ง. จ๊อย จ๊อย (บางคนเรียกช้อย) คือ การขับลำนำ หรือทำนองเสนาะ คำประพันธ์ที่ใช้ในการจ๊อยก็คือ ค่าว ท่วงทำนองการจ๊อยเรียกว่า ระบำ อาจมีลีลาทอดเสียงยาว เช่น ทำนองโก่งเฮียวบง ทำนองวิงวอน หรืออาจมีลีลากระชั้นขึ้นลง เช่น ทำนองม้าย่ำไฟ นอกจากนี้ก็ยังมีลักษณะทำนองตามแบบที่นิยมในท้องถิ่นต่างๆ เช่น ทำนองเมืองเถิน ทำนองเชียงแสน เป็นต้น บทจ๊อย มิได้เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมความเชื่อโดยตรง ในอดีตชายหนุ่มจะนิยมจ๊อยในเวลาไปแอ่วสาวตอนกลางคืน โดยอาจจะสีสะล้อ ดีดซึงหรือเปี๊ยะ (พิณเพียะ) คลอกับเสียงจ๊อยไปด้วย ประเพณีการเล่นดนตรีและจ๊อยไปตามทางในการไปแอ่วสาวนี้ นอกจากจะมีจุดประสงค์เพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลินแล้ว ยังมีลักษณะเป็นการส่งสัญญาณให้ผู้อื่นรู้ว่า ผู้ที่กำลังเดินทางในยามค่ำคืนเช่นนี้ เป็นผู้เดินทางมาอย่างมิตรมิใช่ศัตรูหรือคนร้าย และยังเป็นการส่งสัญญาณบอก ให้สาวซึ่งกำลังนั่ง อยู่นอก อยู่บนเติ๋นบ้าน ได้รู้ตัวก่อนที่หนุ่มๆ จะมาถึงเรือนอีกด้วย(ทรงศักดิ์ ปรางค์วัฒนากุล, 2531 : 4)
บทจ๊อย ตอนที่ชายหนุ่มเดินทางกลับจากบ้านสาว เดิ้กมามะม้อย น้ำย้อยตีนกลอน เดิ้กมาออนซอน ดาวหมองหม่นฝ้า (ดึกแล้วดาวสลัว ในกลีบเมฆ) เงียบเหงาใจ ไปทุกหย่อมหญ้า วิเวกวังเวง เงียบพัก มนุสส์ทังหลาย นอนในสำนัก ดักเงียบปิ้งเย็นวอย (เงียบสงัดไปหมด) ลมก็บ่พัด สงัดหายสอย แสงเดือนมอย ลอดลายกิ่งก้าน หันวุยวาย ไปผับทั่วบ้าน หนาวเย็นคิง สะท้าน ง่อมงันใจ ดวงธัยเหี่ยวม้าน บ่มีคู่ป้อง นอนพิง (อุดม รุ่งเรืองศรี,2527 : 431)