ลักษณะคำประพันธ์ที่ใช้ในวรรณกรรมล้านนา
           ความเข้าใจในเรื่อง “ ลักษณะคำประพันธ์ ” ของล้านนาจะช่วยให้ผู้อ่านสามารถวิเคราะห์วรรณกรรมในด้านวรรณศิลป์ได้อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น     
 ผู้เรียบเรียงจึงขอเสนอเรื่องลักษณะคำประพันธ์ที่ใช้ในวรรณกรรมล้านนา ดังนี้
              
วรรณกรรมล้านนาก็เหมือนวรรณกรรมรุ่นเก่าของไทย          
           คือ แต่งด้วยคำประพันธ์ที่มีฉันทลักษณ์เฉพาะแบบ อันเป็นนิสัยเจ้าบทเจ้ากลอนของคนไทยทุกๆ           
 ภาคก็ว่าได้ เข้าใจว่าจะถือเป็นธรรมเนียมการแต่งวรรณกรรมว่าจะต้องยึดฉันทลักษณ์แบบใดแบบหนึ่งเป็นหลักเสมอ           
 ใครแต่งอะไร ด้วยภาษาร้อยแก้วธรรมดาคงถือว่าไม่เข้าหลัก หรือไม่เป็นวรรณคดีที่ดีเด่นก็ได้          
  เราจึงมักไม่เห็นลักษณะวรรณกรรมที่แต่งด้วยร้อยแก้วเหลือไว้ นอกจากในศิลาจารึกหรือตำนานเท่านั้น
หลักเกณฑ์หรือบทบัญญัติตลอดจนแผนผังในการแต่งคำประพันธ์แต่ละชนิดของล้านนา           
           โบราณาจารย์วางแบบไว้แต่ไม่เป็นที่แพร่หลายและมีไม่ครบ เท่าที่ค้นพบมีแต่ตำราแต่งโคลงเท่านั้น           
 ส่วนคำประพันธ์อื่นๆ ไม่ค่อยแพร่หลาย บรรดานักแต่งหรือช่างซอ ( พวกขับซอโดยอาชีพ  ) ต่างก็เรียนและฝึกฝนโดยผ่านทักษะทางหูเป็นสำคัญ
 โดยวิธีอ่านและฟังจากของเก่าๆ        ที่เห็นว่าไพเราะ แล้วก็ลองหัดแต่ง เมื่อเสร็จไปตอนหนึ่งก็อ่านเป็นทำนองเสนาะคำประพันธ์แต่ละชนิดไป         
  ถ้าอ่านแล้วฟังดูไพเราะไม่ติดขัดก็เป็นอันใช้ได้ ถ้ารู้สึกขัดๆ อ่านทำนองเสนาะต่อไปไม่ได้หรือเสียงไม่ไพเราะก็จะนำมาแก้ไขเป็นแห่ง ๆ  ไป
ต่อมาได้มีผู้สนใจศึกษาค้นคว้าหาหลักเกณฑ์ในการแต่งคำประพันธ์ล้านนาขึ้น            
ที่สำคัญ คือ สิงฆะ วรรณสัย และ มณี พยอมยงค์ โดยการศึกษาค้นคว้าจากวรรณกรรมต่างๆ            
นำมาวางเป็นกฎเกณฑ์มีแผนผังและบัญญัติให้เห็นเด่นชัด โดยใช้ชื่อว่า “ หลักกวีนิพนธ์ลานนาไทย   ” ( สิงฆะ วรรณสัย,2518 : 72 - 77 ) 
นับว่าเป็นประโยชน์แก่ผู้ศึกษาค้นคว้าในภายหลังเป็นอย่างมากทรงศักดิ์ ปรางค์วัฒนากุล ( 2527 : 210 ) กล่าวถึงฉันทลักษณ์ล้านนาไว้      ดังนี้
            
ร้อยกรอง หรือ กวีนิพนธ์ ของลานนาไทยนั้นมีรูปแบบคำประพันธ์ที่หาฉันทลักษณ์แน่นอนได้ยาก        
 โดยเฉพาะอย่างยิ่งลักษณะการกำหนดคณะและบังคับสัมผัสต่างๆ ไม่เคร่งครัดตายตัว          
 ทั้งนี้อาจเป็นเพราะร้อยกรองที่ปรากฏเป็นลายลักษณ์นั้นมาจากร้อยกรองชาวบ้านที่ขับขานทางมุขปาฐะ(Oral poetry ) และมีท่วงทำนองที่จัดอยู่ในลักษณะ
ของเพลงพื้นบ้าน ( folk  song ) ด้วย กวีลานนาจะมีอิสระในการแสดงออกเชิงสร้างสรรค์ ถ้อยคำ สัมผัส     จังหวะต่างๆ เราจะสังเกตได้จาก คำคร่าวคำเครือ
(ภาษาล้านนาออกเสียงว่า  “ คำค่าวคำเคือ ”) ที่ชาวบ้านขับขานกัน อันเป็นลักษณะร้อยกรองเบื้องต้น    ก่อนที่จะพัฒนามาสู่ฉันทลักษณ์ของบทร้อยกรองที่เป็นลายลักษณ์  
(และทั้งลายลักษณ์และมุขปาฐะนี้จะแสดงออกสัมพันธ์ควบคู่กันไป)กวีมุ่งคำนึงถึงการใช้คำให้ได้ตรงตามความหมายที่ต้องการมากกว่าที่จะคำนึงถึงความเคร่งครัด
ทางฉันทลักษณ์
การจัดแบ่งประเภทวรรณกรรมร้อยกรองของล้านนา ที่ปรากฏเป็นลายลักษณ์เป็นสิ่งที่กระทำได้ยากยิ่งดังกล่าว           
 อย่างไรก็ดีในที่นี้จึงขอแบ่งหลักกวีนิพนธ์ล้านนาตามที่ได้มีผู้รู้จำแนกไว้      คือ แบ่งตามรูปแบบหรือตามลักษณะใหญ่ๆ ได้ 6 ประเภท ดังนี้ 
           

 

ก. โคลง หรือ ครรโลง
ข. ค่าว
ค. เพลงกล่อมเด็ก
ง. จ๊อย
จ. คำร่ำ ( ฮ่ำ )
ฉ. ซอ


ที่มาของวรรณกรรมท้องถิ่นและความสัมพันธ์กับชีวิตในสังคม
เมื่อกล่าวถึงวรรณกรรมท้องถิ่น ย่อมเป็นที่เข้าใจกันว่าหมายถึง ถ้อยคำ โวหาร เพลงร้อง เรื่องราวที่เป็นนิทาน นิยาย ตลอดจนตำนานเล่าขานโดยผู้คนในท้องถิ่นนั้นๆ เป็นผู้ประดิษฐ์ขึ้น แล้วเล่าขานกันด้วยภาษาท้องถิ่นนั้นๆ เช่น ภาษาล้านนา ภาษาไทยกลาง ภาษาอีสาน และภาษาถิ่นใต้ วรรณกรรมในยุคแรกๆ นั้นก็เป็นวรรณกรรมชนิดมุขปาฐะ ( ปากเปล่า ) มาก่อน จนกระทั่งต่อมาในสมัยหลังเมื่อมนุษย์คิดประดิษฐ์อักษรที่ใช้แทนเสียงขึ้นได้ วรรณกรรมเหล่านั้นจึงถูกบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรโดยใช้อักษรที่ประดิษฐ์ขึ้นนั้น