IDA Platform | แพลตฟอร์มไอโอทีและระบบวิเคราะห์ข้อมูลอุตสาหกรรม (Industrial IoT and Data Analytics Platform)

Facebook
Twitter

การเปลี่ยนแปลงสู่เศรษฐกิจและสังคมที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ทำให้ทุกภาคส่วนต้องปรับตัวเพื่อผ่านพ้น Digital Disruption โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ทำให้ทุกอย่างหยุดชะงัก แต่กลับเป็นปัจจัยขับเคลื่อนให้ทุก ๆ บริบทของสังคมก้าวสู่โลกแห่งเทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่นเดียวกันกับภาคอุตสาหกรรมที่จำเป็นต้องมุ่งสู่อุตสาหกรรม 4.0 โดยเร็วที่สุดเพื่อข้ามผ่านวิกฤตนี้ไปให้ได้

…แต่จะทำอย่างไรจึงจะสามารถประยุกต์ใช้อุตสาหกรรม 4.0 ด้วยต้นทุนที่ต่ำที่สุดและเกิดความคุ้มค่ามากที่สุด
idaplatform

อย่างไรก็ตามประเทศไทยได้เตรียมความพร้อมเพื่อผลักดันวงการอุตสาหกรรมในประเทศสู่อุตสาหกรรม 4.0 ผ่านนโยบายและโครงการต่าง ๆ มากมาย หนึ่งในนั้น คือ การจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (Sustainable Manufacturing Center: SMC) โครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ภายในเมืองนวัตกรรมระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (ARIPOLIS) ภายใต้เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) เพื่อสนับสนุนการขยายผลงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของไทยสู่การใช้ประโยชน์ และลดช่องว่างการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศพร้อมผลักดันภาคอุตสาหกรรมไทยสู่ Industry 4.0 โดยพัฒนาโครงการนำร่อง คือ

แพลตฟอร์ม IDA – แพลตฟอร์ม IoT และระบบวิเคราะห์ข้อมูลอุตสาหกรรม (Industrial IoT and Data Analytics Platform)
 

แพลตฟอร์ม IDA – แพลตฟอร์ม IoT และระบบวิเคราะห์ข้อมูลอุตสาหกรรม

idaplatform

แพลตฟอร์ม IDA หรือ แพลตฟอร์ม IoT และระบบวิเคราะห์ข้อมูลอุตสาหกรรม (Industrial IoT and Data Analytics Platform: IDA Platform) นับเป็นหนึ่งโครงการนำร่องสำคัญภายใต้ศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (SMC) จากความร่วมมือระหว่าง ARIPOLIS-SMC สวทช. และพันธมิตรรัฐร่วมเอกชน

โดยเป็นแพลตฟอร์มที่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลจากจากอุปกรณ์ IoT (Internet of Things) ตรวจจับสัญญาณต่าง ๆ จากเครื่องจักรในกระบวนการผลิต สู่การวิเคราะห์และบูรณาการข้อมูล ทำให้ทราบสถานภาพของเครื่องจักร นำไปสู่การบริหารจัดการการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพและอนุรักษ์พลังงาน และตอบสนองความจำเป็นเร่งด่วนต่อการปรับตัวของ SME ในภาคการผลิต รวมทั้งสอดรับการเปลี่ยนแปลงรอบด้านภายหลังจากโควิด-19

สำหรับระยะนำร่อง แพลตฟอร์ม IDA ตั้งเป้าเริ่มดำเนินการเรื่องการตรวจสอบการใช้พลังงาน (Energy Monitoring) เป็นลำดับแรก โดยการรวบรวมและแสดงผลข้อมูลการใช้พลังงานของเครื่องจักรในโรงงานแบบ Real Time นอกจากนี้แพลตฟอร์ม IDA ยังสามารถเชื่อมโยงข้อมูลในระดับมหภาคเพื่อใช้วางแผนการจัดการด้านพลังงานของประเทศได้อย่างแม่นยำ พร้อมรองรับการบริหารจัดการพลังงานตามความต้องการของแต่ละช่วงเวลา (Demand Response) ในอนาคต ก่อนขยายผลสู่การปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตต่อไป

 

เทคโนโลยีในแพลตฟอร์ม IDA

เนคเทค-สวทช. ได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรม 4.0 หลายผลงาน สำหรับเทคโนโลยีที่เป็นส่วนหนึ่งของแพลตฟอร์ม IDA นั้น ได้แก่

[1] uRTU (Universal Remote Terminal Unit) หรือ หน่วยตรวจวัดระยะไกลยูนิเวอร์แซล

โดยการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อทราบต้นทุนรวมถึงภาพรวมด้านการใช้พลังงานเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานในโรงงานให้คุ้มค่าสูงสุด

[2] NETPIE (Network Platform for Internet of Everything) หรือ แพลตฟอร์มสื่อสารเพื่อเชื่อมต่อทุกสรรพสิ่ง

โดยเนคเทคและทีมระบบไซเบอร์-กายภาพ (CPS) สวทช. โดย “NETPIE 2020” แพลตฟอร์ม IoT สัญชาติไทยเวอร์ชันใหม่ล่าสุด ด้วยคุณสมบัติที่พัฒนาขึ้น เพื่อลดภาระและตอบโจทย์ผู้ใช้งานด้าน IoT โดยเฉพาะ ช่วยให้การพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือระบบ IoT ใด ๆ ก็ตามเป็นเรื่องง่าย ตั้งแต่ขั้นตอนการสร้างต้นแบบ การพัฒนาระบบเพื่อการใช้งานเชิงพาณิชย์ ไปจนถึงการดูแลรักษา ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานเชิงพาณิชย์อย่างเต็มรูปแบบ

 

การประยุกต์ใช้งานแพลตฟอร์ม IDA

แพลตฟอร์ม IDA เป็นแพลตฟอร์ม IoT และระบบวิเคราะห์ข้อมูลอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงข้อมูลจากเครื่องจักรการผลิตสู่การวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytic) อย่างอิสระ ดังนั้น แพลตฟอร์ม IDA จึงสามารถประยุกต์ใช้งานครอบคลุมได้หลายมิติ ไม่ว่าจะเป็น

[1] การตรวจวัดปริมาณการใช้พลังงานในโรงงาน (Energy Monitoring)
โดยการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อทราบต้นทุนรวมถึงภาพรวมด้านการใช้พลังงานเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานในโรงงานให้คุ้มค่าสูงสุด
[2] การปรับปรุงประสิทธิภาพของกระบวนการผลิต หรือ Overall Equipment Effectiveness (OEE)
โดยการเชื่อมโยงข้อมูลพารามิเตอร์ต่าง ๆ ของเครื่องจักรเพื่อวิเคราะห์ประสิทธิผลโดยรวมที่บ่งบอกความพร้อมของเครื่องจักรซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของประสิทธิภาพการผลิต นำไปสู่การแก้ไข ปรับปรุงกระบวนการผลิตอย่างตรงจุดเพื่อเพิ่ม Productivity แก่โรงงานอุตสาหกรรม
[3] การบำรุงรักษาเชิงพยากรณ์ (Predictive Maintenance)
โดยการเชื่อมโยงข้อมูลพารามิเตอร์ต่าง ๆ ของเครื่องจักรมาวิเคราะห์อย่างต่อเนื่อง ถึงความเป็นไปได้ที่เครื่องจักรจะเกิดอาการเสียหายในอนาคต ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถวางแผนการซ่อมบำรุงได้อย่างทันท่วงที ช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการบำรุงรักษาเครื่องจักรในโรงงาน
 

แพลตฟอร์ม IDA กับการพัฒนาประเทศ เศรษฐกิจ และสถานประกอบการอุตสาหกรรม

[1] ประเทศไทย
IDA Platform จะรวบรวมและแสดงผลข้อมูลการใช้พลังงานของโรงงานแบบ Real-time ช่วยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานในประเทศเห็นภาพรวมการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงงานอุตสาหกรรมของประเทศไทย และสามารถนำข้อมูล Industrial Big Data นี้ไปใช้วางแผนการจัดการด้านพลังงานของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ
[2] เศรษฐกิจ
IDA Platform จะเป็นหนึ่งฟันเฟืองในการส่งเสริมการสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านนวัตกรรมที่จะมีผลต่อการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) ในการสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผู้ประกอบการให้สามารถใช้ทรัพยากรที่มีเชื่อมต่อกับห่วงโซ่อุปทานและเกิดมูลค่าการลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตและพัฒนาคุณค่าผลิตภัณฑ์และบริการจากงานวิจัยไทย
[3] สถานประกอบการ
การตรวจจับการใช้พลังงานในระดับเครื่องจักรแบบ Real-time ช่วยให้ผู้ประกอบการนำข้อมูลที่ได้ไปประกอบการตัดสินใจในการวางแผนและบริหารจัดการพลังงานในสถานประกอบการของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพพร้อมต่อยอดไปสู่การวัดประสิทธิภาพการผลิตของเครื่องจักร (Overall Equipment Effectiveness: OEE) และการบำรุงรักษาเชิงพยากรณ์ (Predictive Maintenance) ต่อไป
 

การร่วมโครงการกับแพลตฟอร์ม IDA

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้เปิดให้ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมที่สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการแพลตฟอร์ม IDA ภายในงาน Open House

โดยผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับการสนับสนุนด้านการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม ประกอบด้วย
[1] การประเมินระดับความพร้อมในการก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0
ด้วยดัชนีชี้วัดความพร้อมอุตสาหกรรมสมัยใหม่ (Smart Industry Readiness Index: SIRI) และได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ
[2] การติดตั้งและใช้งานแพลตฟอร์ม IDA (ด้านการตรวจสอบและจัดการการใช้พลังงาน)
ประกอบด้วย เซนเซอร์ตรวจจับสัญญาณต่อเชื่อมผ่านอุปกรณ์ Universal Remote Terminal Unit (uRTU) ส่งข้อมูลสัญญาณต่างๆ ขึ้น NETPIE แพลตฟอร์ม IoT โดยข้อมูลจะถูกนำไปแสดงให้เห็นบน Dashboard เพื่อแสดงสุขภาพของเครื่องจักร

นอกจากนี้โครงการ ฯ จะจัดทำความตกลงเรื่องการเก็บรักษาข้อมูลที่เป็นความลับอย่างชัดเจน พร้อมผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล (Information Security และ IoT Security) จากนักวิจัยเนคเทค – สวทช. และพันธมิตรที่ร่วมในโครงการฯ อีกด้วย

โดยโครงการฯ มีเป้าหมายขยายผลสู่ 500 โรงงานในระยะ 3 ปี สำหรับในปี 2563 นี้จะมีการติดตั้งแพลตฟอร์ม IDA ในโรงงานอุตสาหกรรมนำร่องขนาดเล็กและกลาง จำนวน 10 – 15 โรงงาน ประกอบไปด้วยโรงงานในกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารและยา อุปโภคบริโภค อิเล็กทรอนิกส์ บรรจุภัณฑ์ เป็นต้น โดยเป็นการร่วมทดสอบระบบและอุปกรณ์ที่ใช้ในแพลตฟอร์ม IDA ในการเชื่อมต่อกับผู้ผลิตเทคโนโลยีชั้นจากต่างประเทศ

สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมของเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตในระดับหนึ่งแล้วและมีความต้องการเทคโนโลยีขั้นกว่า (Advanced) ทีมวิจัยและวิศวกรรมของโครงการฯ ยินดีร่วมปรึกษากับโรงงานเพื่อรับโจทย์ ศึกษา และออกแบบระบบร่วมกันต่อไป

 

บูรณาการองค์ความรู้และเทคโนโลยีผลักดันอุตสาหกรรมไทยสู่ Industry 4.0

แพลตฟอร์ม IDA สร้างขึ้นโดยมีหมุดหมายเพื่อพัฒนาไทยสู่ Industry 4.0 โดยผสานพลังบูรณาการองค์ความรู้ทั้งจากหน่วยงานวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมโดย สวทช. รวมถึงความร่วมมือจากภาครัฐไม่ว่าจะเป็นกระทรวงพลังงาน ส่วนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย รวมถึงสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

อย่างไรก็ตามโครงการดังกล่าวยังได้รับการสนับสนุนจากบริษัทเอกชนทั้งที่เป็นผู้ผลิตเทคโนโลยีรายใหญ่ในวงการอุตสาหกรรม 4.0 ของโลกและบริษัทเอกชนไทยมาร่วมทำงานด้วยกันเพื่อส่งมอบเทคโนโลยีที่เข้าถึงได้แก่ผู้ประกอบการ SME ไทย รวมทั้งสิ้น 8 บริษัท ประกอบไปด้วย

  • บริษัท ซิสโก้ ซีสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด
  • บริษัท ซีเมนส์อินดัสเทรียลเซอร์วิสเซส จำกัด
  • บริษัท มิตซูบิชิ อิเล็คทริค แฟคตอรี ออโตเมชั่น (ประเทศไทย) จำกัด
  • บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด
  • บริษัท เน็กซ์พาย จำกัด
  • บริษัท พาโลอัลโต้ เน็ตเวิร์ค ประเทศไทย และอินโดจีน
  • บริษัท ออมรอน อีเลคทรอนิกส์ จำกัด
  • และ สถาบันเทคโนโลยีการผลิตสุมิพล

โดยแต่ละรายจะสนับสนุนการทดลองใช้เทคโนโลยี อุปกรณ์ และผลิตภัณฑ์เพื่อทดสอบการใช้งานจริงในโรงงานนำร่อง ร่วมแบ่งปันองค์ความรู้เพื่อการวิจัยและพัฒนา รวมทั้งการพัฒนากำลังคนและบุคลากรด้านอุตสาหกรรม 4.0 เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างเป็นระบบ

จากความร่วมมือของพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนในครั้งนี้ จะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการปฏิรูปอุตสาหกรรมอย่างเป็นระบบ รวมทั้งช่วยสถานประกอบการ โรงงาน บริษัท รวมถึง SME สามารถยกระดับความสามารถสู่อุตสาหกรรม 4.0 ตลอดจนให้ประเทศไทยมี Big Data ข้อมูลสถานภาพความพร้อมของอุตสาหกรรมไทยในระดับมหภาคที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน สามารถนำมาใช้ในการตัดสินใจและกำหนดนโยบายระดับชาติได้อีกด้วย ส่งผลให้นโยบาย Thailand 4.0 เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม และประเทศไทยเติบโตได้อย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
 

ร่วมโครงการแพลตฟอร์ม IDA

ดร. รวีภัทร์ ผุดผ่อง
ฝ่ายความร่วมมืออุตสาหกรรมใหม่
เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) สวทช.
โทร. 08 1720 1980, 0 2117 8304, 0 2117 8311, 0 2117 8314
E-mail: ravipat.phu@nstda.or.th
ดร. พรพรหม อธีตนันท์
ฝ่ายกลยุทธ์วิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยี
ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค-สวทช.)
โทร. 08 6600 0723, 02 564 6900 ต่อ 2347, 2358, 2383
E-mail: business@nectec.or.th
Cinque Terre
ร่วมโครงการแพลตฟอร์ม IDA
Cinque Terre
ตอบรับการเข้าร่วมประชุมโรงงานนำร่อง

บทความที่เกี่ยวข้อง