เขาคือตัวแทนของคนรุ่นใหม นักสร้างสรรค์นวัตกรรม ที่มีโจทย์คือ ‘เป็นประโยชน์ต่อสังคม’ วันนี้ผลงานเพื่อผู้พิการและคนชราของเขา ไปคว้ารางวัลชนะเลิศจากเวที i-CREATe 2014 ณ ประเทศสิงคโปร์มาได้ ทว่าสิ่งสำคัญไปกว่า ผลรางวัล ก็คือการต่อยอดนวัตกรรมน้ำดีไปสู่การใช้งานจริงในสังคม
ผลงาน “ระบบตรวจวัดน้ำหนักแรงกดฝ่าเท้า และสมดุลร่างกายเพื่อตรวจสอบโอกาสการเกิดการล้มในผู้สูงอายุ” ของ “อู๋-ยุทธพงศ์ อุณหทวีทรัพย์”ที่ต่อยอดมาจาก “ระบบวิเคราะห์ฝ่าเท้าอัจฉริยะ” ซึ่งพัฒนาร่วมกับ ปวีณา มั่นบัว จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ในกลุ่มเทคโนโลยี จากการประกวด Student Design Challenge งานประชุมวิชาการนานาชาติเรื่องวิศวกรรมฟื้นฟูสมรรถภาพและ เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ ครั้งที่ 8 (i-CREATe 2014) ณ ประเทศสิงคโปร์ ได้สำเร็จ ผลงานที่เกิดจากการสังเกตปัญหาใกล้ตัว เข้าคอนเซ็ปต์ สิ่งประดิษฐ์สำหรับผู้พิการและ ผู้สูงอายุ สามารถตอบโจทย์ได้ทั้ง ผลกระทบต่อสังคม และความเป็นไปได้ในเชิงธุรกิจ ตลอดจนความเจ๋งของตัวต้นแบบ(Prototype) ที่นำเสนอ ทำให้ฟันฝ่าคู่แข่ง จาก 6 ประเทศ ทั้ง ออสเตรเลีย เกาหลี สิงคโปร์ ฮ่องกง มาเลเซียและไทย ขึ้นแท่น “เดอะวินเนอร์” ในเวทีนี้ได้
“อุปกรณ์ สามารถตอบโจทย์การแก้ปัญหา ในกลุ่มผู้สูงอายุได้โดยตรง ตัวงานมีราคาถูก จึงเข้าถึงผู้คนที่ต้องการใช้ได้มากขึ้น ส่วน Prototype ผมทำมา 2 เวอร์ชั่นแล้ว เลยมีรูปลักษณ์ การใช้งาน ที่ง่าย เคลื่อนย้ายสะดวก รองรับการใช้งานที่ หลากหลายขึ้น” เจ้าของผลงานบอกความโดดเด่นของสิ่งที่พัฒนาขึ้น
i-CREATe ไม่ใช่เวทีแรกที่เขาและเพื่อนได้เข้าประกวด แม้แต่ผลงานที่สร้างสรรค์ขึ้น ก็เกิดจากการพัฒนาต่อยอดจากเวทีก่อนหน้านี้ โดยเคยได้รางวัลชนะเลิศอันดับ 2 จากการแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 13 เมื่อประมาณ 3 ปีที่ผ่านมา กับ “ระบบวิเคราะห์ฝ่าเท้าอัจฉริยะ” ผู้ช่วยแพทย์วินิจฉัยโรคจากรูปของฝ่าเท้า
ในการลงสนามครั้งใหม่กับเวทีที่ใหญ่ขึ้น เลยมี ต้นทุนสำคัญคือ “ประสบการณ์” และการนำผลงานไปทดลองใช้จริงกับโรงพยาบาลต่างๆ มาแล้ว จึงได้ฟังเสียงสะท้อนจากผู้ใช้งานโดยตรง จุดอ่อนที่เคยมี เลยถูกเติมเต็มเป็น “จุดแข็ง”
เขาบอกเราว่า ผลงานเดิมจะวัดแรงกด 2 เท้าว่าเป็นอย่างไร กดหนักหรือกดเบา โครงสร้างอุ้งเท้าเป็นอย่างไร ส่วนผลงานใหม่ จะดูในเรื่องจุดกึ่งกลางของการลงน้ำหนัก ระบบจะแสดงผลเป็นกราฟทำให้เห็นทิศทางการเอนตัวของผู้ทดสอบ เช่น หากมีการเอนตัวมาทางด้านใดด้านหนึ่งอย่างต่อเนื่อง แสดงว่ามีแนวโน้มที่จะหกล้มในทิศทางดังกล่าวได้มากกว่าด้านอื่นๆ ซึ่งเมื่อรู้แล้ว จะได้หาทางป้องกันตัวเองได้ง่ายขึ้น เช่น ออกแบบบ้านให้มีราวจับในจุดที่เสี่ยงต่อการหกล้ม อย่าง ห้องน้ำและบันได เป็นต้น
“ปกติแล้ว การตรวจสอบดังกล่าวต้องใช้อุปกรณ์เซ็นเซอร์จากต่างประเทศ ซึ่งมีราคาตั้งแต่ 3 แสนถึง 10 ล้านบาท แต่ผมได้เปลี่ยนมาเป็น การเขียนอัลกอริทึมซอฟต์แวร์ใหม่ทั้งหมดเพื่อหาความสัมพันธ์ของข้อมูล พบว่าข้อมูลที่ได้จากซอฟต์แวร์ที่พัฒนาขึ้นนี้มีความคล้ายคลึงกับข้อมูลจากอุปกรณ์ของต่างประเทศประมาณ 78 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นค่าที่ยอมรับได้ โดยใช้ต้นทุนเพียง 1 หมื่นถึง 2.5 แสนบาทเท่านั้น”
ต้นทุนที่ต่ำกว่า คือ ความได้เปรียบในการแข่งขัน ตอบโจทย์ความเป็นไปได้ในเชิงพาณิชย์ ขณะที่หากสามารถทำให้อุปกรณ์มีราคาถูกลงได้ ก็จะเข้าถึงผู้คนได้มากขึ้น ไม่เพียงคนมีเงินกระเป๋าหนักเท่านั้น ทำให้ผู้สูงอายุตลอดจนผู้พิการ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ลดอาการบาดเจ็บรุนแรงจากการหกล้ม และช่วยให้ผู้มีโครงสร้างอุ้งเท้าผิดปกติสามารถใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติ อีกทั้งยังเป็นการลดการ พึ่งพิงเทคโนโลยีราคาแพงจากต่างประเทศอีกด้วย
“อุปกรณ์ที่เกี่ยวกับทางการแพทย์ ส่วนใหญ่จะนำเข้าจากต่างประเทศ และจำหน่ายในราคาที่แพงมาก โดยที่เขาไม่ได้สนใจด้วยซ้ำ ว่าผู้ป่วยจะมีความสามารถในการใช้อุปกรณ์นั้นจริงหรือเปล่า ผมมองว่า บางอย่างถ้าเราสามารถทำให้ราคาถูกลงได้ และเข้าถึงคนได้มากขึ้น ก็จะเป็นประโยชน์กับคนที่เขาต้องการใช้งานจริง และยังหยุดปัญหาอื่นๆ ที่จะเกิด กับผู้ป่วยตามมาได้ด้วย”
ปัจจุบันผลงานของ ยุทธพงศ์ ถูกทดลองใช้จริงแล้วกับผู้ป่วยในโรงพยาบาล 12 แห่ง ทั่วประเทศ เขาย้ำว่า “ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ”
และแม้จะชนะเลิศในเวทีนี้ แต่โครงการพัฒนา ก็ไม่ได้สิ้นสุดเพียงแค่นั้น เขาบอกว่า ในอนาคตยังต้อง การพัฒนาให้ระบบดังกล่าว สามารถวิเคราะห์และประมวลผลหาวิธีแก้ปัญหาโครงสร้างอุ้งเท้าของผู้ใช้งาน ได้ด้วย โดยตัดออกมาเป็นแผ่นรองรองเท้าที่สอดคล้อง กับเท้าของแต่ละบุคคลได้ภายในครึ่งชั่วโมง โดยคาดว่า คงต้องใช้เวลาพัฒนาอีกประมาณ 1 ปี เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตรองเท้า สำหรับผู้สูงอายุ ผู้พิการ ก่อนจะขยายผลยังกลุ่มผู้ใช้งานกลุ่มอื่นๆ ต่อไป
“นวัตกรรมของผม ไม่ได้ตอบโจทย์แค่คนพิการกับผู้สูงอายุเท่านั้น แต่สามารถตอบสนองคนได้หลายกลุ่ม อย่างการเป็นเครื่องมือที่สามารถวัดเพื่อทำแผ่นรองเท้าและออกแบบรองเท้าที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล หรืออย่างการเข้าไปแก้ปัญหาทางด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา ขณะที่ กลุ่มรองเท้าเพื่อสุขภาพ ก็ยังน่าสนใจ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีบริษัทเอกชนที่ติดต่อเข้ามา และผมเองก็ยังทำวิจัยร่วมกับ คุณหมออยู่ โดยหวังว่าจะเห็นการต่อยอดไปสู่ผลงาน จริงอีกมากในอนาคต”
คนหนุ่มรุ่นใหม่ จบปริญญาตรีจาก สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปัจจุบันเพิ่งคว้าปริญญาโท วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีการจัดการระบบสารสนเทศ จากมหาวิทยาลัยมหิดล เจ้าตัวบอกเราว่า กำลังเตรียมตัวศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก เพราะยังอยากเรียนรู้ต่อไป และสร้างคอนเนคชั่น ส่วนโพรดักส์ก็ยังคงพัฒนาต่อไปเพื่อตอบโจทย์การใช้งานให้มากขึ้น
ยุทธพงศ์ คือ เยาวชนในโครงการต่อยอดการแข่งขัน พัฒนาโปรแกรมซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ “ต่อกล้าให้เติบใหญ่” ปีที่ 1 โครงการน้ำดีของ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิสยามกัมมาจล บมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนเยาวชนให้ใช้ความรู้ความสามารถด้าน ICT ต่อยอดและพัฒนาผลงานจากการแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย (NSC) และโครงการของ นักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ (YSC) ให้เกิดผลสำเร็จ สามารถ ใช้งานได้จริง ตอบโจทย์ทั้งการค้าและรับใช้สังคม
เขาสะท้อนความคิดของการที่คนรุ่นใหม่ จะลุกมาทำอะไรสักอย่างให้สำเร็จ โดยไม่ล้มเลิกถอดใจไปกลางคันก่อน โดยบอกว่า ให้เริ่มจากตอบคำถามตัวเองให้ได้ว่า สิ่งที่ทำนั้น เป็นประโยชน์ หรือเปล่า
“เวลาผมคิดที่จะทำอะไรออกมา ผมจะมองว่า งานนั้นมีประโยชน์หรือเปล่า สามารถตอบปัญหาในปัจจุบันได้จริงไหม อย่างผลงานชิ้นนี้ก็เกิดจาก การที่ ผมสังเกตเห็นว่า แพทย์มีปัญหาต้องการใช้ มีผู้ป่วยต้องการใช้ แต่ยังไม่มีของมาตอบสนอง ซึ่งเมื่อผลงาน สามารถตอบโจทย์ที่ต้องการจริงๆ ได้ มันจะเกิดแรงผลักดันในการทำงาน และใจที่อยากทำจนสำเร็จ”
ความคิดของคนรุ่นใหม่ ที่ไม่ได้มองแค่ความสำเร็จ ในตัวเองเท่านั้น ทว่ายังมองถึงความสำเร็จที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมด้วย
เวลาผมคิดที่จะทำอะไรออกมา ผมจะมองว่า งานนั้นมีประโยชน์ หรือเปล่า สามารถตอบปัญหา ในปัจจุบันได้จริงไหม