มาทำความรู้จักกับเยาวชนไทยทั้ง 7 ทีมที่เป็นตัวแทนไปแข่งขันในงาน The Intel International Science and Engineering Fair 2018 (Intel ISEF 2018) เวทีประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์จากทั่วโลก จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 13 – 18 พฤษภาคม 2561 ณ เมืองพิตต์สเบริ์ก มลรัฐเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา มาร่วมลุ้น ร่วมเชียร์ และส่งแรงใจ ให้ตัวแทนเยาวชนไทยที่เวทีนี้กันด้วยนะคะ
- 1. นางสาวอภิญญา โชติสนธ์ นางสาวอินธิรา สมศรีโย นางสาวกัญธิชา พลเสนา จากโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย จังหวัดเลย
- ผลงาน : การเพิ่มประสิทธิภาพของอิฐบล็อกด้วยน้ำยางพาราและซิลิกาจากเถ้าแกลบ (The increase efficiency of Concrete Block by the Latex and Silica from the cinder of the chaff)
สามสาวจากเมืองทะเลสายหมอกได้เล่าถึงที่มาที่ไปของโครงการนี้ว่า “พวกเราเป็นคนจังหวัดเลยค่ะ ที่นั่นสภาพอากาศจะค่อนข้างชื้น อิฐตามบ้านเลยผุพังง่ายเพราะอากาศมีความชื้นสูง เราจึงไปหาข้อมูลว่าจะทำยังให้อิฐมีความแข็งแรง ป้องกันความชื้น ทนทานมากขึ้น โดยนำวัสดุที่มีในชุมชนมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เมื่อเริ่มทำการศึกษาพวกเราพบว่าที่ตัวอิฐมีช่องว่างอยู่เยอะเลยทำให้ความชื้นเข้าไปได้ง่ายมีผลให้อิฐเสื่อมเร็ว ได้ทดลองนำน้ำยางพารามาอุดช่องว่างของอิฐ แต่น้ำยางพาราเข้ากับอิฐได้ไม่ดีและติดไฟได้ง่าย สุดท้ายจึงเปลี่ยนมาใช้ซิลิกาเป็นตัวประสาน” ซึ่งก่อนไปแข่งขันที่งาน Intel ISEF น้อง ๆ ได้ทำการทดลองใหม่และสามารถพัฒนางานไปทำอิฐบล็อกทางเดินได้อีกด้วย ซึ่งจะช่วยละแรงกระแทกเวลาเดินหรือวิ่งบนทางเท้าได้
เมื่อถามถึงความพร้อมที่จะต้องนำเสนอเป็นภาษาอังกฤษ น้อง ๆ แอบกระซิบว่ามีความกังวลเล็กน้อย “คิดว่าตอนตอบคำถามเป็นภาษาอังกฤษน่าจะยากค่ะ (หัวเราะ) คงต้องท่องศัพท์อีกเยอะ” ส่วนเรื่องความคาดหวังน้อง ๆ กล่าวว่ามาไกลขนาดนี้ก็เกินความคาดหมายแล้ว การเดินทางไปแข่งครั้งนี้ต้องการไปหาประสบการณ์ใหม่ ๆ มากกว่า
- 2. นายกษิดิ์เดช สุขไกว นายพัทธดนย์ นามวงค์เนาว์ นางสาวชิดชนก อินทร์แก้ว จากโรงเรียนสุราษฎร์พิทยา
- ผลงาน : นวัตกรรมอนุรักษ์ป่าชุ่มน้ำจากเนอสเซอรีอนุบาลโกงกางใบใหญ่ (Nursery CAP For Rhizophora mucronata Poir)
“ทุกครั้งที่มาร่วมกิจกรรมปลูกป่าชายเลนที่ทางโรงเรียนจัดให้ สังเกตว่าทำไมต้องไปปลูกป่าในที่เดิม ๆ เสมอ แล้วมารู้ทีหลังว่าต้นที่ตัวเองปลูกนั้นตายไปแล้ว แต่เพราะอะไร ทำไม เป็นโจทย์ให้ไปหาข้อมูลเพิ่มเติมทำให้รู้ว่าต้นโกงกางโตช้าและปรับตัวยากต่อสภาพแวดล้อมทำให้มีโอกาสรอดได้ยาก จึงเกิดเนอสเซอรีโกงกางขึ้นในเวลาต่อมาค่ะ โดยตัวเนอสเซอรี่จะเป็นรูปทรงกรวยคว่ำใส่ไว้ที่ต้นโกงกางเมื่อต้นโกงกางโตขึ้นเนอสเซอรรีจะค่อย ๆ ย่อยสลายไปเองเพราะทำจากกระดาษ”
สำหรับด้านการเตรียมความพร้อมก่อนไปแข่งขันก็ได้มีการหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนโครงการบ้างแล้ว “มีการหาทฤษฎีเพิ่มเติมและตรวจวัดประสิทธิภาพของงานเพิ่มขึ้นค่ะ ซึ่งเวลาตรวจวัดจะไปทำการทดลองที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เพราะมีผู้เชี่ยวชาญอยู่ที่นั่น” และการเตรียมตัวนำเสนอเป็นภาษาอังกฤษนั้นน้อง ๆ กล่าวว่ามีความมั่นใจในระดับหนึ่ง เพราะได้อ่านเปเปอร์ภาษาอังกฤษเพิ่มเติม ทำให้รู้ศัพท์เฉพาะมากขึ้นและสามารถนำไปใช้ตอนตอบคำถามกรรมการได้ สบาย หายห่วง
- 3. นายวิรชัช ศรีปุริ นางสาวจิตรลดา ไชยชมภู และนายบุณยกร สอนขยันจากโรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์
- ผลงาน: การพัฒนาถ้วยน้ำผึ้งเทียมเพื่อการขยายรังของชันโรง (Developing the Pseudo Nectar Pot to Expand the Stingless Bee Hive)
“ที่บ้านของผมทำสวนอยู่แล้วครับ โดยปกติแล้วเกษตรกรเค้าจะเลี้ยงตัวชันโรงเพื่อให้ผสมเกสรให้ แต่ตัวชันโรงจะทำรังนาน เราจึงคิดหาวิธีทำถ้วยน้ำผึ้งเทียมมาไว้ในรังเพื่อช่วยลดภาระของตัวชันโรง เมื่อชันโรงว่างก็จะออกไปผสมเกสรมากขึ้นช่วยเพิ่มผลผลิตให้เกษตรกรครับ”
นอกจากนี้ ก่อนไปทำการแข่งขันต่อน้อง ๆ ได้ศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการเพื่อให้มีข้อมูลเชิงลึกมากขึ้น “มีการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมของชันโรงเพิ่มครับ มีการศึกษาดูคุณสมบัติของน้ำผึ้ง และเปลี่ยนหัวข้อโครงการจากการทำเรื่องขยายรังมาเป็นการดูคุณสมบัติของน้ำผึ้งและการวัดการบินเข้าออกในรังแทน (ยิ้ม) ” จากการสอบถามเกี่ยวกับการฝึกซ้อมการนำเสนอ แม้ว่าน้อง ๆ จะแอบกระซิบกับทีมงานว่ายังไม่ค่อยมั่นใจเพราะต้องมีการท่องจำบทซึ่งค่อนข้างยากอยู่พอสมควร แต่ก็ให้สัญญาว่า “จะทำให้ดีที่สุดครับ”
- 4. นายศุภวิชญ์ ผึ้งแดง จากโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์
- ผลงาน : การเปรียบเทียบอัลกอริทึมของการเรียนรู้เชิงลึกสำหรับใช้ในการวิเคราะห์ความเป็นเอกลักษณ์ของคลื่นสมองเพื่อหาวิธีการกระตุ้นคลื่นสมองด้วยการมองเห็นที่เหมาะสมของแต่ละบุคคล (The comparison of deep learning algorithms for selection of proper visual stimulation used in personal authentication)
น้องศุภวิชญ์ได้เล่าที่มาที่ไปของโครงการนี้ว่า “จุดเริ่มต้นของงานคือเมื่อ 2 ปีที่แล้วได้ไปดูงานที่คณะวิศวชีวการแพทย์ที่มหาวิทยาลัยมหิดลครับ และได้เห็นข้อมูลเรื่องคลื่นสมองจึงสนใจและคิดว่าอยากทำคลื่นสมองยืนยันตัวบุคคล” โดยก่อนไปแข่งน้องศุภวิชญ์ได้มีการปรับเปลี่ยนโค้ดให้ดีขึ้น มีผู้เชี่ยวชาญมาช่วยถามคำถามจึงได้คำถามแบบเจาะลึกขึ้น “มีการทดลองและเก็บข้อมูลใหม่ให้ละเอียดขึ้นครับ โดยเก็บข้อมูลคลื่นสมองจากคนรู้จัก โดยให้ใส่ตัวรับสัญญาณไฟฟ้าที่หัวและเอาคลื่นมาวิเคราะห์ว่าการกระตุ้นแต่ละอย่างแตกต่างกันอย่างไร ส่วนเรื่องการพรีเซนต์ปกติที่โรงเรียนให้พรีเซนต์เป็นภาษาอังกฤษอยู่แล้วก็เลยไม่ค่อยหนักใจเท่าไหร่ครับ”
- 5. นายวรเวธน์ อัศวลายทอง จากโรงเรียนกำเนิดวิทย์
- ผลงาน : การทำนายผลอัตโนมัติโรคมะเร็งปอดจากภาพถ่ายเอกซเรย์ (Automatic Lung Cancer Prediction from Chest X-Ray Image Using Machine Learning Techniques)
น้องวรเวธน์ได้เล่าที่มาที่ไปของโครงการนี้ว่า “ผมเห็นว่าโรคมะเร็งปอดทำให้คนตายเยอะในแต่ละปี เลยคิดที่จะทำโปรแกรมตรวจหาโรคมะเร็งปอดจากภาพเอกซเรย์เพื่อจะได้รักษาโรคได้ทันท่วงทีครับ” ซึ่งน้องวรเวธน์ได้ไปพบแพทย์เฉพาะทางด้านโรคมะเร็งที่โรงพยาบาลรามาธิบดี เพื่อสอบถามเกี่ยวกับการหาโรคมะเร็งปอดจากฟิล์มด้วยว่าต้องดูอย่างไรและโปรแกรมสามารถช่วยได้มากหรือไม่ “หมอบอกว่าโปรแกรมน่าจะเหมาะกับนักศึกษาแพทย์จบใหม่มากกว่าครับ เพราะส่วนมากจะมีการตรวจโดยละเอียดอยู่แล้วโดยการเข้าเครื่อง CT Scan หรือตรวจเลือดซึ่งจะได้ผลที่ละเอียดกว่า” โดยน้องวรเวธน์มีการเตรียมตัวก่อนไปแข่งด้วยการซ้อมการนำเสนออย่างเข้มข้นและทำโปสเตอร์เพื่ออธิบายข้อมูลให้เข้าใจง่ายขึ้น “มั่นใจเกิน 100 ครับ”
- 6. นางสาวธิดารัตน์ โยธาฤทธิ์ นายยุทธพงษ์ ศรีตระการ นางสาวปนัดดา ปรีพูล จากโรงเรียนอนุกูลนารี
- ผลงาน : ฟิล์ม CMC ลดภาวะโลกร้อนจากวัชพืช ( CMC Film Reduce Global Warming from Weed)
น้องยุทธพงษ์ได้เล่าที่มาที่ไปของโครงการนี้ว่า “ตอนเรียนนักศึกษาวิชาทหาร ได้ไปโครงการจิตอาสาโดยการไปขุดลอกคลองครับ แล้วที่นี้ต้องนำผักตบชวาไปทิ้งทุกวันเลยเห็นว่าการเอาไปทิ้งแบบนี้ทำให้เสียของเปล่า ๆ จึงคิดหาวิธีที่จะใช้ประโยชน์จากวัชพืชชนิดนี้ครับ” จากนั้นน้องธนศักดิ์จึงลองไปศึกษาผักตบชวาแล้วพบว่าผักตบชวามีส่วนประกอบของเซลลูโลสเยอะ จึงสนใจสกัดเซลลูโลสออกมาจากวัชพืชแล้วดัดแปลงเป็น คาร์บอกซีเมทิลเซลลูโลส (CMC) ก่อนนำไปผลิตเป็นแผ่นฟิล์ม “โดยตอนนี้ผมทำเพิ่มขึ้นมาอีกอย่างหนึ่งคือตัวห่อหุ้มวิตามินและพัฒนาแผ่นฟิล์มให้แข็งขึ้น ครับ” ซึ่งน้องธนศักดิ์มีการเตรียมตัวก่อนไปแข่งเริ่มจากจากแปลโครงการให้เป็นภาษาอังกฤษก่อนและจำคีย์เวิร์ดไว้เมื่อเวลานำเสนอจริง
- 7. นางสาวธัญพิชชา สิงห์โนนตาด และ นางสาวแพรวา มากมี จากโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย พิษณุโลก
- ผลงาน : การศึกษาภาวะที่เหมาะสมและสมบัติทางกายภาพและทางเคมีของเพคตินที่สกัดจากเปลือกเมล่อนเพื่อใช้ในการผลิตแคปซูล (Study of optimum conditions. And the physical and chemical properties of pectin extraction from the shell of melon to be used in the production of capsules)
สองสาวได้เล่าที่มาที่ไปของโครงการนี้ว่า “ปกติแล้วยาแคปซูลจะผลิตจากเจลาตินที่ได้จากโปรตีนของสัตว์ค่ะ ซึ่งจะมีคนหลาย ๆ กลุ่มที่ต้องหลีกเลี่ยงการทานโปรตีนจากเนื้อสัตว์ อย่างผู้ป่วยโรคมะเร็งและผู้นับถือบางศาสนา ปกติคนกลุ่มนี้จะทานแคปซูลที่ผลิตมาจาก HPMC ซึ่งได้มาจากการดัดแปลงเซลลูโลส มีราคาแพงและต้องนำเข้าจากต่างประเทศ พวกเราจึงคิดที่จะผลิตโพลีเมอร์จากธรรมชาติที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับเจลาตินและ HPMC นั่นก็คือเพคตินที่สกัดได้จากเปลือกเมล่อนค่ะ” โดยก่อนไปแข่งน้อง ๆ ได้มีการปรับปรุงตัวแคปซูลให้เป็นเพคติน 100% เพราะตอนแรกผสมแป้งเข้าไปด้วย โดยจะทำการทดลองที่เอ็มเทคและทำ 3D Printer ที่เนคเทค “มีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาช่วยดูเรื่องสคริปต์ด้วยค่ะและมีพี่นักวิจัยมาช่วยดูเรื่องคำศัพท์เพราะต้องพรีเซนต์เป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งจะมีการซ้อมทุกอาทิตย์และต้องท่องสคริปต์บ่อย ๆ ด้วยค่ะ”
ไม่ว่าผลการแข่งขันจะเป็นอย่างไร สิ่งสำคัญที่สุดคือประสบการณ์อันทรงคุณค่า ที่น้องๆ ได้สะสมมาตั้งแต่เริ่มคิดค้นทำโครงงาน มาจนถึงวันนี้…ที่ทุกคนได้ยืนอยู่บนเวทีการแข่งขันระดับโลก