โครงการ “ต่อกล้าให้เติบใหญ่”

Facebook
Twitter
the-seedling-to-grow

 

ดำเนินการเข้าสู่ปีที่ 3 แล้ว สำหรับโครงการ “ต่อกล้าให้เติบใหญ่” ดำเนินการโดย NECTEC ในการสนับสนุนของมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ล่าสุดได้ประกาศผล 15 กลุ่มเยาวชนคนเก่ง IT จากยอดสมัครทั้งสิ้น 120 โครงการทั่วประเทศเข้ารับทุนสนับสนุน และโอกาสเข้าร่วมกระบวนการพัฒนาศักยภาพเพื่อต่อยอดผลงานจากเวทีประกวดสู่การใช้จริง

ดร.กัลยา อุดมวิทิต รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) กล่าวว่าโครงการ “ต่อกล้าให้เติบใหญ่” ในปีที่ 3 นี้ยังคงยึดแนวทางให้การสนับสนุนเยาวชนต่อยอดผลงานจากเวทีประกวดของ NECTEC สู่การใช้จริง อย่างไรก็ดีเพื่อยกระดับโครงการให้มีคุณค่าต่อสังคมมากขึ้น จึงมีแนวคิดผลักดันเยาวชนที่มีศักยภาพได้พัฒนาตนเองสู่การเป็น “ผู้ประกอบการสังคม” (Social Entrepreneur) ด้วย

“2 ปีที่ผ่านมา เราพยายามผลักดันให้งานของน้องๆ สำเร็จ ใช้งานได้จริง แต่คำว่าใช้งานได้จริงก็มีหลายประเด็น เช่น ใช้งานได้จริงจากการมีคนนำไปใช้ หรือใช้งานได้จริงจากการขายได้ ซึ่งจริงๆ แล้วโครงการของเราไม่ได้มุ่งหวังว่าจะให้มีการขายของจนร่ำรวยหรือเป็นกิจการอะไรมากมาย แต่เน้นไปที่ชุมชนได้ประโยชน์มากกว่า ทาง NECTEC และมูลนิธิสยามกัมมาจลจึงหารือร่วมกันจนเป็นที่มาของแนวคิดผู้ประกอบการสังคมว่าเป็นวิถีตรงกลางของการทำงาน ที่ไม่ได้ทำเพื่อแจกฟรีเสียทีเดียว แล้วก็ไม่ได้ทำเพื่อหวังกำไรสูงสุด แต่ทำอย่างไรให้ธุรกิจสามารถเกิดขึ้น ดูแลตัวเองได้ และเป็นประโยชน์กับสังคมด้วย” ดร.กัลยากล่าว

ทั้งนี้ โครงการยังเชื่อว่าการผนวกแนวคิดผู้ประกอบการสังคมเข้ามาจะทำให้เยาวชนเห็นเป้าหมายและมีแรงจูงใจในการพัฒนาผลงานมากขึ้นด้วย โดยเฉพาะในปัจจุบันที่ตลาดไอทีมีโอกาสเกิดกิจการเพื่อสังคมได้ง่ายกว่าแต่ก่อนมาก เห็นได้จากการกระจายตัวของแนวคิดการระดมทุนสาธารณะ (Crowd Funding) และการรวมพลังกันของผู้คนเพื่อสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้น (Crowd Sourcing) ซึ่งหลายโครงการของน้องๆ มีศักยภาพที่จะยกระดับเป็นผู้ประกอบสังคมได้โดยใช้วิธีข้างต้นเป็นตัวช่วยให้ชิ้นงานหรือธุรกิจออกสู่สังคมได้

สำหรับผลงานทั้ง 15 โครงการที่ผ่านเข้ารับการสนับสนุนแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มด้วยกัน ได้แก่ กลุ่มโปรแกรมเกม 5 ผลงาน กลุ่มสื่อการเรียนรู้ 2 ผลงาน และกลุ่มอุปกรณ์อำนวยความสะดวก 8 ผลงาน ในจำนวนนี้มีผลงานเพื่อคนพิการจำนวน 2 ผลงาน ตัวอย่างผลงาน อาทิ Tempo Fight Game ผจญภัยในโลกแห่งเสียง โดยนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา ประกอบด้วยนางสาวศิริวรรณ ตุนมรรยาท นายกิตติภณ แต้เกษม และนายกันตภณ เก็งทอง Tempo Fight Game เป็นเกมบนอุปกรณ์พีซีสำหรับผู้พิการทางสายตาอายุ 10 ปีขึ้นไป เพื่อตอบโจทย์ผู้พิการทางสายตาก็มีสิทธิ์เล่นเกมเพื่อความบันเทิงได้เหมือนคนทั่วไป

“โดยปกติแล้ว ผู้ที่มีความบกพร่องทางด้านสายตาจะไม่สามารถเข้าถึงประสบการณ์ด้านมัลติมีเดียได้ดีเท่ากับบุคคลที่มีสายตาปกติ ทำให้คนกลุ่มนี้ขาดโอกาสที่จะได้รับความสนุกสนานดังเช่นบุคคลทั่วไป Tempo Fight Game เป็นเกมที่ดำเนินเนื้อเรื่องและวิธีการเล่นโดยใช้เสียงเป็นหลักและมีภาพเป็นส่วนเสริม ผู้เล่นจึงใช้เพียงแค่หูฟังก็สามารถเล่นเกมได้แล้ว” ศิริวรรณเล่า

ศราเปาร้อยร้าน (sarapao millionaire) ผลงานของนางสาวพิชชากร เจริญพรอนุกูล นางสาวรสิตา วัฒนศิริ และนางสาวณัฐกนก โภคทรัพย์ไพบูลย์ โรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ เป็นสื่อการเรียนการสอนวิชาเศรษฐศาสตร์บนแท็บเล็ตระบบแอนดรอยด์ และพีซี เปลี่ยนเรื่องตัวเลขยากๆ ให้เป็นเรื่องง่าย ผ่านการเล่นเป็นตัวละคร “สลึง” พ่อค้าขายซาลาเปาที่ต้องการประกอบกิจการให้ประสบความสำเร็จ จำลองสถานการณ์ให้ผู้เล่นเป็นทั้งผู้ซื้อผู้ขายตัวจริง กลุ่มเป้าหมายคือนักเรียนชั้น ม. 4-6 เมื่อพัฒนาเสร็จแล้วจะเปิดให้ดาวน์โหลดไปใช้ได้ฟรี ผ่าน Playstore

“ปัจจุบัน สื่อการเรียนรู้ต่างๆ มีมาก แต่มีน้อยที่เข้าใจง่าย สนุก และนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ด้วย โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐศาสตร์ ซึ่งนักเรียนมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว เรียนไปแล้วไม่ได้ใช้ นำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันไม่ได้ ศราเปาร้อยร้านจะช่วยให้ผู้เรียนจะได้รับความรู้เกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์เบื้องต้น รวมถึงได้ฝึกคิดวิเคราะห์ แก้ไขปัญหา และรับมือกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อผู้เล่นจะนำเอาประสบการณ์ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้จริงในชีวิตประจำวัน” เยาวชนเจ้าของผลงานกล่าว

สุดท้ายที่ วิชั่นเนียร์ (VISIONEAR) โดยนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้แก่ นายนันทิพัฒน์ นาคทอง นายณัฐภัทร เลาหระวี นางสาวบุษภาณี พงษ์ศิริยาภรณ์ และนางสาวเกวลี เลี่ยมโลหะ เล่าว่าสิ่งประดิษฐ์ดังกล่าวจะช่วยจำแนกสีสิ่งของ อาทิ เสื้อผ้า ธนบัตร และอ่านบาร์โค้ดบนฉลากสินค้าให้ผู้พิการทางสายตาได้ทราบ เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนกลุ่มนี้ให้ดีขึ้น

“ทั่วโลกมีคนกว่า 285 ล้านคนที่มีความบกพร่องทางการมองเห็นในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นตาบอดสี ตามุมมองคับแคบ ตาพร่ามัว และตาบอด เฉพาะในประเทศไทยมีประชากรเกือบ 2 แสนคนที่ประสบปัญหาเหล่านี้ วิชั่นเนียร์เป็นอุปกรณ์ที่จะช่วยให้ผู้พิการทางสายตาเข้าใจสิ่งต่างๆ รอบตัวมากยิ่งขึ้น เบื้องต้นทีมของเรามีแผนทำตัวต้นแบบทดลองใช้กับผู้พิการทางสายตาของสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทยได้ทดลองใช้ 30 ตัวครับ” นันทิพัฒน์เล่า

ขณะที่ผลงานอีก 12 โครงการที่ผ่านเข้ารอบประกอบด้วยเกมสู้เพื่อแม่ โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย, เกมสงครามแห่งแอสทีรอส (War of Asteros) มหาวิทยาลัยศิลปากร, เกม Insanity bearcraft จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, เกม king of transport โรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์, สื่อเรียนรู้ดาราศาสตร์ จับดาวใส่กระด้ง (Catching Star) โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย, ระบบสนับสนุนการพยาบาลทุกแห่งหน UbiNurSS มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, ตู้หยอดเหรียญกระจายไวไฟ (WIFI BOX) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา, แอพพลิเคชั่นมัคคุเทศก์ (Day Tripper) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา, เครื่องรดน้ำเห็ดอัตโนมัติ Perfect KINOKO โรงเรียนชลกันยานุกูล, อุปกรณ์ยับยั้งการเกิดตะไคร่น้ำในตู้ไม้น้ำและตู้ปลา D-Clean (Aqua Induster) โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย จ.เพชรบุรี, สารสกัดธรรมชาติชะลอการร่วงของดอกแตงกวา iBA โรงเรียนยางชุมน้อยพิทยาคม, ผลิตภัณฑ์ดูดซับทำความสะอาดคราบน้ำมันในครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม PP Oil Sorbent (ONAB) โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย จ.ตรัง และ ชุดเพาะเห็ดอัตโนมัติสำหรับครัวเรือน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร

โดยเยาวชนทั้ง 15 ทีมนี้จะได้รับทุนสนับสนุนการพัฒนาต่อยอดผลงานโครงการละ 5 หมื่นบาท และได้เข้าร่วมเวิร์คช็อปเสริมศักยภาพความรู้ ทักษะ วิธีคิด วิธีการทำงานจากผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา ทั้งในด้านการพัฒนาและออกแบบผลงาน การบริหารจัดการโครงการและงบประมาณ การนำเสนอและการสื่อสาร การขยายผลทางธุรกิจและการตลาด รวมถึงการติดตามให้คำปรึกษาแนะนำอย่างใกล้ชิดจากนักวิจัย NECTEC ในฐานะพี่เลี้ยงโครงการ ก่อนปิดท้ายด้วยการนำเสนอความก้าวหน้าผลงานต่อกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิได้ให้ความเห็นและข้อเสนอแนะในงานประชุมวิชาการประจำปี NECTEC ACE 2015 ในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ต่อไป