วันศุกร์ที่ 31 พฤษภาคม 2562 เวลา 9.00 น. ณ ห้องประชุมประเสริฐ รุจิรวงศ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ : ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ที่ปรึกษาอาวุโสและนักวิจัยอาวุโส สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ร่วมประชุมกับ ศาสตราจารย์คลินิก นพ.นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย ประกอบด้วยรองอธิการบดี คณบดีคณะแพทยศาสตร์ คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ คณบดีคณะเทคนิคการแพทย์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ คณบดีวิทยาลัยศิลปะสื่อและเทคโนโลยี คณบดีคณะเศรษศาสตร์ สำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ รศ.นพ.นนท์ โรจน์วชิรนนท์ ศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ในการรับสนองพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในการจัดตั้งศูนย์แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะร่วมกันระหว่างมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ทำนองเดียวกันกับที่เคยจัดตั้ง “ศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย”
โดยได้รับอนุมัติจากทางสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2562 ให้จัดตั้งเป็นส่วนงานวิชาการภายในมหาวิทยาลัยเทียบเท่าคณะวิชา และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานชื่อว่า “ศูนย์แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริ ฯ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่” ณ วันที่ 20 พฤษภาคม 2562 เพื่อเป็นศูนย์กลางของการแก้ไขปัญหาให้กับผู้ป่วยที่มีความผิดปกติบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะรวมถึงผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ในเขต 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน
จากข้อมูลสถิติผู้ป่วยที่มีความผิดปกติบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ รวมถึงผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนพบว่า มีจำนวนผู้ป่วยจำนวนทั้งสิ้น 1,622 ราย โดยเป็นประชากรผู้ป่วยโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ 778 รายและประชากรผู้ป่วยในโรงพยาบาลเครือข่ายจำนวน 844 ราย (ข้อมูลพ.ศ.2561) ซึ่งกลุ่มโรคดังกล่าวทำให้เกิดปัญหาต่อเนื่องในการใช้ชีวิตต่างๆ ตามช่วงวัย ทั้งในด้านการดูแลรักษาเพื่อให้เกิดประสิทธิผลจนสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ ต้องอาศัยระยะเวลาซึ่งบางรายต้องรักษาต่อเนื่องและยาวนานถึง 20 ปี อีกทั้งครอบครัวและผู้ป่วยยังต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายทางตรงในการรักษาและผู้ดูแลผู้ป่วย ทั้งค่าใช้จ่ายทั้งหมดสำหรับการรักษา ค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่พักและอาหาร รวมถึงค่าใช้จ่ายทางอ้อมได้แก่ ค่าสูญเสียรายได้ค่าสูญเสียโอกาสจากเวลาที่รักษา เป็นต้น อีกทั้งการรักษาต้องอาศัยบุคลากรสหสาขาวิชาชีพทั้งศัลยแพทย์ตกแต่งประสาท ศัลยแพทย์ โสต ศอ นาสิกแพทย์ จักษุแพทย์ รังสีแพทย์ กุมารแพทย์ วิสัญญีแพทย์ พยาบาลเชี่ยวชาญการให้นมเด็ก พยาบาลเชี่ยวชาญด้านการดูแลปากแหว่ง-เพดานโหว่ นักแก้ไขการพูดและทันตแพทย์
การดำเนินงานที่ผ่านมาของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีเครือข่ายบุคลากรซึ่งทำงานภายใต้เครือข่ายความร่วมมือจากโรงพยาบาลในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ประกอบด้วย โรงพยาบาลในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ โรงพยาบาลนครพิงค์ โรงพยาบาลฝาง โรงพยาบาลจอมทองและโรงพยาบาลประจำจังหวัดและโรงพยาบาลศูนย์ ได้แก่ โรงพยาบาลในพื้นที่แม่ฮ่องสอน โรงพยาบาลพะเยา โรงพยาบาลเชียงราย โรงพยาบาลแพร่ โรงพยาบาลน่าน โรงพยาบาลลำพูนและโรงพยาบาลลำปาง ซึ่งมีการดำเนินงานความร่วมมือแบบบูรณาการข้ามศาสตร์สาขาวิชา ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะเทคนิคการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาลัยศิลปะสื่อและเทคโนโลยี คณะเศรษศาสตร์ และสำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นต้น รวมถึงการบูรณาการองค์ความรู้ในประเทศระหว่างองค์กรภาครัฐภาคเอกชน อาทิ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เป็นการบูรณาการแก้ไขปัญหาสุขภาพของประชาชนที่มีความโดดเด่นในด้านการเผยแพร่และจัดการองค์ความรู้ โดยเน้นกลุ่มเป้าหมาย คือ เครือข่ายการทำงานร่วมกันในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งถือเป็นความร่วมมือร่วมกันระหว่างกระทรวงและมีแผนจะขยายเครือข่ายโรงพยาบาลต่อไปในอนาคตอันใกล้ โดยมีเป้าหมายสำคัญในการช่วยให้ผู้ป่วยยากไร้ที่มีความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะและครอบครัวมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถดำรงชีวิตได้ตามปกติ
ในที่ประชุมได้เล็งเห็นถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับผู้ป่วยและประเทศที่จะได้รับ อันเป็นผลมาจากองค์ความรู้และศักยภาพในการดูแลรักษาประชาชน จากสหสาขาวิชาชีพทางการแพทย์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับ การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการวางแผนและผ่าตัดรักษา จากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) อาทิ การสนับสนุนเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ 3 มิติแบบเคลื่อนย้ายได้ (MobiiScan) แพลตฟอร์มการวางแผนการผ่าตัดรักษาและการผลิตวัสดุฝังในผู้ป่วยเฉพาะบุคคล (Patient-specific implant platform) และวัสดุทดแทนกระดูกสำหรับปลูกถ่ายในร่างกายมนุษย์ (M-Bone) ตลอดจนองค์ความรู้และนวัตกรรมด้านอื่น เพื่อความสะดวกในการรักษาและผ่าตัด โดยได้มีความร่วมมือกันมาตั้งแต่ปี 2557 ในการวางแผนการผ่าตัดรักษาผู้ป่วยที่มีความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ ที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่เป็นจำนวนมากกว่า 60 ราย พบว่า สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาได้เป็นอย่างดียิ่ง มีประชาชนผู้ได้รับประโยชน์จำนวนมากและคาดว่าจะสามารถให้บริการเต็มรูปแบบภายใต้ “ศูนย์แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริ ฯ คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่”ภายในปี 2563