ค.เพลงกล่อมเด็ก
เพลงกล่อมเด็กหมายถึงเพลงที่ใช้ในการร้องขับกล่อม มีจุดมุ่งหมายสำคัญคือให้เด็กหลับง่ายและหลับอย่างเป็นสุข ช่วยให้เด็กอบอุ่นใจว่าตน ไม่ถูกทอดทิ้งในขณะนอนหลับ นับเป็นการตอบสนองทางอารมณ์ตามหลักจิตวิทยา แสดงว่าคนโบราณมีความรู้ความเข้าใจในวิธีเลี้ยงดูลูกหลานของตน ช่วยให้เด็กมีสุขภาพจิตดี และเจริญทั้งร่างกายและอารมณ์
เนื้อร้องเพลงกล่อมเด็กช่วยให้ความรู้ในด้านภาษาแก่เด็กไปด้วยแม้จะยังเล็ก แต่เป็นระยะที่สมองเด็กเรียนรู้ทางภาษาได้อย่างวิเศษที่สุดกว่าช่วงอื่นๆ นับเป็น ผลพลอยได้แก่เด็กอย่างมหาศาลในการเรียนรู้ภาษาตลอดจนการอบรมสั่งสอนในด้านอื่นๆ ทั้งแก่เด็กและแก่ผู้ใหญ่ที่ได้ยินได้ฟัง เช่น ในด้าน จริยธรรม ค่านิยม ตลอดจนธรรมชาติศึกษาไปพร้อมกันด้วย
นอกจากนี้เพลงกล่อมเด็กยังช่วยสนองตอบอารมณ์ของผู้ร้องในการแสดงออกซึ่งความรู้สึกต่อสิ่งแวดล้อมและเหตุการณ์ในชีวิตประจำวันในชุมชน ที่ตนอาศัย อยู่ เช่น อารมณ์รักทั้งที่มีต่อเด็ก ต่อเพศตรงข้าม ตลอดจนทัศนคติ ค่านิยม วัฒนธรรมและความคับข้องใจทางอารมณ์ของผู้ขับร้อง การพรรณนา ความสวยงามตาม ธรรมชาติและสภาพความเป็นอยู่ของชุมชนนั้นๆไปโดยไม่รู้ตัว
ลักษณะทั่วไปของเพลงกล่อมเด็ก
เนื่องจากเพลงกล่อมเด็กไม่ได้มีการบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ดังนั้นถ้อยคำที่ใช้จึงเป็นคำไทยพื้นบ้านและเนื้อร้องมักจะผิดเพี้ยนกันไป ทั้งนี้เพราะเกิด จากความจำของผู้ร้อง บางครั้งก็อาจดัดแปลงเนื้อร้องไปตามความสะดวกปากของตน บางครั้งแต่เติมเสริมต่อด้วยปฏิภาณของผู้ร้องและมีลักษณะติดต่อ จากเพลงโน้นมาเพลงนี้เท่าที่จะคิดได้หรือจำได้ จึงไม่คงที่แน่นอน ทำให้เราไม่อาจจะยืนยันได้ว่าเพลงไหนถูกต้องสมบูรณ์ที่สุด
ลักษณะเพลงกล่อมเด็กล้านนา
เพลงกล่อมเด็กไม่ว่าจะเป็นของภาคไหนในประเทศไทยย่อมเหมือนกันในเรื่องต่อไปนี้คือ มีคำร้องสั้นๆ จำง่าย ใช้ภาษาท้องถิ่นนั้นๆ มีสัมผัสคล้องจอง เป็นจังหวะ และมีท่วงทำนองช้าๆ เพลงกล่อมเด็กล้านนาไม่ว่าจะเป็นแห่งใด แม้จนกระทั่งถึงเขตสิบสองปันนา ปรากฎว่าล้วนแล้วแต่เป็นเพลงอื่อ คือเพลงที่มีการฮัมเสียงในลำคำช้าๆ
ใจความในเนื้อร้องเพลงกล่อมเด็กล้านนา
1. บทเพลงส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการพรรณนาสภาพธรรมชาติ ป่าเขา แม่น้ำ ลำห้วย และเนื้อร้องที่ประกอบด้วยความรู้ทางธรรมชาติศึกษา ได้แก่ ชื่อ ผัก ผลไม้ ตลอดจนชื่อสัตว์ต่างๆ เช่น นก
2. บทเพลงที่เกี่ยวกับการพรรณนาถึงสภาพของชุมชนล้านนาโบราณ ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม เช่น กล่าวถึงการค้า การทำไร่ ทำนา
3. บทเพลงที่พรรณนาถึงความรักความห่วงใยที่ผู้ใหญ่มีต่อเด็ก ตลอดจนการปลอบโยน การให้รางวัล การขู่ให้กลัว
4. บทเพลงที่กล่าวถึงวัฒนธรรม ประเพณี เช่น การเดินทางไปทำบุญตามปูชนียสถานที่สำคัญ และปริศนาธรรมในศาสนาพุทธ
สรุป
เพลงกล่อมเด็กล้านนานับเป็นวรรณกรรมท้องถิ่นเพื่อชีวิตอีกประเภทหนึ่ง ที่มีส่วนรับใช้สังคมล้านนาอย่างแท้จริง ในทางสังคม เพลงกล่อมเด็กนับว่าเป็นประโยชน์ ในการให้ความรู้แก่เด็กในด้านเสียงของภาษาเป็นเบื้องต้น และความหมายของคำในภาษาถิ่นในระยะต่อไป ทั้งยังเป็นการสร้างความอบอุ่นใจแก่เด็กเล็กๆในแง่ จิตวิทยาการเลี้ยงดูเด็ก นับได้ว่าเป็นวรรณกรรมที่มีคุณค่าในหลายๆ ด้าน มีข้อมูลควรแก่การศึกษาร่วมกับวรรณกรรมแขนงอื่นๆ เพื่อให้เห็นสภาพความเป็นอยู่ ทัศนคติ ความเชื่อในสมัยก่อนที่นับวันจะเสื่อมสูญหายไป วรรณกรรมมุขปาฐะประเภทเพลงกล่อมเด็ก
อื่อ อื่อ จา จา หลับสองตา
แม่ไปนานอกบ้าน ไปเก็บบ่าส้าน
ใส่ซ้ามาแขวน ไปเก็บบ่าแหน
ใส่ซ้ามาต้อน น้องอย่าไห้อ้อน
แม่ไปไร่บ่มา หื้อน้องหลับสองตา
แม่นายมาค่อยตื่น อื่อ อื่อ จา จา
สิกจุ้งจาโหง สองคนพี่น้อง เวลาแดดร้อน ลมบ่ามาเชย แม่เลี้ยงเหย เราไปแอ่วไป้ ไปล่องกองใต้ ประตูท่าแพ เพิ่นขายแห ขายผืนแผ่นผ้า หมู่ชุมแม่ค้า ขายเมี้ยงขายพลู พร่องขายแคบหมู เป็นแคบหมูฮ่อ ชาวบ้านท่งท้อ ขายปลาสวาย ลำจะตาย แกงปลาใส่ส้ม เข้าหนมเข้าต้ม ปาละปัญชี อันใดก็มี ดีแล้วแอ่วกาด