เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 14 มิถุนายน 2561 เวลา 16.00 น. ณ โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ที่ปรึกษาอาวุโสผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และ กรรมการและเลขาธิการ มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมด้วยนักวิจัยจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เฝ้าทูลละอองพระบาท สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และขอพระราชทานพระราชานุญาตกราบบังคมทูลทราบความเป็นมาเรื่องการถวายเครื่อง เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สามมิติทางทันตกรรม และศัลยกรรมใบหน้าและศีรษะ เดนตีสแกนรุ่น 2.0 เพื่อใช้ในกิจกรรมของโรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา
เครื่อง CT scanner หรือเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ นั้นผู้ค้นพบเรื่องนี้ได้รับรางวัลโนเบลเมื่อปี พ.ศ. 2522 ส่วนการพัฒนาเครื่อง CT scanner เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทยสมัยที่ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ยังเป็นนักวิจัยที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังและเป็นส่วนหนึ่งที่ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นปี พ.ศ.2534 สมัยนั้นสามารถพัฒนาอัลกอริทึมจนสามารถสร้างเครื่อง CT scanner ถ่ายภาพตัดขวางของหนูและกระต่ายสำเร็จ แต่ยังไม่สามารถหาชิ้นส่วนที่มีขนาดใหญ่พอสำหรับมนุษย์ได้ จนกระทั่งปีพ.ศ. 2550 จึงเริ่มมีชิ้นส่วนระดับศีรษะของมนุษย์ออกจำหน่าย จึงได้เริ่มการวิจัยและพัฒนาอีกครั้งหนึ่งที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ จนได้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สำหรับงานทันตกรรม หรือ เดนตีสแกน สำเร็จนำไปติดตั้งเป็นเครื่องแรกที่คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อปีพ.ศ. 2554 เพื่อใช้ทดสอบทางคลินิกในมนุษย์ ปัจจุบันเครื่องเดนตีสแกนมี 2 รุ่น คือรุ่น 1.1 ติดตั้งแล้วจำนวน 3 เครื่อง และรุ่น 2.0 ติดตั้งแล้วจำนวน 7 ครื่องรวมเป็น 10 เครื่อง ให้บริการผู้ป่วยมากกว่า 5,000 ครั้ง เครื่องเดนตีสแกนดังกล่าวได้ผ่านการตรวจสอบความปลอดภัยทางรังสีจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ผ่านการตรวจสอบความปลอดภัยทางระบบไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ จากศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) และได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 13485 (ระบบการบริหารจัดการคุณภาพเครื่องมือแพทย์) เรียบร้อยแล้ว
สำหรับเครื่องที่น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายเพื่อใช้ในกิจกรรมของโรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชานั้น เป็นเครื่องเดนตีสแกนรุ่น 2.0 ซึ่งสวทช. ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เครื่องเดนตีสแกนนี้ได้รับการติดตั้งเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.2560 และนำไปใช้ในการวินิจฉัยโรค และวางแผนการรักษาผู้ป่วยทางทันตกรรมรากฟันเทียม การผ่าฟันคุด และการผ่าตัดบริเวณช่องปาก ขากรรไกร และใบหน้า รวมทั้งการใช้งานในด้านหู คอ จมูก (ENT) เช่น การตรวจดูความผิดปกติของไซนัส เป็นต้น ปัจจุบันโรงพยาบาลได้เปิดให้บริการในผู้ป่วยแล้วจำนวนทั้งสิ้น 75 ราย
สำหรับการให้บริการผู้ด้อยโอกาสผู้สูงอายุและคนพิการนั้น คณะวิจัยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ร่วมกับ สวทช. และคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนบางส่วนจากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ทำการฝังรากฟันเทียมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลทางทันตกรรมที่พัฒนาโดยคนไทย ให้กับผู้ป่วยที่สูญเสียฟันทั้งปาก เป็นจำนวน 60 ราย ภายใต้ชื่อ “โครงการคืนความสุขในการบดเคี้ยวให้กับผู้ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุ และคนพิการด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลทางทันตกรรมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 (ระยะที่ 1)” โครงการดังกล่าวได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเสด็จเยี่ยมชมและให้ผู้ได้รับบริการได้เข้าเฝ้าทูลละอองพระบาทที่ศูนย์ความเป็นเลิศทางทันตกรรมรากเทียม คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2560 ปัจจุบันได้เริ่มโครงการระยะที่ 2 ซึ่งได้รับงบประมาณบูรณาการของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อดำเนินการฝังรากฟันเทียมจำนวน 400 ราก ร่วมกับโรงพยาบาล 7 แห่ง ที่ได้ติดตั้งเครื่องเดนตีสแกนแล้ว ซึ่งปัจจุบันดำเนินการแล้วทั้งสิ้น 143 รากโรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา ได้ร่วมให้บริการในระยะที่ 2 นี้ด้วยได้ให้บริการผู้ป่วยที่ด้อยโอกาสและผู้สูงอายุแล้ว จำนวน 11 ราย โดยทำการฝังรากฟันเทียมแล้วจำนวน 2 ราย และอยู่ระหว่างการวางแผนการรักษาอีก 9 ราย
ปัจจุบันเป็นที่น่ายินดีที่ขณะนี้รัฐบาลได้อนุมัติโครงการให้ผลิตเครื่องเดนตีสแกนจำนวน 50 เครื่องเพื่อมอบให้แก่โรงพยาบาลของรัฐ 50 แห่ง ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2562 วัตถุประสงค์ของการดำเนินการ เพื่อโรงพยาบาลจะได้มีอุปกรณ์ที่ทันสมัย สร้างเครือข่ายทันตแพทย์ และบุคลากรทางทันตกรรมให้สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีนวัตกรรมไทย ช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อีกทั้งช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ขั้นสูงขึ้นในประเทศเพื่อลดการสูญเสียเงินตราให้กับต่างประเทศ