จ.คำร่ำ ( ฮ่ำ ) สิงฆะ วรรณสัย (2518:76) กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่าดังนี้
" คำร่ำ มีความหมายว่า ร่ำพรรณนา เป็นลำนำชนิดหนึ่งมีหลักฉันทลักษณ์ในการแต่งโดยเฉพาะและมีทำนองอ่านต่างหาก"
ทรงศักดิ์ ปรางค์วัฒนากุล (2530:4,8) ศึกษาเพิ่มเติม ดังนี้
คำร่ำ คือ การขับลำนำแบบหนึ่ง ซึ่งมีลีลาที่เรียบง่าย คำประพันธ์ที่ใช้ในการร่ำ เรียกว่า คำร่ำ (กำฮ่ำ) มีลักษณะรูปแบบวรรคละ 3-4 คำส่งสัมผัสกับแบบร่าย การร่ำจะปรากฎเฉพาะในโอกาสพิธีกรรมต่างๆ เช่น คำร่ำบอกไฟขึ้น คำร่ำแห่ ไม้ค้ำต้นโพธิ์ คำร่ำการสร้างวิหาร เป็นต้น ลักษณะของคำร่ำคล้ายคลึงกันมากกับ กาพย์เซิ้งบั้งไฟ ของอีสาน และ คำขับฟ้อน ในงานแข่งเรือและจุดบั้งไฟของชาวไทยลื้อสิบสองปันนา เราจะได้เห็นว่าบทขับขานชนิดนี้ สัมพันธ์อย่างยิ่งกับ งานพิธีกรรมต่างๆ
การรำบอกไฟ(บั้งไฟ) ในขณะแห่บอกไฟ ซึ่งนิยมทำกันในช่วงเดือน 6 เช่นเดียวกับแห่บั้งไฟของชาวไทลาวกลุ่มอื่นๆ เป็นพิธีการขอฝนอันเก่าแก่ ด้วยความเชื่อ ที่ว่าจะทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ เป็นพิธีกรรมเกี่ยวกับการทำมาหากินในสังคมชาวนาโดยแท้
ลักษณะของการร่ำนี้ มีปรากฏทั้งในบทเพลงที่เด็กร้องเล่น และปรากฎในบทเพลงกล่อมเด็กของล้านนาด้วย ดังตัวอย่างบทเพลง สิกจุ้งจา (โหนชิงช้า) และคล้ายกับกลอนกล่อมเด็กของภาคกลาง เช่น บทจันทร์เอ๋ยจันทร์เจ้า อีกด้วย
คำร่ำ
สิกจุ้งจาโหง สองคนพี่น้อง
เวลาแดดร้อน ลมบ่มาเชย
แม่เลี้ยงเหย เราไปแอ่วไป้
ไปล่องกองใต้ ประตูท่าแพ
ฯลฯ
ตัวอย่างคำร่ำบอกไฟ อัคคิรุยหัง สัททังค้ำฟ้า เสียงสนั่นกล้า ท้องฟ้าพายบน เป็นโกลาหล พายบนร่วนก้อง ด้วยเสียงฟ้าร้อง ทั่วท้องเมืองคน ฝูงปุถุชน พากันเบิ่งเหง้อ พุทโธเสียเต้อ เป็นเสียงบอกไฟ ฝูงคนหลามไหล ตกใจสดุ้ง ขวัญอกแตกฟุ้ง จิตใจบ่ดี ภ่องก็เอาวี เอามือเกิ้งหน้า กลัวกลายเกิดข้า เป็นอันตราย ผ่อจนเกือบหาย เท่าปลายนิ้วก้อย เมื่อมันจักว้าย ดุกดิกหัวลง เสียงดังผับโขง ชมพูโลกห้อง เหมือนเสียงพาทย์ค้อง โหว้เปิดลมชอย ฝูงคนไปคอย ใคร่หัวชอบสู้ ภ่องขนคิงหลู้ หัวสั่นงันงัน เพราะเสียงมันลั่น ทนหูบ่ได้ ภ่องจนพอไห้ ร้องว่าวายวาย ฝูงคนหลวงหลาย ยังยายเป็นต้า ทั้งฝูงแม่ค้า นั่งกาดขายครัว เขาพากันหนัว หั้นหั้นหนี้หนี้ พากันควักชี้ ผ่อไปทางบน ฯลฯ