7 ทีมเยาวชนไทยที่ได้ไป i-CREATe 2019

Facebook
Twitter
i-CREATe 2019

 

บทสัมภาษณ์ | กันยาเรศ นาคเรือง
ถ่ายภาพ | กรรวี แก้วมูล
เรียบเรียง | ศศิวิภา หาสุข

มาทำความรู้จักกับเยาวชนไทยทั้ง 7 ทีม ที่จะเป็นตัวแทนร่วมการประกวดสิ่งประดิษฐ์สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุของนักศึกษาระดับนานาชาติ Global Student Innovation Challenge for Assistive Technology (gSIC-AT) ในงานประชุมวิชาการนานาชาติฯ i-CREATe 2019 ที่ประเทศออสเตรเลีย ระหว่างวันที่ 26-29 สิงหาคม 2562 มาร่วมลุ้น ร่วมเชียร์ และส่งแรงใจ ให้ตัวแทนเยาวชนไทยที่เวทีนี้กันด้วยนะคะ

i-CREATe 2019

 

ผลงาน Active Balance & Mobility มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ทีมลูกแม่โดมได้คิดค้นและพัฒนาเครื่องช่วยพยุงผู้สูงอายุ พวกเขาได้เล่าถึงที่มาของผลงานว่า “เมื่อก่อนจะไม่มีชุดพยุงแล้วเวลาฝึกการทรงตัวหรือการฝึกกำลังของผู้สูงอายุ จะทำให้ผู้สูงอายุล้มง่ายแล้วก็เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ก็เลยคิดชุดพยุงขึ้นมา ยังมีการคิดค้นพัฒนาโปรแกรมเพื่อที่จะวิเคราะห์ข้อมูลให้ผู้สูงอายุ และมีการพัฒนาเกมมาให้ผู้สูงอายุเล่นเพื่อฝึกการทรงตัวและฝึกกำลังด้วย” โดยผลงานนี้มีองค์ประกอบ 3 ส่วนคือ อุปกรณ์ โปรแกรม และเกม โดยอุปกรณ์เป็นชุดพยุงเพื่อไม่ให้ผู้สูงอายุล้มจนเกิดอุบัติเหตุ โปรแกรมสามารถวิเคราะห์ข้อมูลการทรงตัวและกำลังของตัวผู้สูงอายุ สามารถแบ่งเป็นเปอร์เซ็นต์เพื่อวัดผล (>80% good balance, 50-79% poor balance, < 49% unbalance) และมีเกมให้ผู้สูงอายุฝึกในการทรงตัว เพื่อพัฒนากล้ามเนื้อ กระดูกอีกด้วย

ในการนำเสนอรอบสุดท้ายของการแข่งขันในประเทศ ด้วยความที่เตรียมตัวมาอย่างดี ทำให้ทีมไม่มีความกังวลและยังบอกอีกว่าถ้าได้ไปต่อจะปรับปรุงโปรแกรมให้มีภาพลักษณ์น่าสนใจ ดูดีมากยิ่งขึ้น อยากจะพัฒนาซอฟต์แวร์ให้สามารถขายออกสู่ตลาด และนำไปใช้ประโยชน์ได้เลย เนื่องจากผลงานนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้สูงอายุและพวกนักกายภาพตามโรงพยาบาล ศูนย์การฝึกต่างๆ อีกด้วย

i-CREATe 2019

 

ผลงาน Active Exo-Spine (AES) โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผลงานของน้องๆ จากสาธิตจุฬาฯ เป็นเครื่องที่ตรวจจับท่าทางการนั่งที่ผิดปกติ มีการแจ้งเตือนให้กลับมาทำท่าที่ถูกต้อง ช่วยลดอาการปวดหลัง น้องๆ ทั้งสอง เผยความรู้สึกกับเราว่า“ในตอนแรกคิดว่าหากไม่ได้ไปต่อก็ไม่เป็นไร เพราะจุดประสงค์ที่มาแข่งเวทีนี้เพื่อมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เทคนิคของทีมอื่นๆ แล้วจะได้รู้ว่างานของตัวเองนั้นบกพร่องตรงไหนบ้าง” นอกจากนี้น้องๆ ยังบอกอีกว่า “การได้รับคำแนะนำจากผู้ทรงคุณวุฒิคือประสบการณ์ที่มีค่ามากๆค่ะ แล้วการที่ได้ไปต่อถือว่าเป็นรางวัลที่ดีมากๆ หลังจากนี้ก็จะพัฒนางานต่อให้ใช้ได้จริง แล้วก็ปรับดีไซน์ให้เหมาะสมกับสรีระของเราค่ะ”

i-CREATe 2019

 

ผลงาน Autonomous Walker โรงเรียนนานาชาติร่วมฤดี

หนุ่มน้อยคนนี้เพิ่ง จบ ม.5 มาหมาดๆ ลุยเดี่ยวส่งผลงานเข้ามาประกวด เป็นเครื่องช่วยเดินที่ให้ผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุเดินได้สะดวกโดยไม่ต้องออกแรงยก สามารถพับเก็บและพกพาได้สะดวก โดยได้เผยความในใจกับทีมงานว่า “รอบก่อนหน้านี้กรรมการให้คอมเมนต์ว่าอุปกรณ์ยังเปราะบาง บางชิ้นแตกหัก ชำรุดง่ายถ้าหากมีการใช้งานไปบ่อยๆ แต่ผมก็พยายามปรับปรุงแก้ไขเกือบหมดแล้ว จนมาถึงตอนนำเสนอรอบสุดท้ายในประเทศก็มีแอบกังวลนิดหน่อยครับ คิดว่าถ้าได้ไปต่อถึงระดับนานาชาติก็ดี แต่ถ้าไม่ได้ก็ไม่เป็นไรครับเพราะเราทำดีที่สุดแล้ว ถือว่าได้มาเก็บประสบการณ์ มาถึงจุดนี้ก็ดีใจมากๆ หลังจากนี้จะปรับปรุงงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เอาใจช่วยด้วยนะครับ”

i-CREATe 2019

 

ผลงาน BotTherapist มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

ชาวบางมดทั้งสี่มาพร้อมกับหุ่นยนต์ที่ชื่อว่า “บลิส” มีไว้สำหรับบำบัดเด็กที่เป็นผู้ป่วยออทิสติก โดยพวกเขาอธิบายถึงผลงานชิ้นนี้ว่า พัฒนาและต่อยอดมาจากผลงานรุ่นก่อนซึ่งสามารถให้หุ่นยนต์มีปฏิสัมพันธ์กับเด็กได้ ผลงานเดิมเป็นการตอบโต้แบบสุ่ม ถ้าเด็กเจอการตอบโต้แบบซ้ำ ๆ เด็กจะเบื่อและให้ความสนใจลดลง รอบนี้เลยนำ Reinforcement Learning ซึ่งเป็น Machine Learning มาใช้ เพื่อให้สามารถระบุได้ว่า เด็กที่กำลังรับการบำบัดคนนี้ จะต้องกระตุ้นด้วยอะไรจึงจะได้ผลสูง ทำให้เด็กมีใจจดจ่อมากขึ้น

ซึ่งได้ทำการทดสอบแล้วพบว่าเด็กก็มีความสนใจกับตัวเกมได้นานขึ้น (จาก 20 นาที เป็น40นาที) ส่วนเรื่องการนำเสนอ พวกเขาบอกมาว่า “เพราะเตรียมตัวมาดีด้วยเลยทำให้มั่นใจ ต่อจากนี้ก็อยากจะพัฒนาตัวผลงาน เก็บข้อมูลเพิ่ม เพราะเราทำเกี่ยวกับ Machine Learning จำเป็นต้องใช้ข้อมูลที่มากกว่าขึ้น เพื่อที่จะผลที่แม่นยำมากยิ่งขึ้น”

i-CREATe 2019

 

ผลงาน Journey Electric Wheelchair วิทยาลัยสารพัดช่างสกลนคร

น้องๆ ตัวแทนแดนอีสานได้ประดิษฐ์รถสำหรับผู้พิการที่นั่งบนวีลแชร์ ให้สามารถขับเองได้ ซึ่งได้มีการทดสอบการใช้งานในวิทยาลัย ตอนนำเสนอรอบสุดท้ายระดับประเทศ น้องๆ กระซิบว่า “ด้วยมีความคาดหวังที่อยากไปต่อในเวทีนานาชาติ ก็ทำให้มีความกังวลอยู่บ้างเพราะรู้ว่าอุปสรรคของเราคือด้านภาษา” แล้วยังบอกอีกว่า ต่อจากนี้จะต้องพัฒนางานเพิ่มมากขึ้น เช่น เปลี่ยนโครงรถให้ดูดีน่าใช้งาน และจะตั้งใจฝึกฝนภาษาให้ดีกว่าเดิม จะพยายามทำให้ดีที่สุด

i-CREATe 2019

 

ผลงาน ReArm มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ลูกแม่โดมอีกทีมหนึ่ง มาพร้อมกับผลงานที่ชื่อว่า REARM เป็นอุปกรณ์ช่วยผู้ป่วยกล้ามเนื้ออ่อนแรง พวกเขาเล่าว่า มีแนวคิดที่จะทำให้ผู้ป่วยใช้งานแล้วยังสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างสะดวก “ในช่วงเวลา 3 เดือน ที่ให้เวลากับการพัฒนางานชิ้นนี้เป็นช่วงที่พวกเราต้องฝึกงานและสอบในเวลาเดียวกัน ทำให้เราต้องทุ่มเทกับมันมากก็เลยมีความคาดหวังมาก อยากจะไปให้ถึงเวทีระดับนานาชาติ ผ่านรอบไฟนอลที่ประเทศไทยได้ผมก็ภูมิใจแล้ว สำหรับเวลาที่เหลือก่อนไปต่ออีกเวทีหนึ่ง พวกผมจะพัฒนาผลงานให้ดีและสมบูรณ์ยิ่งขึ้นครับ” #ออสเตรเลียก็มาดิคร๊าบ

i-CREATe 2019

ผลงาน Wireless-Wearable EMG Measurement for Rehabilitation Monitoring มหาวิทยาลัยมหิดล

ผลงานจากทีมมหาวิทยาลัยมหิดลที่คิดอุปกรณ์ไว้สำหรับ ระบุว่ากล้ามเนื้อมัดไหนที่อ่อนแรง โดยใช้มาตรฐาน EMG ช่วงนำเสนอในการแข่งขันรอบสุดท้าย ในประเทศ พวกเขาได้บอกว่า “มีความกังวลครับ เนื่องจากเนื้อหาเยอะมากอยากจะนำเสนอให้ครบถ้วน กลัวจะไม่ทันเวลา สำหรับในเวทีระดับนานาชาติ พวกเราต้องการปรับปรุงผลงานอีก เพราะมีจุดที่สามารถปรับปรุงได้อีกเยอะ”

ที่ผ่านมาได้ทำการทดสอบกับผู้ใช้งานและมีผลตอบรับที่ดีมาก ต่อไปจะทำให้การเคลื่อนไหวของมันราบรื่น ทำให้อุปกรณ์สามารถใช้งานง่าย เป็นแบบไร้สาย และใช้ได้กับทุกช่วงอายุ