่ายเพื่อให้นักท่องเที่ยวยังคงใช้วิธีการสแกนป้ายคิวอารโค้ด เพื่อเขาถึงข้อมูลได้อย่างไม่ติดขัด
ด้วยจำนวนพิพิธภัณฑ์ที่มีมากเกือบถึง 100 แห่ง การจะทำให้ระบบที่พัฒนาเกิดความยั่งยืน เกิดการส่งต่อเทคโนโลยีไปใช้ยังพิพิธภัณฑ์อื่น ๆ จำต้องใช้การทำงานร่วมกับชุมชน สถาบันการศึกษา หรือหน่วยงานระดับท้องถิ่น ซึ่งมีความพร้อมและมีบุคลากรที่มีความรู้เกี่ยวกับพื้นที่ของตนเป็นอย่างดี ในพื้นที่ที่ขาดความพร้อมด้านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์สามารถเลือกใช้ระบบบริหารจัดการข้อมูลพิพิธภัณฑ์แบบเครือข่าย Museum Pool แบบพกพาได้
ปัจจุบันขยายผลการใช้ประโยชน์เทคโนโลยี Museum Pool แบบพกพา นำร่องสู่การใช้งานจริงในเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ ติดตั้งระบบที่พิพิธภัณฑ์และชุมชน รวมทั้งหมด 9 แห่ง ได้แก่
- เรือนพ่อคง เรือนโคราช จ.นครราชสีมา
- ศูนย์วัฒนธรรมไทโส้ จ.สกลนคร
- เสาหินบะซอลต์ จ.บุรีรัมย์
- พิพิธภัณฑ์ศูนย์การเรียนรู้หมู่บ้านเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน จ.นครราชสีมา
- พระมหาเจดีย์ชัยมงคล จ.ร้อยเอ็ด
- วัดสิรินธรวรารามภูพร้าว เมืองเรืองแสง จ.อุบลราชธานี
- วัดป่ากุง จ.ร้อยเอ็ด
- พิพิธภัณฑ์วัดบ้านสร้างเรือง จ.ศรีสะเกษ
- ตามรอยหลวงปู่มั่น จ.อุบลราชธานี