สุภาพบุรุษ “Gentleman” เมล็ดพันธุ์นักสื่อสารวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่

Facebook
Twitter
เนคเทค มจธ.

 

บทสัมภาษณ์ | เดือนพฤษภาคม 2562
เรื่อง | ศศิวิภา หาสุข
ภาพ | กรรวี แก้วมูล

“ความรับผิดชอบเป็นสิ่งสำคัญครับ เอาสิ่งที่ทีมถนัดที่สุดเป็นจุดขาย…”

“ใบลาน” ทศวรรษ ลักษโณสุรางค์ บอกกับเราผ่านบทสัมภาษณ์ หลังจากพาเพื่อนๆ ทีม Gentleman คว้ารางวัลชนะเลิศจากเวทีประชันไอเดีย โครงการผลิตสื่อประชาสัมพันธ์ผลงานวิจัย เพื่อสร้างนักสื่อสารวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ โดย เนคเทค จับมือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เปิดเวทีให้น้องๆ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ภาควิชาเทคโนโลยีและสื่อการศึกษา คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี หยิบผลงานวิจัย Traffy Series มาสื่อสารในรูปแบบใหม่ที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากยิ่งขึ้น ด้วยเวลาที่จำกัดเพียง 2 เดือนเศษ น้องๆ ทั้ง 6 ทีมก็ได้ปล่อยพลังความคิดสร้างสรรค์ออกมาเป็นสื่อประชาสัมพันธ์เจ๋งๆ อย่างเกินความคาดหมาย

มาทำความรู้จักและเรียนรู้เรื่องราวเบื้องหลังการทำงานของสุภาพบุรุษทั้งแปด แห่งรั้ว มจธ. ไปพร้อมกันๆ จากบทสัมภาษณ์ของ “ใบลาน” ทศวรรษ ลักษโณสุรางค์ หัวหน้าทีม Gentleman …

เนคเทค มจธ.

 

 

จุดเริ่มต้นทีมเวิร์กของกลุ่มชายล้วน

Q: Gentleman เป็นทีมชายล้วนและมีสมาชิกเยอะที่สุด ตอนที่อาจารย์ให้จับกลุ่มทำงานด้วยกัน มีลังเลไหมที่จะต้องทำงานกับใครบ้าง

ส่วนตัวผมไม่ได้ลังเลว่าตัวเองจะอยู่กับใครครับ เพราะก็นำทีมเพื่อนๆ มา เเต่มีคิดอยู่บ้างว่าเพื่อนจะทำงานด้วยกันโอเคมั้ยเพราะบางคนไม่ค่อยสนิทกันเท่าไหร่ แล้วจากนั้นอาจารย์ก็ให้เลือกหัวข้อด้วยวิธีจับฉลากครับ

Q: ตอนนั้นรู้สึกหนักใจไหมที่ได้หัวข้อ Traffy Waste

ไม่หนักใจเลยครับ ทุกคนในกลุ่มอยากได้หัวข้อนี้ เราคิดกันว่า Product นี้เข้าใจง่ายกว่าหัวข้ออื่นๆ ตอนเเรกที่ได้หัวข้อนี้ก็ดีใจกันครับเพราะคิดว่ามันไม่น่ายาก

ทิ้งความคิดเดิมๆ เริ่มนับหนึ่งใหม่
 
Q: ใช้เวลานานไหมกว่าจะได้ไอเดียและคอนเซ็ปท์ของงาน

กว่าจะได้ไอเดียและคอนเซ็ปท์ที่จะนำเสนอ เราคุยกันนานมากครับ ใช้เวลาเป็นวันๆ เลย ในตอนเเรกเราโฟกัสไปที่การขายของที่มีในรูปเเบบธรรมดาๆ ครับ เเต่เราคิดว่ามันไม่ตอบโจทย์คนสมัยใหม่ ก็ตันอยู่หลายวันครับ จนเริ่มจับจุดว่าเราจะทำเพื่อใคร รูปเเบบไหน โละ Mindset เดิมทิ้ง เริ่มนับหนึ่งใหม่เลยครับ

Q: ผลงานชิ้นนี้… เราตั้งใจจะสื่อสารอะไรกับคนดูคะ

สำหรับไอเดียนี้โดยส่วนตัวของกลุ่มผมอยากเข้าถึงคนรุ่นใหม่ครับ เเอปพลิเคชันพวกนี้เป็นเเอปพลิเคชันที่ดีมากถ้าเราทำได้จริง เราอยากให้คนยุคใหม่ที่เป็นยุคเทคโนโลยีอยู่เเล้วได้นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์จริงๆ (อันนี้รวมถึงหัวหน้าหรือผู้ประกอบการ) จะเห็นได้จากที่หัวหน้าใช้โทรศัพท์บ้านหลายๆ เครื่องในการโทรหาลูกน้องครับ จะเห็นได้เลยว่าวุ่นวายมาก เเต่ถ้าคุณมีเเอปพลิเคชันมาช่วย คุณจะสามารถสั่งการเเละจัดการได้ง่าย

ส่วนคลิปต๋อง Trash Hunter อันนี้ตรงตัวครับ เราอยากปลูกฝังคนรุ่นใหม่ให้ช่วยกันเเก้ไขปัญหาขยะล้นเมืองเเละการทิ้งขยะไม่เป็นที่เป็นทาง เเละถ้าทุกคนทำได้บ้านเมืองก็สะอาด การใช้เทคโนโลยีให้ถูกทางก็ช่วยสังคมได้อีกเยอะครับ

วันเเรกที่เราเสนอความคิดกับพี่ๆ เราไม่ได้คิดอะไรมากมายเลยครับ เเค่อยากช่วยโปรโมทหน้าที่ของเเอปฯ เเต่พอเราเริ่มคิดมากๆ ขึ้น เราก็เริ่มอยากใส่อะไรที่มันเป็นประโยชน์ต่อสังคมลงไปด้วย

เนคเทค มจธ.

 

ความสมจริงที่เกิดจาก “ความสนุกตอนทำงาน”

Q: ทีมเราใช้นักแสดงหลากหลาย ทั้งของประกอบฉากและสถานที่ก็ดูสมจริง มีการเตรียมงานยังไงบ้าง

เราช่วยกันไปดูโลเคชั่นด้วยกันก่อนครับ เดินดูเเทบจะทุกจุดที่เราจะถ่าย ใช้เวลาไปเลยวันหนึ่งครับ เพราะไม่รู้ว่าจะถ่ายได้ไหม ต้องขอใครไหม วันต่อไปก็ไปขอสถานที่ครับ ด้วยความที่เราเป็นเพื่อนๆ กัน ไปไหนก็ไปกันเกือบหมดครับ รวมหัวกันคิด…ใครไม่ว่างก็กลับก่อน ส่วนใครที่สามารถอยู่ได้ก็ช่วยกันต่อครับ

พอจบเรื่องสถานที่เราก็คุยกันเรื่องของประกอบฉากครับ คุยกันค่อนข้างละเอียดอยู่เหมือนกัน เเล้วก็ลิสต์เอาไว้ให้เพื่อนที่มีรถมอเตอร์ไซต์ไปซื้อของ ส่วนคนที่เหลือก็คิดงานต่อ

เนคเทค มจธ.

 

ใช้จุดคัดแยกขยะของมหาวิทยาลัยเป็นหนึ่งในสถานที่ถ่ายทำ
Q: แล้วการคัดเลือกนักแสดงล่ะ…

จริงๆ ในตอนเเรกเราไม่ได้จะให้เพื่อนในกลุ่มเล่นนะครับ เราคิดกันเยอะมากเหมือนกันเรื่องนักเเสดง ซึ่งสุดท้ายแล้วก็ดูที่ความสมจริงกับเวลาล้วนๆ เลยครับ เวลาของเราเหลือน้อยเเล้วเมื่อเทียบกับที่ขอวันถ่ายไว้ คนที่เล่นเป็นต๋องคือ Creative ในกลุ่ม จริงๆ เค้าสามารถบรีฟนักเเสดงได้ แต่ด้วยข้อจำกัดก็เลยมาเล่นเองครับ

Q: ต๋องมีแฟนคลับด้วยนะ รู้หรือเปล่า (ฮา)

ขอบคุณครับ (หัวเราะ) ตอนส่ง Story รอบแรก พี่บอกว่าบทดูเป็นเด็กเเว้นเกินไป ผมนี่มองหน้าเพื่อนเลย คือ ทรงมันต้องเป็นเเว้นที่นิสัยดี เเว้นเพื่อสังคม แต่ก็ดีครับ…ถ้าพี่ไม่ท้วงให้พวกผมคำนึงถึงเรื่องนี้แล้วมาปรับบทของต๋อง ก็จะเป็นหนังคนละม้วนเเน่ๆ ครับ

Q: ระหว่างที่ทำงานนี้มีอะไรสนุกๆ เกิดขึ้นอีกบ้าง

ก็หลายอย่างนะครับ ในเรื่องของความสนุกตอนทำงาน…คือเราก็คิดกันว่าในฉากควรมีอะไร เสนอความเห็นกันแล้วก็ลงมือทำเลย อย่างรูปผู้จัดการนี้ก็เกิดจากความที่เพื่อนอยากเเกล้งเพื่อนอีกคน เลยทำให้ดูสมจริงเเบบตลกๆ ครับ

ฉากห้องผู้จัดการนี้เราจัดใหม่หมดทุกอย่าง เราใช้ของที่มีบางส่วน เเต่ก็มีหลายส่วนที่เราเตรียมมาเอง ทำเอาห้องพักอาจารย์ไม่เหลือเค้าเดิมเลย (ฮา) เเล้วก็ตอนถ่ายกับรถขยะครับ พวกอุปกรณ์ประกอบฉากมันทำให้ดูเหมือนจริงมากขึ้น ทำให้เราตลกกันในกองว่า นี้เเหละอาชีพในฝันของเพื่อน

สนามฝึกซ้อมก่อนก้าวไปสู่โลกของการทำงาน

Q: กับเวลา 2 เดือนกว่าของโครงการผลิตสื่อฯ คิดว่ากระชั้นเกินไปไหมคะ

ถ้าสเกลงานประมาณนี้พอได้อยู่ครับ จริงๆ ก็ขึ้นอยู่กับว่าในขณะนั้นเราเรียนคู่ไปกับวิชาอะไร งานเยอะไหม เเต่ถ้าไม่มีงานอื่นๆ และทำงานนี้งานเดียว ก็ถือว่าให้เวลาเยอะนะครับ เเต่ถ้าทำคู่กับเรียนวิชาอื่นๆ ด้วยก็กำลังดีครับ

เนคเทค มจธ.

 

Q: ได้เรียนรู้อะไรจากโครงการนี้บ้าง

ผมได้เรียนรู้เรื่องของการทำงานเป็นทีม เเน่นอนครับว่าเราทำคนเดียวไม่ได้เเน่ๆ ในเรื่องของการได้ฝึกทำงานจริง…อันนี้จริงอย่างที่อาจารย์ท่านว่าเลยครับ ถัดมาเป็นเรื่องของความตรงต่อเวลา และอีกอย่างก็คือการใช้ภาษากับผู้ใหญ่ ผมคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญมากๆ

การทำงานจริงมีความคาดหวังเกิดขึ้น ทั้งความคาดหวังภายในทีมเเละจากภายนอก ความกดดันที่มากกว่ามากๆ ผมไม่รู้ว่าคนอื่นคิดเหมือนผมไหม เเต่ผมรู้สึกได้ว่าทุกคนค่อนข้างจริงจังมากขึ้น ซึ่งผมก็รู้สึกดีมากๆ ที่เพื่อนช่วยกัน ไม่เห็นเเก่ตัว รู้จักรับผิดชอบงานในสิ่งที่ได้รับไป

จริงๆ แล้ว การทำงานกับกลุ่มชายล้วนนี้ไม่ง่ายเลยครับ เพราะเราไม่มีผู้หญิงที่ละเอียดอ่อนที่คอยประสานงานหรือติดต่อกับเจ้าหน้าที่ หรือดูพวกจุดอ่อนที่พวกผู้ชายไม่ใส่ใจกัน ผมก็พยายามให้ทุกคนช่วยกัน ซึ่งทุกคนก็เหนื่อยกันมากพอสมควรครับ ด้วยความที่อยากให้งานออกมาดี แถมสมาชิกกลุ่มก็เยอะกว่ากลุ่มอื่นๆ ด้วย เลยค่อนข้างกดดันครับ

Q: อีกไม่กี่เดือนก็จะเรียนจบแล้ว อยากทำงานด้านไหน

ส่วนตัวผมอยากทำด้านโปรดักชั่นครับ น่าจะเป็นเพราะว่าชอบดูหนังชอบดูโฆษณา ชอบพวกเทคโนโลยีเกี่ยวกับโปรดักชั่นแล้วก็ชอบบรรยากาศเเบบกองถ่าย และการทำงานเป็นทีมครับ

Q: ฝากถึงรุ่นน้องที่จะต้องเข้าโครงการฯ ในปีหน้า…

ความรับผิดชอบเป็นสิ่งสำคัญครับ เอาสิ่งที่ทีมถนัดที่สุดเป็นจุดขาย พยายามรับฟังความคิดเห็นของทุกคนในทีม การเข้าใจปัญหาที่กำลังจะต้องเเก้สำคัญกว่าการเเก้ปัญหาตามรูปเเบบที่ถูกวางไว้ครับ

เนคเทค มจธ.

 

ผลงาน Traffy Waste ของทีม Gentleman เป็นผลผลิตหนึ่งของโครงการผลิตสื่อประชาสัมพันธ์ผลงานวิจัย เพื่อสร้างนักสื่อสารวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ รุ่นที่ 2 พี่เลี้ยงและผู้มีส่วนเกี่ยวของในโครงการหลายท่าน ได้เห็นฝีมือและพัฒนาการของน้องๆ ทุกคน ทุกทีม ตั้งแต่วันแรกพบ…จนถึงวันที่ได้เห็นผลงานชิ้นสมบูรณ์ในวันประกาศผล รู้สึกภาคภูมิใจและชื่นชมในความคิดสร้างสรรค์ ความกล้าคิดกล้าทำ และความตั้งใจ ในการสื่อสารเนื้อหาทางด้านวิทยาศาสตร์ที่หลายคนบอกว่าเป็นเรื่องยาก ให้กลายเป็นเรื่องที่เข้าใจง่าย

หวังอย่างยิ่งว่า น้องๆ จะสามารถนำประสบการณ์จากโครงการนี้ไปใช้ในเส้นทางการทำงานของตนเองในอนาคต และเป็นแรงบันดาลใจที่ดีให้กับเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับด้านสื่อสารวิทยศาสตร์ต่อไป