โรงเรียนวัฒนธรรมชนเผ่าเด็กกำพร้าแขวงเวียงจันทน์ (หลัก ๖๗) สปป.ลาว วันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๖๑ : ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และที่ปรึกษาอาวุโสสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พร้อมด้วยกรรมการมูลนิธิฯ และหน่วยงานพันธมิตรที่เกี่ยวข้อง ตรวจเยี่ยมความก้าวหน้าของโครงการพระราชทานความช่วยเหลือด้านปฏิบัติการทดลองวิทยาศาสตร์ให้แก่โรงเรียนวัฒนธรรมชนเผ่าเด็กกำพร้าแขวงเวียงจันทน์ (หลัก ๖๗) สปป.ลาว โดยโครงการฯ ระยะที่ ๑ ได้กำหนดแผนการดำเนินงาน ๓ ปี ตั้งแต่เดือนมกราคม ๒๕๕๙ ถึง เดือนธันวาคม ๒๕๖๑ ปัจจุบันโรงเรียนมีครูผู้สอนจำนวน ๑๒๖ คน นักเรียน ๑,๑๑๐ คน ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๓๕ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงงาน ณ โรงเรียนแห่งนี้ถึง ๑๕ ครั้ง
การตรวจเยี่ยมและติดตามความก้าวหน้าในครั้งนี้ ผลการดำเนินงานสามารถบรรลุตามแผนที่กำหนดไว้ ประกอบด้วย การก่อสร้างอาคารปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ การส่งมอบอุปกรณ์ทดลองทางวิทยาศาสตร์ และการฝึกอบรมให้ครูประจำของโรงเรียน มีองค์ความรู้และสามารถใช้อุปกรณ์ทดลองทางวิทยาศาสตร์ในการเรียนการสอนให้แก่นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลายในโรงเรียนได้ คณะทำงานฝ่ายไทยได้มอบให้ทางโรงเรียนฯ เปิดใช้งานในอาคารปฏิบัติการวิทยาศาสตร์แล้ว และจะรอหมายกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อทรงเปิดอาคารปฏิบัติการในลำดับต่อไป
อาจารย์ดวงสมร คล่องสารา ผู้เชี่ยวชาญพิเศษอาวุโส สสวท. และ ดร.ชัยรัตน์ หลายวัชระกุล ผู้อำนวยการโรงเรียนปทุมเทพวิทยาคาร จ.หนองคาย ได้รายงานให้คณะตรวจเยี่ยมได้รับทราบว่า การดำเนินงานตามโครงการพระราชดำริฯ ดังกล่าว ได้เสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างครูอาจารย์ของทั้งสองโรงเรียน นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาของสปป.ลาว มีความสนใจและกระตือรือร้นที่อยากจะมาเรียนในวิชาวิทยาศาสตร์สูงขึ้น เด็กนักเรียนมารอที่หน้าห้องเรียนเพื่อที่จะได้เรียนรู้และทำการทดลองทางวิทยาศาสตร์ ที่สำคัญหลายโรงเรียนในสปป.ลาวก็ได้เดินทางมาศึกษาดูงานวิธีการจัดการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์เพื่อนำไปปรับใช้ในสถานศึกษาของตน นับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง
ในที่ประชุมได้มีการนำเสนอและหารือทั้งสองฝ่าย ในแผนการดำเนินงานระยะที่ ๒ พ.ศ.๒๕๖๒-๒๕๖๕ คือ โครงการพัฒนาทักษะกระบวนการวิทยาศาสตร์ให้แก่ครูและนักเรียนในนครหลวงแขวงเวียงจันทน์ โดยการจัดการเรียนรู้ด้วยโครงงานวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญ คือ การพัฒนาทักษะกระบวนการวิทยาศาสตร์ให้แก่ครู นักเรียน โรงเรียนวัฒนธรรมชนเผ่าเด็กกำพร้าแขวงเวียงจันทน์ (หลัก ๖๗) และวิทยาลัยเทคนิคแขวงเวียงจันทน์ โดยการจัดการเรียนรู้ด้วยโครงงานวิทยาศาสตร์ ซึ่งคณะกรรมการทั้งสองฝ่ายคาดหวังว่า ครู นักเรียน โรงเรียนวัฒนธรรมชนเผ่าเด็กกำพร้าแขวงเวียงจันทน์ (หลัก ๖๗) และวิทยาลัยเทคนิคแขวงเวียงจันทน์จะได้รับการพัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ผ่านกิจกรรมการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ ทางด้านสิ่งแวดล้อม และอิเล็กทรอนิกส์ ตามความสนใจของนักเรียนที่สอดคล้องกับสภาพปัญหาจริงของโรงเรียน พร้อมกับได้รับประสบการณ์ในการทำโครงการวิทยาศาสตร์ตามที่ตนสนใจ ที่สำคัญคือการสร้างความสัมพันธ์ทางด้านวิชาการระหว่างราชอาณาจักรไทยและ สปป.ลาว
ข้อมูลโครงการระยะที่ ๑
โครงการพระราชทานความช่วยเหลือด้านปฏิบัติการทดลองวิทยาศาสตร์ ดำเนินงานภายใต้โครงการส่งเสริมและสนับสนุนโรงเรียนวัฒนธรรมชนเผ่าเด็กกําพร้าแขวงเวียงจันทน์ (หลัก ๖๗) สปป.ลาว อันสืบเนื่องมาจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานพระราชานุญาตให้ มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดําริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ดําเนินโครงการพระราชทานความช่วยเหลือให้แก่โรงเรียนในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยเมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๕๘ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ณ โรงเรียนวัฒนธรรมชนเผ่าเด็กกําพร้าแขวงเวียงจันทน์ (หลัก ๖๗) สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และมีพระราชกระแสรับสั่งว่า ควรประสานงานกับหน่วยงานในประเทศไทย เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านการปฏิบัติการทดลองวิทยาศาสตร์แก่โรงเรียน
สํานักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการโครงการฯ จึงได้ประสานงานกับ สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ เวียงจันทน์ สํานักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดําริ (กปร.) โครงการชลประทานอุดรธานี สํานักชลประทานที่ ๕ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และโรงเรียนปทุมเทพวิทยาคาร จังหวัดหนองคายซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีศักยภาพทางด้านการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์และตั้งอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ให้ความช่วยเหลือใน ๓ ด้าน คือ
- ๑. พัฒนาและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานปฏิบัติการทดลองวิทยาศาสตร์ ได้แก่ สถานที่ ห้องเรียน และอุปกรณ์การทดลอง
- ๒. พัฒนาและคัดเลือกหลักสูตรและกิจกรรมในการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ที่สอดคล้องกับหลักสูตรของ สปป.ลาว เพื่อให้นำไปปฏิบัติได้จริง
- ๓. พัฒนาบุคลากรทางด้านวิทยาศาสตร์ ผ่านการอบรมเทคนิคการเรียนการสอน และกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างโรงเรียนไทยกับ สปป.ลาว