หัวข้อ : เทคโนโลยีก้าวไกล ไปให้ทันเกษตรกรรม 4.0
ห้องสัมมนา
: meeting room 3
เวลา : 13.00 – 16.00

เนื้อหาโดยย่อ

ในวันที่ประเทศไทยตั้งเป้าหมายว่าจะไปให้ถึงไทยแลนด์ 4.0 การพัฒนาเทคโนโลยีในด้านต่าง ๆ ทั่วโลกต่างเร่งพัฒนากันอย่างรวดเร็ว ทั้งภาคหน่วยงานวิจัยและภาคเอกชนทั่วโลกต่างพากันเร่งก้าวเท้า บ้างก็เขย่งก้าวกระโดดเพื่อพยายามผลิตเทคโนโลยีที่ทิ้งห่างคู่แข่งให้ได้ไกลที่สุด ในวันนี้เราจึงไม่ควรหยุดนิ่งหรือเดินช้า และปล่อยให้ทุกคนแซงหน้าเรา

เนคเทค สวทช. ในฐานะสถาบันวิจัยภาครัฐ ได้มีพันธกิจสำคัญที่จะร่วมผลักดันเกษตรกรไทยให้ก้าวทันยุค 4.0  โดยในวันนี้เนคเทคได้มีชุดผลงานวิจัยพร้อมใช้ “NECTEC FAARM Analytics Solutions” ซึ่งเปิดตัวเมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2560 แล้ว ผลงานชุดนี้ประกอบด้วยชุดเทคโนโลยีเซ็นเซอร์เพื่อจัดเก็บข้อมูลทางด้านการเกษตร (FAARM SENSE FAMILY + Atmosphere-Earth Information) รวมถึงฐานข้อมูลทะเบียนเกษตรกร (TAMIS) ชุดเทคโนโลยีประมวลข้อมูลทางด้านการเกษตร (FAARM ALICE) และชุดเทคโนโลยีควบคุมสภาพแวดล้อมการเกษตร (FAARM FIT FAMILY) มาร่วมเรียนรู้ผลงานชุดนี้แบบรู้ลึกและเข้าใจ จะไปให้ทันเกษตรกรรม 4.0 ต้องรู้จักเทคโนโลยีอะไรบ้าง และเนคเทคจะมีทิศทางการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการเกษตรไทยอย่างไรต่อไป โปรดมาร่วมกันหาคำตอบได้ในเสวนา “เทคโนโลยีก้าวไกล ไปให้ทันเกษตรกรรม 4.0”

กำหนดการเสวนา

12.30 – 13.00 ลงทะเบียนหน้าห้องเสวนา

13.00 – 14.30 รู้ลึกผลงาน “NECTEC FAARM Analytics Solutions”

ร่วมเสวนาโดย

  1. ดร. กัลยา อุดมวิทิต
    รองผู้อำนวยการ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ
  2. ดร. อัมพร โพธิ์ใย
    ผู้อำนวยการ ศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์
  3. ดร. นพดล คีรีเพช็ร
    นักวิจัยอาวุโส ห้องปฏิบัติการวิจัยคลังอนุพันธ์ความรู้
    ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ
  4. ดร. ธีระ ภัทราพรนันท์
    นักวิจัย ห้องปฏิบัติการวิจัยแมชชีนวิชั่น
    ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ
  5. ดร ศุภนิจ พรธีระภัทร
    หัวหน้าห้องปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีโฟโทนิกส์
    ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ
  6. นายทวี ป๊อกฝ้าย
    ผู้ช่วยวิจัย ศูนย์นวัตกรรมการพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์และอิเล็กทรอนิกส์อินทรีย์
    ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ

14.30 – 14.45 พักรับประทานอาหารว่าง

14.45 – 16.00 การเสวนา “เทคโนโลยีก้าวไกล ไปให้ทันเกษตรกรรม 4.0

ร่วมเสวนาโดย

  1. นายคมสัน จำรูญพงษ์
    รองเลขาธิการ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
  2. นายสถาพร ใจอารีย์
    ผู้อำนวยการ กองสำรวจดินและวิจัยทรัพยากรดิน กรมพัฒนาที่ดิน
  3. นายอนุวัฒน์ ปัญจมาภิรมย์
    รองประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคเหนือ หอการค้าไทย
    ประธาน บริษัท โกลบอลอะโกรเทรด จำกัด
  4. นายสรพัศ ปณกร
    อุปนายก สมาคมการค้าปัจจัยการผลิตสัตว์น้ำไทย

ดำเนินรายการ โดย

  1. นายพิสุทธิ์ ไพบูลย์รัตน์
    ผู้เชี่ยวชาญวิจัย ห้องปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีสมองกลฝังตัว
    ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ
  2. ดร. กัลยา อุดมวิทิต
    รองผู้อำนวยการ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ

สรุปเนื้อหาจากสัมมนา

เนื้อหาช่วงที่ 1 รู้ลึกผลงาน “NECTEC FAARM Analytics Solutions”

การพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลของเนคเทคเป็นไปเพื่อตอบโจทย์ประเทศไทย 4.0 ทางด้านเกษตร ก้าวข้ามความท้าทายของภาคการเกษตรไทย พัฒนาการเกษตรแบบ “ทำมากได้น้อย” (ต้นทุนมาก ลงแรงมาก แต่ได้ผลผลิตน้อย) ให้เป็นแบบ “ทำน้อยได้มาก” (ต้นทุนน้อย ลงแรงน้อย แต่ได้ผลผลิตมากขึ้น) มีความยืดหยุ่นและปรับตัวได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและสภาวะตลาด เทคโนโลยีเพื่อการเกษตรของเนคเทคประกอบด้วยเทคโนโลยี 4 กลุ่ม คือ

  1. Agri-information (ระบบสารสนเทศเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของภาคการเกษตร)
  2. Sensor System and IoT (ระบบรับข้อมูลและอินเตอร์เน็ตทุกสรรพสิ่ง)
  3. Automation & Control System (ระบบอัตโนมัติและการควบคุม)
  4. Learning Tools (ระบบสนับสนุนการเรียนรู้สำหรับเจ้าหน้าที่ภาครัฐและเกษตร)

ซึ่งเนคเทคได้พัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อการเรียนรู้แบบเปิด (Massive Open Online Course, MOOC) ทางด้านการเกษตรที่เปิดกว้างและมีทั้งช่องทางออนไลน์ (www.nectec.or.th/zoning) และช่องทางออฟไลน์

พื้นฐานการใช้เทคโนโลยีในการทำเกษตรประกอบด้วย 3 ส่วนสำคัญ คือ 1. การใช้ระบบเซนเซอร์เพื่อติดตามข้อมูลในแปลงเกษตร (Data Input) 2. การประมวลผลข้อมูล (Data Analytic) และ 3. ระบบการควบคุมที่แม่นยำ (Precise Control) ผลงานเทคโนโลยีทางด้านเกษตรของเนคเทคที่นำเสนอในงานสัมมนานี้ประกอบด้วย

  • Smart Farm Platform โดยศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (TMEC) ซึ่งประกอบด้วยชุดเซนเซอร์คุณภาพสูง 7 ชนิด (อุณหภูมิในอากาศและในดิน ความชื้นในอากาศและในดิน ความเข้มแสง แรงดันอากาศและแรงดันน้ำ) Data Logger ระบบคลาวด์และระบบควบคุมในโรงเรือนแบบครบวงจร สามารถนำมาใช้ติดตั้งในฟาร์มทั้งระบบเพื่อช่วยให้เกษตรกรมือใหม่สามารถปลูกพืชให้มีคุณภาพใกล้เคียงหรือสูงกว่าเกษตรกรมืออาชีพจากการทดสอบใช้งานจริง (ผู้สนใจติดตั้งระบบสามารถติดต่อได้ที่ https://tmec.nectec.or.th)
  • เทคโนโลยีสำหรับการเพาะปลูกในโรงเรือน (Smart Green House) เช่น Water Fit หรือระบบให้น้ำสำหรับการเพาะปลูกที่ปรับอัตราให้น้ำอัตโนมัติตามระดับความชื้นในดิน ปริมาณน้ำฝนในพื้นที่หรืออัตราการคายระเหยของพืชได้ Ambient Sense หรือระบบตรวจวัดสภาพแวดล้อมในโรงเรือน Ambient Fit หรือระบบปรับและควบคุมอุณหภูมิ ความชื้นและก๊าซในโรงเรือน เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ โดยเทคโนโลยีชุดนี้สามารถเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนระบบแอนดรอยด์เพื่อควบคุมระบบได้ในระยะไกล และมีการส่งบันทึกข้อมูลของเซนเซอร์เข้าอินเตอร์เน็ตแบบอัตโนมัติ ทั้งนี้ในอนาคตจะมีการพัฒนาระบบการเพาะปลูกในโรงเรือนที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของพืชโดยตรงโดยอาศัย Imaging Technology และ Variable Rate Technology เป็นหัวใจสำคัญ
  • เทคโนโลยีจมูกอิเล็กทรอนิกส์ (E-nose) หรือระบบเซนเซอร์ตรวจวัดกลิ่นจากแก๊ซในอากาศซึ่งนำมาต่อยอดเป็นผลงานวิจัยทางด้านการเกษตรได้หลากหลาย เช่น เครื่องตรวจวัดความหอมของข้าวแบบพกพาสำหรับใช้ทดแทนเครื่อง Gas Chromatography ระบบวัดกลิ่นในสภาพแวดล้อม (Cloud Nose) เพื่อตรวจสอบระดับความแรงและทิศทางของกลิ่นเหม็นจากโรงเลี้ยงสัตว์ โดยเป็น Wireless Sensor Network ที่มีความสามารถในการวัดแก๊ซหลากหลายชนิดก่อนนำมาคำนวณและแปรผลเป็นกลิ่นที่ต้องการวัด โดยระบบมีการเชื่อมต่อข้อมูลกับอุปกรณ์ของผู้ใช้งานด้วยระบบคลาวด์ ท้ายที่สุด คือ Ammonia Sensor Network ซึ่งเป็น Wireless Sensor Network สำหรับตรวจวัดแก๊ซแอมโมเนียในโรงเลี้ยงสัตว์หรือโรงงานอุตสาหกรรม
  • เทคโนโลยีสำหรับผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (Aqua Solution of Sustainable, Aqua-SOS) ซึ่งประกอบด้วย Bubble fit หรือระบบควบคุมเครื่องเติมอากาศอัตโนมัติตามค่าออกซิเจนละลายในน้ำ (DO) ChemEyeหรือเครื่องอ่านค่าสารเคมีในน้ำ Minimal Shrimp Lab หรือระบบตรวจติดตามสมดุลอินทรีย์ในน้ำซึ่งเป็นสาเหตุหลักของโรคตายด่วนในกุ้ง (โรค EMS) และหลัก Key5 ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างสภาวะสมดุลธรรมชาติเพื่อกำจัดแบคทีเรียตัวก่อโรค EMS ในกุ้ง
  • เทคโนโลยี Data Analytics สำหรับการเกษตร ซึ่งเนคเทคได้เริ่มต้นพัฒนาจากระบบบูรณการพื้นที่เพาะปลูก (What2Grow) มาเป็นแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-Map) จนมาสู่แพลตฟอร์ม Analytics Engines สำหรับการเกษตร (FAARM AlicE) ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของระบบเกษตรแม่นยำให้มีการทำงานที่ยืดหยุ่นและตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ของสภาพแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด (ทดลองใช้ Agri-Map Online ได้ฟรีที่ https://agri-map-online.moac.go.th/login และ Application Agri-Map Mobile ใน Google Play)

เนื้อหาช่วงที่ 2 เสวนา “เทคโนโลยีก้าวไกล ไปให้ทันเกษตรกรรม 4.0”

การเสวนาช่วงนี้ได้รับเกียรติจากวิทยากรจากภาครัฐ 2 ท่าน และภาคเอกชน 2 ท่าน ช่วยให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเทคโนโลยีเพื่อเกษตรกรรม 4.0 ของประเทศไทย คุณคมสันต์ จำรูญพงษ์ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ได้กล่าวถึงเป้าหมายการยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทย โดยการนำเทคโนโลยี อาทิ Big Data Analytics, Artificial Intelligence เข้ามาใช้ร่วมกับฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของ สศก. เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการคาดการณ์และวางแผนการผลิตและจำหน่ายสินค้าเกษตรให้ดีและมีความสมดุลมากยิ่งขึ้น สศก. ยังร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรจัดทำโครงการฐานข้อมูลเกษตรกรกลาง (Farmer One) และต้องการต่อยอดให้ฐานข้อมูลนี้มีข้อมูลลึกถึงระดับรายบุคคลเพื่อปรับการสนับสนุนเป็นรายบุคคลได้ อีกทั้งยังมีวิสัยทัศน์ในการเปิดเผยฐานข้อมูลเป็น Open Data ให้หน่วยงานต่าง ๆ นำไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์ยิ่งขึ้นไป

ดร.สถาพร ใจอารีย์ ผู้อำนวยการกองสำรวจดินและวิจัยทรัพยากรที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน (พด.) ได้กล่าวถึงความสำคัญของการพัฒนาการเกษตรซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อน Bio Economy หนึ่งในคีย์หลักในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้ไปถึงเป้าหมายไทยแลนด์ 4.0 สิ่งสำคัญในการพัฒนาการเกษตรของประเทศไทย คือ การจัดทำโซนนิ่งการเกษตรเพื่อช่วยแนะนำให้เกษตรกรสามารถปลูกพืชทดแทนที่เหมาะสมกับพื้นที่ตนเองและให้ผลตอบแทนดีกว่าพืชชนิดเดิม ในการนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ร่วมมือกับเนคเทค สวทช. และหน่วยงานพันธมิตรในการพัฒนาระบบแผนที่เกษตรเพื่อบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-map) เพื่อช่วยในการจัดโซนนิ่งการปลูกพืชในประเทศซึ่งเกษตรกรก็สามารถใช้งานระบบนี้ได้ฟรีด้วยตนเอง นอกจากการจัดทำโซนนิ่งการปลูกพืชแล้ว การพัฒนาเรื่องการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรกรรม เช่น การแปรรูปอ้อยเป็นน้ำตาล เอทานอล พลาสติกชีวภาพ สารให้ความหวานไซลิทอล ไปจนถึงยาชีวภาพหรือไบโอฟาร์มา ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญที่จะช่วยส่งเสริมความเป็นอยู่ของเกษตรกรไทยในอนาคต

คุณอนุวัฒน์ ปัญจมาภิรมย์ รองประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคเหนือ หอการค้าไทย ได้กล่าวว่าตนเองได้รับนโยบายจากหอการไทยให้เป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่ม GDP ของประเทศด้วยภาคการเกษตร คุณอนุวัตน์ได้ให้ความเห็นว่าการขับเคลื่อนภาคการเกษตรไทยจะต้องคิดให้ตลอดทั้ง Value Chain ซึ่งในแต่ละช่วง Value Chain สามารถใช้เทคโนโลยีเข้าไปช่วยได้ เช่น การใช้เทคโนโลยีดมกลิ่นหรือวัดความหวานเพื่อช่วยคัดเลือกคุณภาพของผลไม้ การใช้ QR Code ในการตรวจสอบย้อนกลับจากปลายน้ำไปถึงต้นน้ำ การใช้เทคโนโลยีแปรรูปผลิตภัณฑ์ เป็นต้น นอกจากนี้คุณอนุวัตน์ยังกล่าวถึงปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคเกษตรกรรม ซึ่งเทคโนโลยีจะช่วยลดปัญหานี้ได้ โดยควรจะมีหน่วยงาน เช่น เนคเทค ช่วยผลิตผลงานเทคโนโลยีแบบง่าย ๆ ที่ใช้งานได้ง่ายและเข้าถึงได้ง่าย โดยนำผลงานดังกล่าวไปเชื่อมต่อกับภาคการศึกษาเพื่อให้มีการเรียนรู้ก่อนออกมาสู่ภาคแรงงานด้วย

คุณสรพัศ ปณกร อุปนายก สมาคมการค้าปัจจัยการผลิตสัตว์น้ำไทย ได้กล่าวถึงความต้องการเทคโนโลยีของเกษตรกรว่า เกษตรกรส่วนใหญ่มักต้องการเทคโนโลยีเข้ามาช่วย แต่ในขณะเดียวกันมักจะไม่รู้ตัวว่าต้องการเทคโนโลยีอะไร จึงควรมีผู้เชี่ยวชาญเข้าไปช่วยเหลือ โดยส่วนตัวของคุณสรพัศให้ความชื่นชมผลงานที่เนคเทคนำเสนอ และอยากให้เนคเทคมีการผลักดันผลงานให้เป็นที่รู้จักของภาคการเกษตรโดยตนเองยินดีให้ความช่วยเหลือ นอกจากนี้คุณสรพัศได้ให้โจทย์ทางด้านเกษตรที่น่าสนใจ อาทิ เรื่องสารเคมีตกค้างในผลผลิตการเกษตร เรื่องลดความเสี่ยงเพิ่มความสุขให้เกษตรกร เรื่องการทำ Virtual Shelf เพื่อวางจำหน่ายสินค้าเกษตรล่วงหน้า เรื่องการเพิ่มคุณภาพสินค้าเกษตรไทยให้เป็นสินค้าเกรดพรีเมี่ยม และการถ่ายทอดองค์ความรู้ของปราชญ์เกษตรกรท้องถิ่นไม่ให้สูญหาย ในตอนท้ายคุณสรพัศได้แสดงความกังวลถึงระบบฟาร์มอัตโนมัติแบบครบวงจรจนไม่ต้องพึ่งพาแรงงาน เนื่องจากจะแย่งงานเกษตรกรไทยได้

ไฟล์ประกอบการบรรยาย (.pdf)

Part 1

Part 2


Watch more on Youtube