ประเทศไทยเคยครองแชมป์ผู้ส่งออกกุ้งอันดับ 1 ของโลก ในปี พ.ศ. 2553 และมีแนวโน้มที่จะขยายตัวขึ้นเรื่อย ๆ แต่หลังจากปี พ.ศ. 2555 กลับต้องประสบปัญหาการระบาดของโรคกุ้งที่มีอาการตายด่วน (Early Mortality Syndrome) ทำให้ผลผลิตกุ้งของไทยลดลงไปมากกว่าครึ่งนึง และสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจไปอย่างมหาศาล แม้ปัจจุบันอุตสาหกรรมกุ้งไทยเริ่มฟื้นตัวขึ้นแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถวางใจได้ เพราะโรคกุ้งอาจกลับมาระบาดได้อีกทุกเมื่อ
นอกจากโรคระบาดที่ต้องคอยเฝ้าระวังแล้ว กุ้งเป็นสัตว์น้ำที่มีความไวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ในบ่อเลี้ยงอย่างมาก เช่น ปริมาณออกซิเจน คุณภาพน้ำ ชนิดของแบคทีเรียในน้ำ เป็นต้น ซึ่งผู้เลี้ยงกุ้งต้องการทราบถึงภาวการณ์เปลี่ยนแปลงต่าง ๆ อย่างทันท่วงที เพื่อป้องกันและแก้ไขไม่ให้มีผลต่อการเจริญเติบโตและสุขภาพของกุ้ง แต่การตรวจข้อมูลสำคัญต่าง ๆ เหล่านี้ มักมีขั้นตอนยุ่งยาก ใช้เวลานานบางครั้งกว่าจะรู้ผลก็สายไปเสียแล้ว
ทีมวิจัยจึงได้พัฒนา ‘อะควาโกรว์’ เป็นระบบอัจฉริยะที่ช่วยเกษตรกรติดตามดูแลคุณภาพน้ำในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเศรษฐกิจ ประกอบด้วย 3 เทคโนโลยีหลัก คือ
- ระบบบริหารจัดการคุณภาพน้ำ
- อุปกรณ์ตรวจวัดปริมาณสารเคมี
- อุปกรณ์ตรวจวัดการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย
โดยจะมีการบันทึกและรวบรวมข้อมูลทั้ง 3 ด้านแบบ Real-time ผ่านเครือข่ายInternet of Things (IoT) ที่สำคัญระบบสามารถนำข้อมูลที่บันทึกมาวิเคราะห์เพื่อแจ้งเตือน พร้อมทั้งให้คำแนะนำการปรับสภาพบ่อเลี้ยงในเบื้องต้นแก่ผู้ใช้ เมื่อบ่อเลี้ยงอยู่ในสถานะสุ่มเสี่ยงได้อีกด้วย
จุดเด่นของเทคโนโลยี อะควาโกรว์
- เป็นแพลตฟอร์มการบริหารจัดการฟาร์มและการเพาะเลี้ยงกุ้งเศรษฐกิจแบบ Real-time และเชื่อมโยงข้อมูลแบบครบวงจร เป็นรายแรกของประเทศไทย ด้วยฝีมือนักวิจัยไทยเอง
- ระบบสามารถประเมินคุณภาพน้ำเบื้องต้น พร้อมทั้งให้คำแนะนำสำหรับการปรับสภาพบ่อได้ทันที ขณะที่ผู้ใช้งานก็สามารถดูข้อมูลและบริหารจัดการฟาร์มได้จากทุกที่ทุกเวลาผ่านสมาร์ตโฟน
- ที่สำคัญระบบ อะควาโกรว์ ยังนำไปใช้งานในภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่มีความจำเป็นต้องตรวจสอบคุณภาพน้ำ เช่น โรงงานผลิตอาหารหรือสินค้าแปรรูป ได้อีกด้วย
อุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้ง เป็นอุตสาหรรมที่สร้างรายได้ให้กับประเทศมากกว่า 100,000 ล้านบาท/ปี และปัจจุบันมีฟาร์มเพาะเลี้ยงกุ้งแบบหนาแน่นถึง 20,000 ฟาร์ม ทั่วประเทศ ดังนั้น อะควาโกรว์ จึงถือเป็นเครื่องมือสำคัญ ที่จะช่วยเกษตรกรติดตาม เฝ้าระวังคุณภาพต่าง ๆ ของบ่อเพาะเลี้ยงได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ทุกที่ทุกเวลา ช่วยลดการสูญเสียของผลผลิต ป้องกันความเสียหายจากภาวะกุ้งตายด่วนได้อย่างทันท่วงที และเมื่อผลผลิตกุ้งมีคุณภาพดี มีปริมาณมากขึ้น ก็จะช่วยสร้างรายได้ให้เกษตรกรมากขึ้น และทำให้ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกกุ้งรายใหญ่ในตลาดโลกต่อไปอย่างยั่งยืน
กลุ่มผู้ใช้งานเป้าหมาย
- เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
- ผู้จำหน่ายชุดทดสอบ
- ผู้ผลิตและจำหน่ายจุลินทรีย์
- ผู้ผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
- ผู้รับเหมาติดตั้ง Smart Farm
วิจัยและพัฒนาโดย
- ห้องปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีโฟโทนิกส์ (PTL)
ห้องปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีสมองกลฝังตัว (EST)
ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ
สนใจ / สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
- ฝ่ายพัฒนาธุรกิจและถ่ายทอดเทคโนโลยี (BTT)
ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค)
โทร. 0 2564 6900 ต่อ 2346, 2351-2354, 2357, 2382, 2383, 2399
email : business[at]nectec.or.th
- ภาพประกอบบทความ โดย
- นางสาวพฤกษา ชนาธิปกุล, นางสาวชนากานต์ วัฒนชาญณรงค์, นายณภัทร เชื่อมชัยตระกูล