TPMAP หรือ Thai People Map and Analytics Platform คือระบบ Big Data ของภาครัฐที่สามารถระบุได้ว่าคนจนนั้นอยู่ที่ไหน มีปัญหาในมิติอะไรบ้าง เช่น การศึกษา สุขภาพ ความเป็นอยู่ การเข้าถึงบริการรัฐ การเงิน ซึ่งข้อมูลที่ได้จะเป็นประโยชน์กับผู้กำหนดนโยบายและหน่วยงานแก้ไขปัญหาในพื้นที่ให้สามารถออกนโยบายแก้ปัญหาได้ตรงจุด
TPMAP เป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง เนคเทค-สวทช. กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติ (สศช.) โดยใช้ข้อมูล จปฐ. จากกรมการพัฒนาชุมชน และข้อมูลผู้ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐจากกระทรวงการคลังมายืนยันซึ่งกันและกัน และใช้วิธีการ Multidimensional Poverty Index (MPI) ในการประมวลข้อมูลเพื่อดูความยากจนในหลายมิติ (คิดค้นโดย Oxford Poverty & Human Development Initiative และ United Nation Development Programme) ซึ่ง สศช. ได้นำมาปรับใช้กับประเทศไทย
TPMAP ทำให้รู้ข้อมูลอะไร…?
- สามารถวิเคราะห์ข้อมูลคนจนจากหลายแหล่ง ซึ่ง Data Integration ทำให้ทราบข้อมูลคนจนที่ใกล้เคียงกับความจริงที่สุด สามารถระบุกลุ่มที่ต้องช่วยเหลือเร่งด่วนได้รวดเร็วและชัดเจน
- มีการรายงานข้อมูลเชิงแผนที่ แสดงความยากจนใน 5 มิติ ได้แก่ ด้านการศึกษา ด้านสุขภาพ ด้านความเป็นอยู่ ด้านการเข้าถึงบริการภาครัฐ และด้านการเงิน (ตามดัชนี MPI)
- ข้อมูลเชิงแผนที่สามารถชี้เป้าได้ในหลายระดับพื้นที่ ตั้งแต่ระดับประเทศ จังหวัด อำเภอ ครัวเรือน บุคคล หรือวิเคราะห์แยกตามประเด็น
กลุ่มเป้าหมาย/ ผู้ใช้งานระบบ TPMAP
ผู้ใช้งานระบบนี้ได้แก่ เจ้าหน้าที่หน่วยงานในระดับนโยบายและท้องถิ่น เพื่อเอกภาพในการแก้ปัญหาความยากจนที่แตกต่างกันของแต่ละพื้นที่
- วิเคราะห์ปัญหาได้ถูกต้องตรงประเด็น
- กำหนดนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหา
- นำนโยบายไปปฏิบัติ
- ประเมินผลนโยบาย
วิจัยพัฒนาโดย
- หน่วยวิจัยการวิเคราะห์ข้อมูลและการคำนวณ (DACRU)
- ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค-สวทช.)