ก. โคลง หรือ ครรโลง
ความเป็นมาของคำประพันธ์ประเภทโคลง
โคลงเป็นคำประพันธ์ชนิดหนึ่งที่เก่าแก่ของล้านนา เพราะปรากฏคำอธิบายการแต่งโคลงในตำราภาษาไทยเล่มแรก คือ จินดามณี ที่เชื่อกันว่าพระโหรา-ธิบดีแต่งในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ เมื่อ พ.ศ.2223 ตำราเล่มนี้ได้อธิบายวิธีแต่งโคลงที่ปรากฏในจินดามณี ดังนี้ พระยาลืมงายโคลงลาว ชำนาญเกลากลอนโคลงลาว อักษรบังไทยโคลงลาว ฯลฯ ( กรมศิลปากร, 2512 : 32-40 )
ชื่อโคลงดังกล่าว ประเสริฐ ณ นคร กล่าวไว้ในหนังสือ โคลงกลบท ว่า จึงน่าสรุปได้ว่า กลบทโคลงลาวที่อ้างถึงในจินดามณี เป็นโคลงที่มาจากทางภาคเหนือ ( ประเสริฐ ม.ป.ท., ม.ป.ป. : 1-2 )
จากปาฐกถาของประเสริฐ ณ นคร เช่นกันเรื่อง ไปสืบคำไทยในเมืองจีน ท่านได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับโคลงกลอน ดังนี้
สำหรับไทเหนือ ก็บอกว่าทางเหนือมีคำร้อยกรองแบบวรรคละ 9 คำ คำสุดท้ายของวรรคที่ 1 จะไปสัมผัสกับคำที่ 7 ของวรรคที่ 2 แต่ต่อด้วยสร้อยของคำ อันนี้ก็เหมือนสัมผัสของโคลงสี่ คือ โคลงสี่มันสัมผัสคำที่ 5 แล้วต่อไปอีก 2 คำข้างท้าย กลับไปดูเมืองจีน ก็มีกลอนแบบเดียวกับกลอนหัวเดียวนี้มาแต่ดึกดำบรรพ์ เพราะฉะนั้นผมก็ต้องเปลี่ยนใจใหม่มานึก ว่า กลอนนี้มาทีหลัง กลอน ทั้ง โคลง ทั้ง ร่าย ก็เป็นของไทยเรามาตั้งแต่ก่อนพ่อขุนรามคำแหง ( ถอดแบบบันทึกเสียง ปาฐกถา, 25 มค. 2531 )
ความเห็นของประเสริฐ ณ นคร ดังกล่าวนี้สอดคล้องกับ จิตร ภูมิศักดิ์ ซึ่งกล่าวไว้ในหนังสือ โองการแช่งน้ำและข้อคิดใหม่ในประวัติศาสตร์ไทยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเกี่ยวกับความเป็นมาของโคลง ดังนี้
โคลงและแบบโคลงห้าจะเป็นโคลงโบราณเก่าแก่ที่สุดปูนศตวรรษที่ 18-19 ทีเดียว หรืออาจก่อนหน้านั้น และเมื่อชนชาติไทยได้อพยพแยกกันลงมาเป็นสายๆ จากชุมทางใหญ่ในเขตสิบสองปันนา ต่างก็นำเอาศิลปะโคลงห้าติดไปด้วย และต่างก็นำไปพัฒนาตามแบบของตน ( จิตร ภูมิศักดิ์, 2524 : 215 )
อุดม รุ่งเรืองศรี ( 2529 : 9 ) กล่าวถึงช่วงที่คำประพันธ์ประเภทโคลงรุ่งเรือง ดังนี้
อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่าในช่วงประมาณ พ.ศ. 2000 ถึง 2200 นั้น เป็นช่วง 200 ปีแห่งความเจริญของวรรณกรรมพุทธศาสนา ทั้งในแง่ของวรรณกรรม ภาษาบาลี และวรรณกรรมชาดก ดังปรากฏหลักฐานอยู่เป็นอันมากแล้วนั้น ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ ยังอาจถือได้ว่าเป็นช่วงที่วรรณกรรมประเภทโคลงของล้านนาปรากฏขึ้นอย่างมากมายด้วย ความนิยมในการแต่งวรรณกรรมคำโคลงของล้านนานี้ มีร่องรอยเห็นได้ชัดว่าต่อเนื่องมาจนถึงประมาณ พ.ศ.2400 กล่าวคือ โคลงหงส์ผาคำ ที่พระยาโลมาวิสัยแต่งขึ้นครั้งรับราชการในราชสำนักนครลำปางนั้นก็แต่งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2396
ทั้งนี้ อุดม รุ่งเรืองศรี ยังได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับคำประพันธ์ประเภทโคลงเอาไว้ ดังนี้
วรรณกรรมคำโคลงนั้นมักไม่เป็นที่นิยมในหมู่ชาวบ้านทั่วไป ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่าการแต่งโคลงนั้นต้องอาศัยความรู้ทางอักษรศาสตร์ที่แนบเนียนและลึกซึ้งกว่าการแต่งร้องกรองแบบอื่น จากการศึกษานั้นพบว่าผู้แต่งโคลงหรือการแต่งโคลงมักปรากฏว่าเป็นผู้ที่อยู่ในเมือง เป็นบุคคลในราชวงศ์ หรือเกี่ยวข้องในราชสำนักเป็นหลัก
ดังนั้นนับได้ว่าคำประพันธ์ประเภทโคลงเป็นคำประพันธ์ของกวีชั้นสูง ที่มีความรู้ความสามารถและมักเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับราชสำนักเป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้เป็นเพราะต้องอาศัยความพิถีพิถันและความคิดรวบยอดที่คมคาย เนื่องจากโคลงเป็นลักษณะคำประพันธ์ที่ใช้คำสั้นหรือจำกัดแต่กินความหมายกว้างและลึกซึ้ง จึงเจริญรุ่งเรืองร่วมยุคสมัยกับวรรณกรรมทางศาสนาภาษาบาลี ซึ่งเป็นยุคที่กวีล้านนาได้ผลิตผลงานออกมามากมายจนกล่าวได้ว่าเป็นยุคทองของวรรณกรรมล้านนา
ตัวอย่างโคลง
โคลงสี่ดั้นล้านนา ขุนไทยใสช้างเข้า ชนฟัน แลนา เครงครืดเสียงสกัน ทั่วฟ้า สองหาญม่ายเชิงฟัน สนองต่อ กันนา ไทยจิ่งเอิ้นร้องท้า ว่าใคร ฯโคลงสี่สุภาพล้านนา ยลเห็นพระธาตุเจ้า บนบด เป็นปิ่นอุพพาลักษณ์ ลิศหล้า ถวายกรอ่ำรุงรักษ์ จิตเจต งามเอ่ ปราสาทใสแสร้งซ้ำ เพื่อน้องนานิรมย์ ดาวเดียวดูยิ่งฟ้า อัปสร เป็นปิ่นกามจร จิ่มเจ้า บุญบาแต่ปางก่อน ทักต่ำ นวายฤา แสนชาติยังยั้งเฝ้า จิ่งล้วนลุคระนิง โคลงสาม หรือ กั่นโลงสามห้องคล้ายคล้ายจะเหมือน แม่บุญหลงแจ่มจ้อน ใจพี่มัวมุ่นร้อน คิดเถิงยอดอวนอ่อนมีทั้งดอกจุมปี ภมรีภู่ย้อม ดอกพันพวงกิ่งค้อม ปุนใคร่เอาเกษนางหม่อม
มาเป็นทุกข์ใจเจียมหมาดไหม้ ขอเทวดาดงพฤกษ์ไม้ นำสารสั่งไธ้ ไปเถิงยอดบุญใหญ่โคลงสอง หรือ กั่นโลง สอง ห้อง สุดแต่ไม้บ่มีใจก็ยังอยื้ออเยี่ยม จากเรียมซ้าวซ้าว ก็บ่ช่างเอาสังมากล่าวขอนำข่าวสารบินบนสู่ห้อง ไขสารเถิงแม่เกล้าวิดว้อง ทัดที่หน้าป่องโคลงกลบท สี่ตัวตั้งต้นรวบ ร้อยกลอน ริเรียกตีนกุญชร ย่างช้าง เค้าปลายเปลี่ยนอักขร ลมใส่ แสงเฮย ยอยกกลอ่อยอ้าว ใส่ส้อยสมกลอน ลือ ไปทั่วทุกด้าว ปาจิณ ฌา ชนาญเถิงสายสินธุ์ แห่งห้อง ปรา เกียรเถิงภูมินท์ แมงม่าน เมืองเฮย กฎ เกี่ยวยางเยี้ยวย้อ ลวะลื้อแขมขอมใส่ใจไจ้ไจ้ใช่ ใจไกล ใจใคร่ไพไพไช ไหนได้ ใจใคร่ไพไพไช ใจใฝ่ ไพเฮย ใจใคร่ไพไจ้ไจ้ ไป่ได้ไพไช